สุโขทัย : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จ.พิษณุโลก นำโดย นายนิพนธ์ แรมวิโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบุคลากรสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จ.พิษณุโลก พร้อมด้วย นายยศพล ทัพพระจันทร์ เกษตร จ.สุโขทัย นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ บ้านเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสมระดับประเทศประจำปี 2560 ของจ่าสิบโทสุทิน ทองเอ็ม บ้านเลขที่ 65 หมู่ 3 ต.ป่าแฝก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย โดยมี นายโอวาท พัฒนชัยวงศ์ หัวหน้ายุทธศาสตร์และสารสนเทศสำนักงานเกษตร จ.สุโขทัย และ นายมานพ คำจันป้อ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าแฝก ให้การต้อนรับ นายยศพนธ์ กล่าวว่า จ.สุโขทัย ได้น้อมนำหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวทางทฤษฎีใหม่ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาปรับใช้กับพี่น้องเกษตรกร เช่น ลดวิธีทำนา และปลูกพืชหลากหลาย นอกจากนี้ได้รับสมัครเกษตรเข้าโครงการ “5 ประสาน สืบสารทฤษฎีใหม่ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9” มีจำนวน 1,090 แปลง ที่สมัครเข้ามาเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นมาปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอ ส่วน จ.สุโขทัย มีการคัดแปลงต้นแบบหรือ Smart Farmer เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรทั่วไปที่ยังปลูกพืชเชิงเดียวให้กลับมาปลูกพืชหลากหลาย โดยเฉพาะที่ดินแปลงของ จ่าสิบโทสุทิน ทองเอ็ม เกษตรกรต้นแบบได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และให้หลักทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในเรื่องการปลูกพืชข้าว 30% ทำสระน้ำ 30% มีน้ำใช้ตลอดปี อีก 30%ปลูกพืชผักสวนครัว พืชไร่ พืชสวน และเลี้ยงสัตว์ประมง และลดการใช้สารเคมีโดยการปลูกพืชบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพต่างๆ ด้านจ่าสิบโทสุทิน กล่าวว่า ได้ปรับพื้นที่ที่มีอยู่ประมาณกว่า 30 ไร่ เป็นไร่นาสวนผสม ทั้งข้าว พืช สัตว์ ประมง แบ่งเป็นพื้นที่ อยู่อาศัย 2 ไร่ ทำนา 20 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว 2 งาน ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 3 ไร่ 3 งาน ทำประมง 4 ไร่ และอื่นๆ อีก 3 ไร่ เช่น สระบัว ผักบุ่ง สระกักเก็บน้ำ ไผ่ โดยเฉพาะแปลงผักล้มลุก เช่น บวบ ถั่ว มะละกอ กระเพรา โหระพา หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบ และขจร สามารถเก็บผลผลิตป้อนสู่ตลาดได้ทุกเดือนหมุนเวียนตามฤดูกาล “ปลูกไผ่กิมซุงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งลำ ได้แก่ กิ่ง แขนง ยอด ลำไผ่ จำหน่ายกิ่งพันธุ์ โดยใช้วิธีตัดกิ่งแขนงมาเพาะชำ โดยใน 1 หน่อ สามารถตัดกิ่งแขนงมาชำได้ประมาณ 5-6กิ่ง จำหน่ายราคากิ่งละ 50 บาท ส่วนหน่อไผ่นำมาแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง ขายกิโลกรัมละ 40 บาท ลำที่ไม่ใช้นำไปเผาแบบภูมิปัญญาชาวบ้านโดยการใช้ดินแกลบ ได้เป็นถ่าน นอกจากนี้ได้เจาะรูไผ่เพื่อนำน้ำไผ่มาจำหน่ายขวดละ 10 บาท ซึ่งจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร เบื้องต้นพบว่า น้ำไผ่เป็นน้ำสะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่มีผลกระทบต่อร่างกายสามารถดื่มได้ นอกจากนี้กำลังปรึกษากับพลังงานจังหวัด เพื่อแปรรูปไผ่เป็นถ่านชาโคลเพื่อทำเครื่องสำอางอย่างไรก็ตามรายได้จากการขายกิ่งไผ่ หน่อไผ่ 60,000-70,000 บาทต่อปี” เกษตรกรดีเด่นฯ กล่าว