“ช่างปูนปั้นเมืองเพชร”ส่งมอบงานปั้นสัตว์หิมพานต์“นกทัณฑิมา นกหัสดิลิงค์ นรสิงห์”รวม 20 ตัว “ภูมิสถาปนิก”เผยเตรียมนำโขดหินเทียมสัตว์หิมพานต์ส่วนหนึ่งทดลองติดตั้งพื้นที่จริงพระเมรุมาศ 26 มิ.ย.
ความคืบหน้างานจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 60 เวลา 11.00 น.ที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม คณะช่างปูนปั้นจังหวัดเพชรบุรี โดยนายสมชาย บุญประเสิรฐ ได้นำประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ประดับสระอโนดาต จำนวน 20 ตัว ประกอบด้วย ม้า สิงห์ นกทัณฑิมา นกหัสดิลิงค์ นกวายุภัคดิ์ นรสิงห์ นาค นกอรหัน มาส่งมอบให้สำนักช่างสิบหมู่ เพื่อทดลองประกอบกับโขดหินเทียมที่หล่อด้วยไฟเบอร์กลาสขนาดเท่าจริง และนายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ นำประติมากรรมช้างหิมพานต์ 10 ตระกูล ประกอบด้วย วารีกุญชร ครึ่งช้างครึ่งปลา และช้างอุโบสถ หล่อพิมพ์เสร็จแล้วมาร่วมทดลองวางด้วย โดยมีนายพรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสปานิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กำกับดูแลการทดลองดังกล่าว
นายพรธรรม กล่าวว่า งานภูมิทัศน์พระเมรุมาศเริ่มสร้างสระน้ำ 4 ด้าน ภายในสระจะประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ซึ่งถือเป็นวันแรกที่ทดลองประกอบโขดหินเทียม พร้อมกับทดลองจัดวางต้นแบบสัตว์หิมพานต์บางส่วนของช่างปูนปั้น จ.เพชรบุรี และวิทยาลัยเพาะช่างตามตำแหน่งต่างๆ เพื่อดูความสมดุล ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังต้องแก้ปัญหาเรื่องการติดตั้งสัตว์หิมพานต์บนโขดหินและโทนสีของโขดหิน เพราะองค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นส่วนฐานของพระเมรุมาศต้องช่วยส่งเสริมให้พระเมรุมาศงดงามดั่งสรวงสวรรค์มากยิ่งขึ้น โดยจากการหารือโขดหินจะต้องเป็นสีเทาอมน้ำตาล ขณะที่สัตว์หิมพานต์จะใช้โทนสีขาวมีเหลือบสีประจำสัตว์แต่ละตัว ไม่เน้นสีฉูดฉาด ส่วนพื้นสระอโนดาตเป็นสีน้ำเงินเข้มเหมือนมรกต
นายพรธรรม กล่าวโขดหินเทียมที่ประกอบวันนี้ มีขนาดเพียง 3 เมตร แต่พื้นที่จริงมีสระด้านหนึ่งความยาวถึง 25 เมตร ความกว้างจากโขดหินติดฐานพระเมรุมาศจนถึงขอบสระ 4 เมตร มาตราส่วนจะใหญ่กว่าการทดลองวันนี้มาก การจัดวางสัตว์หิมพานต์จะกระจาย ไม่ให้ดูแน่นสระ และหันตัวของสัตว์ให้ได้มุมมองที่งดงาม โดยกำหนดจะนำหินเทียมทั้งหมดของแต่ละมุมมาติดตั้งและทำสีที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม ส่วนสัตว์หิมพานต์ที่เสร็จแล้วจะทยอยเคลื่อนย้ายมาไว้ที่นี่และทดลองประกอบ กำหนดตำแหน่ง ก่อนยกไปติดตั้งในพื้นที่จริง
“จากการทดสอบในครั้งนี้มีข้อกังวลถึงน้ำหนักของประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ จึงแนะนำทีมโรงงานผู้ผลิตหิมเทียมเสริมความแข็งแรงและแน่นหนาของโครงสร้างโขดหินเทียม อาจจะใส่โครงเหล็กภายในอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากประติมากรรมมีน้ำหนักมากอาจทำให้หินเทียมยุบตัวได้ รวมถึงจะเก็บงานอย่างไรให้ดูแล้วสัตว์อยู่บนโขดหินจริงๆ”
ภูมิสปานิก ยังได้กล่าวการออกแบบภูมิทัศน์ว่า สระอโนดาตด้านทิศเหนือจะประดับช้าง 10 ตระกูล จำนวน 30 ตัว จัดสร้างโดยวิทยาลัยเพาะช่าง ส่วนด้านที่เหลือประดับม้า โค สิงห์ ด้านละ 30 ตัว จัดสร้างโดยช่างปูนปั้นเพชรบุรี ขณะนี้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กสระด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เสร็จแล้ว กำลังดำเนินการทำผิวหินขัด โดยกำหนดจะนำโขดหินเทียมและสัตว์หิมพานต์ส่วนหนึ่งไปทดลองติดตั้งพื้นที่จริงพระเมรุมาศในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ เพื่อที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชวินิจฉัย อย่างไรก็ตามโครงสร้างสระอโนดาตทั้ง 4 ด้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนก.ค.นี้
ด้าน นายสมชาย บุญประเสิรฐ ช่างปูนปั้นจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า สัตว์หิมพานต์ จำนวน 20 ตัว ได้เคลื่อนย้ายจาก จ.เพชรบุรี มายังสำนักช่างสิบหมู่เป็นที่เรียบร้อย ไม่มีชำรุดเสียหาย พร้อมให้กลุ่มจิตรกรรมลงสี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมช่างปั้นเพชรบุรีและประติมากรจากหลายจังหวัดรวม 30 คน กำลังเร่งปั้นสัตว์หิมพานต์ที่เหลืออีก 80 ตัว ซึ่งไม่มีปัญหาอุปสรรคอย่างใด คาดว่าจะส่งมอบงานอีก 30 ตัวได้สิ้นเดือน ก.ค.นี้ เป็นม้า โค สิงห์ สัตว์ผสม ทั้งนี้ จะจัดทำครบทั้งหมด 100 ตัวภายในเดือน ส.ค.
ด้าน นายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า รู้สึกพอใจเมื่อได้เห็นการจัดวางช้างหิมพานต์กับโขดหินเทียม ขณะนี้ต้นแบบช้างหิมพานต์ที่เพาะช่างรับผิดชอบทั้ง 30 ตัว เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยกรมศิลปากรจะตรวจความถูกต้องทั้งหมดภายในสิ้น มิ.ย. หากผ่านการพิจารณาจะดำเนินการหล่อพิมพ์ ก่อนส่งให้คณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาจิตรกรรมไทย ลงสีช้างให้งดงามตามตำราคชลักษณ์