คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวพุทธยังควรทำความเข้าใจให้มาก ได้ยินเสียงพูดกันว่า การเป่านกหวีดที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่ออาทิตย์ก่อน เพื่อแสดงการขับไล่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(โดยเด็กนักเรียน) เป็นผลของกรรมที่ท่าน(และคนของท่าน) เคยเป่านกหวีดไล่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ยังนึกได้ว่า การเป่านกหวีดไล่กันเมื่อหลายปีก่อน เกิดขึ้นก่อนจะมี กปปส.บนท้องถนน ไม่เข้าใจอยู่จนทุกวันนี้ว่าทำไมจึงทำกันอย่างนั้น? แล้วเมื่อท่านรัฐมนตรีณัฏฐพล ได้ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากได้เข้าร่วมเป่านกหวีดกับ กปปส. ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยคนหนึ่ง จึงรู้ว่าเป็นเรื่องทางการเมืองก็พอจะเข้าใจได้ แต่ก็ไม่อยากเชื่อว่า การเป่านกหวีดของนักเรียนในวันนั้น จะเป็น “ผลของกรรม” ที่ท่านรัฐมนตรีเคยกระทำไว้ อย่างที่มีเสียงพูดให้ได้ยินว่า “กรรมติดจรวด” (กรรมที่ให้ผลเร็วเกินคาด) เพราะเรื่องของกรรม (ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า) เป็นเรื่องของ “เจตนา” อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” (เรากล่าวว่าเจตนา คือ “กรรม”) คำว่าเจตนา หมายถึง เจตนา (ความตั้งใจ) ของผู้กระทำ คือเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในใจของผู้กระทำไม่ใช่เจตนาของคนอื่น ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อกรรมเกิดจากเจตนา กรรมก็ย่อมติดฝังอยู่ที่เจตนาหรือใจของผู้กระทำทันที คือ เกิดเป็นมลทิน หรือเป็นความเศร้าหมอง หรือเป็นร่องรอยอยู่ที่ใจของผู้กระทำ ผลโดยตรงของกรรม คือเจตนาที่มีร่องรอยนั้น อาจจะไม่ใช่ผลของกรรมที่แสดงออกเป็นพฤติการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อเป่านกหวีดไล่เขาก็จะได้รับผลของกรรมเป็นถูกเป่านกหวีดไล่เช่นกัน เคยมีผู้เปรียบไว้อย่างน่าคิดว่า ผลของกรรมก็เหมือนการโยนลูกฟุตบอลใส่กำแพง ซึ่งลูกฟุตบอลก็จะกระเด้งกลับเข้าหาตัวผู้โยน หนักหรือเบาเท่ากับความแรงของการโยน คำกล่าวเปรียบเทียบ หรือคำอธิบายเรื่องผลของกรรมในทำนองอย่างนั้น น่าจะเป็นการกล่าวอย่าง “ปุคคลาธิษฐาน” คือเอาเรื่องผลของกรรมเป็นสิ่งที่ตาเห็นได้ แต่ผมเชื่อว่า ผลของกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ตาเห็นได้เสมอไป ที่แน่ๆคือถ้ามีเจตนาในการกระทำและเป็น “กรรม” เจตนานั้นเองได้เกิดร่องรอยทันทีที่กระทำ ส่วนจะแสดงออกเป็นอะไรนั้นยากที่จะรู้หรือคาดหมายได้ คำบาลีที่ว่า “ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ เราแปลกันว่า “หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทำกรรมดี ได้รับผลดี ทำกรรมชั่ว ได้รับผลชั่ว” ต่อมา มีผู้กล่าวเป็นกลอน (คัดค้าน) ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” น่าสังเกตว่า ในคำบาลีนั้น ถ้าเปลี่ยน “ลภเต” เป็น “รนเต” ก็จะแปลว่า “หว่านพืชเช่นใด ย่อมงอกเป็นผลเช่นนั้น” และมีผู้แปลคำบาลีที่ว่า “กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ” เป็น “ผู้ทำกรรมดี ดี ผู้ทำกรรมชั่ว ชั่ว” (ไม่มีคำว่า “ได้รับผลดี” หรือ “ได้รับผลชั่ว”) ไม่ว่าคำบาลีจะหมายความว่าอย่างไร ก็สรุปได้ว่า การกระทำใดๆ(ที่ทำด้วยเจตนา) ล้วนแต่เป็น “กรรม” และจะต้องมีผลของกรรมเสนอ กรรมที่เกิดขึ้นทันที คือ “กลฺยาณํ” (ดี) และ “ปาปกํ” (ชั่ว) ซึ่งเกิดที่เจตนา แต่คนทั่วไป มักตีความว่า ผลของกรรม เป็นสิ่งที่ตาเห็น จึงเชื่อว่า การเป่านกหวีดไล่กัน เป็นผลของกรรม แต่ในทางพุทธศาสนาสอนว่า ไม่ว่าจะเป็นการเป่านกหวีด หรือไม่ก็ตามก็ได้ชื่อว่ามีการเป่านกหวีด(ซึ่งเป่าด้วยเจตนา)แล้ว คือมีร่องรอยอยู่ที่เจตนาแล้ว ส่วนจะมีผลเป็น “สิ่งที่ตาเห็น” หรือไม่นั้น คงตามดูได้ยาก เพราะตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น สัตว์โลกเกิดหลายภพชาติเหลือเกิน และไม่ใช่เกิดเป็นมนุษย์อย่างเดียว อาจจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผีชนิดต่างๆ หรือเป็นเทวดา เป็นพรหม จนนับไม่ถ้วน เมื่อสัตว์โลก จะต้องเกิดในชาติภพต่างๆ เป็นจำนวนมาก กรรมซึ่งติดอยู่กับเจตนา ก็จึงติดไปหลายภพหลายชาติด้วย ย่อมยากที่จะรู้ได้ว่า กรรม(เจตนา) ที่เคยมีในชาติใดชาติหนึ่ง จะให้ผลอย่างไรและเมื่อใด จะรู้ได้ว่า กรรมใดให้ผลอย่างไร ย่อมรู้ได้ด้วยฌานหรือสมาธิของพระพุทธเจ้า (เพราะทรงได้ จุตูปปาตญาณ”) ฌานหรือสมาธิของบุคคลนั้นๆไป (แม้แต่ของ “หลวงปู่มั่น”) กัน ยิ่งรู้ได้เฉพาะกรรม (หรือผลของกรรม) ในชาติปัจจุบันเท่านั้น หรือในชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น “กรรม” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งแม้แต่พระสงฆ์ทั่วไปก็ยังไม่เข้าใจ ยิ่ง “ผลของกรรม” ที่บาลีใช้คำว่า “กมฺมวิปาก” ยิ่งเป็นเรื่องที่คิดเอาเองไม่ได้ และพระพุทธเจ้าจัดให้เป็น “อจินไตย” เรื่องหนึ่งคือเป็นเรื่องที่เหนือวิสัยความคิด (คิดด้วยเหตุผล) หรือ “ตรรกะ” จึงไม่เห็นด้วยที่พระสงฆ์รูปหนึ่งตอบคำถามว่า การเล่นเกมส์ (เกมที่ผลิตโดยคอมพิวเตอร์) เป็นบาปหรือเป็นกรรม เป็น “ปาณาติบาต” (ศีลข้อที่ 1 ในศีล 5) โดยท่านอธิบายอีกว่า การใช้อาวุธฆ่ากันโดยเกมส์เป็นการมีเจตนาฆ่าที่สะสม ย่อมเป็นกรรมได้ แต่การเล่นเกมส์ทางคอมพิวเตอร์เป็นความหมกมุ่น อาจจะเป็นเหตุให้เสียประโยชน์เสียเวลา แต่ก็ไม่เป็นการเบียดเบียนชีวิตจนถึงการฆ่า ซึ่งเป็นคนละเจตนากับการฆ่าที่เป็น “ปาณาติบาต” จึงมีเป็นอันมากที่บางคนเลิกจากการติดเกม แล้วทำความดีเป็นคนดีได้ และเขาก็เห็นโทษของการเล่นเกมส์ กลับมาเอาดีอย่างอื่นได้ เข้าใจว่า ความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่คิดเอาง่ายๆ อย่างเป่านกหวีดไล่กันนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดมาแต่เดิม เป็นความเชื่อตามๆกันมา แต่ก็น่าคิด ที่มีเรื่องเล่าจากกรณีคนตายแล้วเกิดใหม่ และระลึกชาติได้ ซึ่งบางคนมีปานหรือเครื่องหมายบางอย่างติดมาด้วยแต่ชาติก่อน เรื่องผลของกรรมจึงเป็น “อจินไตย” อย่างหนึ่ง (น่าสังเกตว่า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่า “กรรม” เป็นอจินไตย แต่ตรัสว่า “ผลของกรรม” หรือ “กมฺมวิปาก” เป็นอจินไตย? ความเชื่อเรื่องกรรม (ทางพุทธศาสนา) เป็นความเชื่อใน “สังสารวัฏฏ์” (เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีกหลายภพหลายชาติและหลายกำเนิด ไม่ใช่เกิดเป็นมนุษย์อย่างเดียว) แต่เรื่องเล่าในคัมภีร์ต่างๆแม้แต่ในพระไตรปิฎก มักจะเล่าว่าใครได้ประสบพบเจออะไรบ้างในขณะเป็นมนุษย์ และมักจะเล่าถึงชาติก่อน (แต่ไม่ระบุว่าชาติไหน) เคยทำกรรมอะไรอย่างไรไว้บ้าง (อาจเป็นไปได้ว่า บางเรื่อง (ที่เล่าไว้ในคัมภีร์ต่างๆดังกล่าว) เป็นเรื่องเล่าตามความเชื่อในสมัยนั้นๆ) หรืออาจเป็นไปได้ว่า บางเรื่องเป็นผลของกรรมในชาติก่อนๆนานมาแล้ว ซึ่งเพิ่งมาให้ผลในชาติปัจจุบันก็เป็นได้ ส่วนการเป่านกหวีดไล่กัน อาจจะเป็นเรื่องทาง “การเมือง” หรือเป็นกรรมใหม่ของคนเราแต่ละคน หรืออาจจะเป็นผลของกรรมเก่า(ในหลายๆชาติก่อน) มากกว่า มีคำกล่าวว่า “กรรมสนองกรรม” น่าจะมาจากคำบาลีที่ว่า “เวร” (ย่อมระงับ) กับ “เวร” ความเชื่อเรื่อง “เวร” เป็นความเชื่อที่สัมพันธ์กับเรื่อง “กรรม” อย่างน่าคิด แสดงว่า กรรมที่ให้ผลเป็น “เวร” เป็นเรื่องในสังสารวัฏฏ์ คือเป็นผลของกรรมในหลายภพหลายชาติ ซึ่งยากที่คนทั่วไปจะหยั่งรู้ด้วยความคิดได้ (ผลของกรรมจึงเป็น “อจินไตย” ดังกล่าวแล้ว) กรรมกับสังขาร (ความคิด) น่าจะยึดโยงกันอยู่ จึงมีคำอธิบายในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเห็นว่ากรรมกับจิต เป็นอันเดียวกัน? ชวนให้คิดต่อไปว่า ในปฏิจจสมุปบาท กล่าวถึงแต่ “วิญญาณ” ไม่มีคำว่า “จิต” เลย (และไม่มีคำว่า “กรรม” ด้วยแสดงว่าเรื่องกรรม จิต และ วิญญาณ มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง แต่เรื่องนี้ก็พอจะทำความเข้าใจได้เมื่อได้เรียน “อธิธรรม” คำสอนเรื่องกรรม จิต และวิญญาณ เป็นคำสอนที่ชาวพุทธควรจะใส่ใจให้มาก แต่ดูเหมือนว่าเรื่องเหล่านี้ ชาวพุทธทั่วไปพอใจที่จะเชื่อตามความเชื่อแต่โบราณ โดยเฉพาะเรื่อง “กรรม” ชาวพุทธปัจจุบันมักจะเห็นเรื่องกรรมเป็น “เคราะห์กรรม” ตามความเชื่อของวิชา “หมอดู” แล้วก็เชื่อว่าเคราะห์กรรม สามารถแก้ไขได้ จึงมีวิธี(หรือ “พิธี”) สะเดาะเคราะห์ ซึ่งเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของคนบางคนบางกลุ่มอยู่ขณะนี้ แต่ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า กรรมเป็นเจตนาเมื่อมีการทำกรรมด้วยเจตนา กรรมนั้นก็เนื่องอยู่กับจิต หรือวิญญาณ ส่วนจะให้ผลเมื่อไรหรืออย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของกรรม กรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คงแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีหรือด้วยพิธีต่างๆ ตามความเชื่อของคน เมื่อทำกรรมใดไว้ก็จะต้องรับผลของกรรมในโอกาสใดโอกาสหนึ่งอย่างแน่นอน มานึกดู ก็ชวนให้คิดว่า การเป่านกหวีดไล่กัน ถ้าเป็นเรื่องของกรรม ก็คงมีการเป่านกหวีดไปอีกนาน(หลายภพหลายชาติ) จนไม่รู้ว่าใครเริ่มก่อนใคร เพราะกรรมนั้นกลายเป็น “เวร” นั่นเอง! ถ้านึกเห็นอย่างนี้ ก็จะทำใจได้ว่าการเป่านกหวีดไล่กันเป็นเรื่องของกรรม และกรรมเป่านกหวีดนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว จะเป็นกรรมหรือไม่เป็นกรรม ขึ้นอยู่กับเจตนาของแต่ละคน และ “ผลของกรรม(เป่านกหวีด)” ก็คงจะแสดงผลในโอกาสใดโอกาสหนึ่งนั่นเอง เคยคิดอยู่เหมือนกันว่า การเป่านกหวีดไล่กันเกิดขึ้นได้อย่างไรแสดงว่า มีใครคนหนึ่งคิดขึ้นมาได้ เมื่อเห็นอีกคนหนึ่ง(หรือกลุ่มหนึ่ง) เป็นการคิดขึ้นมาได้เอง โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน (หรือจะมีการตั้งใจไว้ก่อนก็ตาม) แล้วก็มีการเป่านกหวีดโต้ตอบกันไปมา โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้เหตุผลเหมือนกันว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น? ก็เลยอดคิดไม่ได้ว่า การเป่านกหวีดที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการวันนั้น เป็นเรื่องของ “กรรมเก่า” กระมัง?