สศร.-อพท.จับมือหนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวชุมชน เพิ่มขีดความสามารถ นำร่อง 6 พื้นที่พิเศษ
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม ระหว่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยมี ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสศร. นายชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการ อพท. ร่วมลงนาม MOU
นายอิทธิพล กล่าวว่า สศร.ได้ดำเนินโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยทุกแขนง มาออกแบบและสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมร่วมกับนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และ แนวคิดใหม่ๆ จากศิลปินร่วมสมัย ศิลปินศิลปาธร และศิลปินรุ่นใหม่ มาช่วยพัฒนาต่อ ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวม 38 จังหวัด โดยจะส่งเสริมการพัฒนาตราสินค้าบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ของที่ระลึก พัฒนาชุมชนสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ พร้อมสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยการมีส่วนร่วมในชุมชน ตลอดจนพัฒนาวิถีชีวิต สืบสานและเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“วธ. มีนโยบายเร่งผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ต้นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสินค้าและบริการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทยให้เป็นสากล และเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นต่างประเทศทั่วโลก โดยจากนี้จะขับเคลื่อนการดำเนินงานไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ” นายอิทธิพล รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ด้าน ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสศร. กล่าวว่า สศร.เล็งเห็นถึงความสำคัญของทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นต้นน้ำ สามารถนำมาพัฒนา ต่อยอด เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยมาออกแบบและสร้างสรรค์ให้สินค้า บริการทางวัฒนธรรม และนำไปขยายผลให้แก่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน เอ็มโอยูครั้งนี้มีเป้าหมาย 6 พื้นที่พิเศษ อาทิ จังหวัดระยอง ผู้ประกอบการนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดและอำเภอไปประยุกต์ใช้ เป็นแรงบันดาลใจต่อยอด เช่น ในธุรกิจโรงแรม จังหวัดสุโขทัย ผู้ประกอบการมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานกับอัตลักษณ์ของชุมชนและศิลปะร่วมสมัย นำไปต่อยอดงานหัตถกรรมโดยเฉพาะเครื่องเงิน เครื่องทองสุโขทัย และผ้าทอศรีสัชนาลัย ออกแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น จังหวัดเชียงราย ผู้ประกอบการมีการใช้อัตลักษณ์นำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น ออกแบบลายผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์ เพิ่มสีสันให้มีความทันสมัย
“จังหวัดชลบุรี มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่อนุรักษ์แหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีมะพร้าวเป็นอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับมะพร้าว อาหารการกิน ไปจนถึงการดำเนินชีวิตของชุมชน โดยมีการออกแบบผลิตภัณฑ์กาแฟมะพร้าว ชุมชนคนรักษ์มะพร้าวตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง พื้นที่นี้มีการท่องเที่ยงวิถีไทยด้วย เป็นต้น” ดร.วิมลลักษณ์ ผอ.สศร. กล่าว