ชี้แม้ผลตรวจวิเคราะห์ทุกตัวอย่างจะพบมีปรอท-ตะกั่ว-แคดเมียมไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของสธ.ก็ตาม แต่หากกินเป็นประจำ อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ แนะกินแต่พอเหมาะ-หลากหลาย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มตรวจ 'ปลาทูน่ากระป๋อง' จากกรณีที่มีข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ย.นี้นั้น จากผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง ทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภาพ:ฉลาดซื้อ ทั้งนี้ การปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่วในประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ทั้งนี้ ผู้ที่ชอบรับประทานปลาทูน่ากระป๋อง เพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ อ่านผลทดสอบฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448