กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เกิดจากกลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยยาเสพติดในตำบล จากเริ่มต้นที่มีสมาชิกเพียง 107 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฯ กว่า 4,000 คน โดยนำแนวคิด ‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ มาใช้ในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้เติบโต สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้มาสนับสนุนกองทุนฯ เปรียบเสมือนกิ้งกือที่มีขามากมายนับร้อยคู่ช่วยกันเดินไปสู่จุดหมายได้อย่างมั่นคง !! สวัสดิการชุมชนสมทบวันละ 1 บาท ช่วยสมาชิกตั้งแต่เกิด-ตาย ในปี 2553 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ขยายการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ (เริ่มสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน 99 พื้นที่นำร่องในปี 2548) โดยมีหลักการ คือ ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท (เดือนละ 30 บาท หรือจัดเก็บเป็นปีๆ ละ 365 บาทตามความสะดวก) เพื่อนำเงินสมทบมาช่วยสวัสดิการสมาชิก เช่น ช่วยเหลือยามเจ็บป่วย คลอดบุตร เสียชีวิต ทุนการศึกษา ฯลฯ สุวัฒน์ ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อดีตผู้ใหญ่บ้านที่เคยเป็นแกนนำกลุ่มอาสาสมัครป้องกันยาเสพติด เล่าว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง จัดตั้งขึ้นมาในเดือนพฤษภาคม 2553 ในช่วงแรกมีสมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ ที่มาจากอาสาสมัครป้องกันยาเสพติดจำนวน 107 คน เพื่อจัดสวัสดิการให้แก่อาสาสมัครฯ เนื่องจากอาสาสมัครฯ ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใดๆ แต่ต้องทำงานเสี่ยงภัย หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่มีหน่วยงานใดมาดูแล โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเป็นรายปี คนละ 365 บาท มีเงินกองทุนเริ่มแรก 39,055 บาท มีคณะกรรมการกองทุนฯ มาจากตัวแทนของแต่ละหมู่บ้าน 18 หมู่บ้าน (ไม่เกิน 19 คน) ต่อมาจึงได้ขยายฐานสมาชิกออกไป ไม่เลือก เพศ วัย แต่มีเงื่อนไขต้องอยู่อาศัยในเขตเทศบาลตำบลบ้านส้องอย่างน้อย 6 เดือน ขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลบ้านส้อง ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการฯ เช่น ให้ใช้สำนักงานเทศบาลฯ เป็นสถานที่ทำการกองทุนฯ มีคณะผู้บริหารเทศบาลเป็นที่ปรึกษากองทุนฯ มีเจ้าหน้าที่เทศบาลช่วยงานด้านเอกสาร บัญชี ฯลฯ ช่วยเรื่องการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ทำให้ประชาชนเชื่อถือ สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี “นอกจากนี้เทศบาลตำบลบ้านส้องยังสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนเกือบทุกปี เช่น ปี 2559 จำนวน 4 แสนบาท ปี 2562 จำนวน 5 แสนบาท ปี 2563 จำนวน 9 แสนบาท และในปี 2564 ตั้งงบประมาณเอาไว้ 1 ล้านบาท ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนมีความมั่นคงยิ่งขึ้น” ประธานกองทุนฯ บอกรายละเอียด สุวัฒน์  ดาวเรือง นำสมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ เย็บหน้ากากผ้าแจกประชาชนป้องกันโควิด ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 4,400 คน มีเงินกองทุนฯ ประมาณ 3.5 ล้านบาท ในแต่ละปีจะเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี ผู้ที่สมัครจะต้องอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลไม่น้อยกว่า 6 เดือน และเสียเงินค่าสมัครคนละ 20 บาท สมาชิกจะต้องสมทบเงินเป็นรายปี คนละ 365 บาท (สมทบภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนของทุกปี) เมื่อสมัครเป็นสมาชิกแล้วอย่างน้อย 3 เดือน กองทุนฯ จะให้ความช่วยเหลือตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ ยกเว้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกองทุนฯ จะให้การช่วยเหลือทันที มีสวัสดิการที่สำคัญ เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล 1-2 คืน เบิกได้ 1,000 บาท สูงสุด 6 คืน เบิกได้ 3,000 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 2 ครั้ง หมา แมว งู ตะขาบกัด กองทุนฯ ช่วยเหลือ 500-1,000 บาท คลอดบุตร ครั้งละ 2,000 บาท กรณีแท้งลูก กองทุนฯ จะช่วยเหลือ 3,000 บาท บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย เบิกจ่ายได้ทันที (ไม่ต้องเป็นสมาชิกครบ 3 เดือน) กองทุนจะช่วยเหลือตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป กรณีแขน-ขาขาด กองทุนฯ ช่วยเหลือข้างละ 10,000 บาท ตาบอด ข้างละ 10,000 บาท ทุพพลภาพถาวร ช่วยเบื้องต้น 10,000 บาท และไม่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนตลอดชีพ และหากเสียชีวิตในเวลาต่อมา กองทุนฯ ช่วยเหลือ 20,000 บาท กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ (ไม่ต้องเป็นสมาชิกครบ 3 เดือน) หากเสียชีวิตจะช่วยเหลือทันที 30,000 บาท กรณีเป็นโรคเรื้อรังเสียชีวิต จะต้องเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 6 เดือน กองทุนฯ ช่วยเหลือ 30,000 บาท ฯลฯ ใช้ “ทฤษฎีขากิ้งกือ” สร้างกองทุนมั่นคง-พัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิก นอกจากการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ของเทศบาลตำบลบ้านส้องแล้ว คณะกรรมการกองทุนฯ ยังพยายามหารายได้เข้ากองทุนฯ เพื่อให้กองทุนเติบโต มีความยั่งยืน สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้รอบด้าน เพราะหากรองบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานภายนอกเพียงอย่างเดียว สถานะของกองทุนฯ อาจจะไม่มั่นคง สุวัฒน์ ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอกถึงวิสัยทัศน์ของกองทุนฯ ว่า “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องเป็นองค์กรกลางในการเชื่อมโยงประสานสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน” ดังนั้นการบริหารงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จึงเดินตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น เทศบาล ภาคเอกชน และประชาชนให้มาสนับสนุนกองทุนฯ “เราใช้ ‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ เป็นแนวทาง เพราะกิ้งกือมีหลายขา เดินไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดพลังและถึงจุดหมายได้อย่างมั่นคง อันนี้เป็นทฤษฎีที่ผมคิดว่า ในชุมชนหรือตำบลของเรามีประชาชน มีพ่อค้า มีหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยากจะให้การสนับสนุนกองทุนฯ ของเรา แต่เขาไม่มีเวลาจะเข้ามาร่วม เราจึงใช้วิธีการประกาศ เชิญชวนให้ประชาชน ห้างร้านต่างๆ ร่วมให้การสนับสนุน และจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อนำเงินรายได้มาสนับสนุนกองทุนฯ” ประธานกองทุนฯ ยกตัวอย่าง เช่น ในปี 2561 กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องได้ประกาศเชิญชวนเพื่อขอรับการสนับสนุนกองทุนฯ จากบริษัท ห้างร้าน พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ ในอำเภอเวียงสระ มีผู้ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนทั้งหมด จำนวน 219 ราย เงินสมทบ รวม 783,910 บาท วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 กองทุนสวัสดิการฯ ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านส้อง จัดงาน ‘เดิน - วิ่ง เพื่อสุขภาพ รวมพลังชาวตำบลบ้านส้อง’ เป้าหมายของการจัดงานดังกล่าว นอกจากณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกายแล้ว รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายจะสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง เพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการ การเจ็บป่วย เสียชีวิต ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ และทุนการศึกษา โดยคิดค่าสมัครคนละ 300 บาท การจัดงานเดิน-วิ่งเพื่อระดมทุนเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน การจัดงานดังกล่าว มีประชาชน ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน ฯลฯ ทั้งในเทศบาลตำบลบ้านส้อง และอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้าร่วมงานเดิน-วิ่งกว่า 2,000 คน และในตอนเย็นมีการจัดงานระดมทุนสมทบจากภาคเอกชนและประชาชน ทำให้มีเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จากการจัดงานเดิน-วิ่ง และระดมทุน ประมาณ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อำเภอเวียงสระ เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ จัดงาน ‘หอบรักมาห่มป่า’ ขึ้นที่บริเวณท่าน้ำวังหิน บ้านสวนกล้วย ตำบลบ้านส้อง โดยในงานมีการจัดพิธีแต่งงานเนื่องในวันแห่งความรัก มีบ่าวสาวเข้าร่วม 16 คู่ และให้บ่าวสาวร่วมปลูกต้นไม้ในเขตอุทยานใต้ร่มเย็นด้วย “กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ร่วมจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา เราไม่ได้คิดเรื่องรายได้ที่จะเข้ากองทุนฯ แต่คิดเรื่องการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ และภาคประชาชนให้มาทำงานร่วมกัน มาช่วยกันอนุรักษ์ ร่วมกันดูแลป่าไม้ เพราะเดิมพื้นที่แถบนี้มีการทำลายป่าไม้กันมาก นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วย เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ชาวบ้านก็จะขายสินค้าต่างๆ ของชุมชนได้ด้วย” ประธานกองทุนฯ กล่าว ‘กิ้งกือ 6 ขา’ พัฒนากองทุนสวัสดิการฯ และชุมชน สุวัฒน์ ดาวเรือง อธิบายการทำงานของ ‘กิ้งกือ 6 ขา’ ว่า ‘ขาที่ 1’ คือ สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความหลากหลาย เริ่มจากกลุ่มอาสาสมัครป้องกันยาเสพติด กลุ่มแกนนำ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มเยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยสมาชิกสมทบเงินคนละ 365 บาทต่อปี เพื่อนำเงินกองทุนฯ มาช่วยเหลือสมาชิก เมื่อการจัดสวัสดิการเกิดประโยชน์แก่สมาชิกจริง จึงทำให้เกิด ‘ขาที่ 2’ คือ ท้องถิ่น เข้าร่วมส่งเสริมกองทุนฯ โดยเทศบาลตำบลบ้านส้องสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ เช่น ปี 2559 จำนวน 4 แสนบาท ปี 2562 จำนวน 5 แสนบาท ปี 2563 จำนวน 9 แสนบาท และในปี 2564 ตั้งงบประมาณเอาไว้ 1 ล้านบาท ‘ขาที่ 3’ คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กองทุนฯ ‘ขาที่ 4’ คือ ห้างร้าน บริษัท และประชาชนในท้องถิ่น ร่วมบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุน เริ่มตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยจะมีการจัดงานทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มียอดเงินสมทบประมาณปีละ 1 ล้านบาท ‘ขาที่ 5’ การจัดกิจกรรมระดมทุน โดยในปีนี้กองทุนฯ ได้เริ่มจัดงานเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อระดมเงินเข้ากองทุน และมีการบริจาคเงินสมทบทำให้มีเงินเข้ากองทุนกว่า 1 ล้านบาท ประธานกองทุนฯ กล่าวด้วยว่า การใช้ ‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ ยังหมายถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมาหนุนเสริมการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน เช่น กองทุนฯ เป็นแกนหลักในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในตำบล ชมธรรมชาติ ‘น้ำตก 357’ (อดีตฐานที่มั่นแห่งหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ภายในอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น และการจัดงาน ‘หอบรักมาห่มป่า’ (14 กุมภาพันธ์ 2563) การจัดงานหอบรักมาห่มป่า “ปีนี้เรากำลังขยายเป็น ‘ขาที่ 6’ คือจะเชื่อมโยงเอากลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในตำบลมาขายสินค้าออนไลน์ร่วมกัน เช่น ทุเรียนกวน ทุเรียนทอดกรอบ มังคุดผลสด น้ำมังคุด กลุ่มผลิตเครื่องแกง ฯลฯ โดยกองทุนสวัสดิการฯ จะเป็นผู้ขายสินค้าทางออนไลน์ เพื่อให้กลุ่มอาชีพต่างๆ มีช่องทางการขายสินค้ามากขึ้น และจะนำผลกำไรส่วนหนึ่งมาเข้ากองทุนฯ เพื่อให้กองทุนฯ เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิกได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป” ประธานฯ กองทุนกล่าวและว่าปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินหมุนเวียนประมาณ 3.5 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกันของชาวบ้านในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศแล้ว จำนวน 6,027 กองทุน มีสมาชิกรวม 5,807,860 คน มีเงินกองทุนรวมกันกว่า 16,000 ล้านบาท ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วกว่า 2 ล้านคน รวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท..!!