สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ ‘วัดบางเหี้ย’ เป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากบริเวณวัดจะมีตัวเงินตัวทองอยู่จำนวนมากเพราะเป็นเขตน้ำกร่อย ชื่อจริงๆ ของวัดคือ ‘วัดคลองด่าน’ และที่เป็นทางการจะเรียกว่า ‘วัดมงคลโคธาวาส’ ตั้งอยู่ที่ ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ หลวงพ่อปาน ท่านก็เป็นชาวคลองด่านโดยกำเนิด เกิดในปี พ.ศ.2370 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) บิดาชื่อ ปลื้ม มารดาชื่อ ตาล ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 15 ปี ที่ สำนักวัดอรุณราชวราราม และอุปสมบท โดยมี พระศรีสากยมุนี เป็นอุปัชฌาย์ ท่านศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานรวมถึงไสยศาสตร์ นอกจากนี้ท่านยังสนใจในกรรมฐานเป็นอย่างมาก ท่านได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์หลายองค์จนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ หลวงปู่แตง เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา จ.ชลบุรี พระเกจิผู้เก่งกล้าด้านวิปัสสนาธุระ ไสยเวทย์ และมนต์คาถาต่างๆ ก่อนกลับมาวัดมงคลโคธาวาส และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา เครื่องรางของขลังของหลวงพ่อปาน ที่นับว่าเป็นเครื่องรางยอดนิยมของคนรุ่นเก่า คู่กับเบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี ซึ่งมีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ก็คือ ‘เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน’ ‘เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน’ นั้น ท่านแกะจากเขี้ยวเสือโคร่ง แล้วลงเหล็กจารด้วยตัวเองปลุกเสกโดยใส่ ‘พระคาถาหัวใจเสือโคร่ง’ ลูกศิษย์ลูกหาได้ยินท่านท่องว่า พยัคโฆ พยัคฆา สูญญา สัพติ อิติ ฮัมฮิมฮึม ... แต่ตรง ‘ฮัมฮิมฮึม’ นี้ ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าน่าจะเป็นเสียงเสือคำรามหรือลูกศิษย์อาจจะฟังไม่ออก ... มีช่างที่แกะเสือแล้วเป็นศิษย์ท่านด้วยกัน 5 คน แต่ละคนจะแกะไม่เหมือนกันซะทีเดียว และมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก นั่งปากเม้มหุบสนิท ตากลม ขาหน้าทั้งสองใหญ่ เล็บจิกลงบนพื้น ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะมีช่างแกะคอย เวลาหลวงพ่อปานไปธุดงค์ก็จะให้ปลุกเสก ประการสำคัญ ให้ดูรอยจารใต้ฐาน ท่านมักจะจารเองเป็น "นะขมวด" ที่เรียกกันว่า ‘ยันต์กอหญ้า’ และตัว ‘ฤ ฤา’ ลักษณะที่บอกเอกลักษณ์ในปัจจุบันก็คือ เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า ซึ่งมีทั้ง เสือหุบปาก และเสืออ้าปาก เขี้ยวต้องกลวง มีทั้งแบบซีกและเต็มเขี้ยว เขี้ยวหนึ่งอาจแบ่งทำได้ถึง 5 ตัว ตัวเล็กๆ เรียก “เสือสาริกา” เป็นปลายเขี้ยว ส่วนใหญ่พบว่าเป็นซีก คนโบราณนิยมเลี้ยงไว้ในตลับสีผึ้งทาปาก ทีนี้มาดู ‘วิธีจาร’ ของท่าน ท่านจะจารตัว “อุ” มีทั้งหางตั้งขึ้นและลง ที่ขาหน้าค่อนไปทางด้านบน และลงอักขระคล้ายเลข “๓” หรือเลข “๗” ขยักๆ หางลากยาวหน่อย ตรงสีข้างส่วนใต้ฐาน ท่านจะจาร ‘ยันต์กอหญ้า’ ถ้าเสือตัวใหญ่หน่อยท่านจะลงยันต์กอหญ้า 2 ตัว ตรงข้ามกัน และลงตัว ฤ ฤา พร้อมตัวอุณาโลม บางตัวมีรอยขีด 2 เส้นขนานกัน ดูให้ดีจะเห็นเป็นเส้นลึกและคมชัด นอกจากนี้ ต้องดูความเก่าของเขี้ยวเสือให้เป็น คือ ต้องแห้งเป็นธรรมชาติ วรรณะเหลืองใส มีรอยหดเหี่ยวโบราณเรียก ‘เสือขึ้นขน’ เห็นเป็นเสี้ยนเล็กๆ อาจมีรอยแตกอ้า หากผ่านการใช้สียิ่งเข้ม ส่วนของปลอมจะเอาเขี้ยวหมี เขี้ยวหมูป่า มาเคี่ยวด้วยน้ำมันงา แต่ถ้าดูเป็นจะเห็นว่าอมน้ำมัน ของจริงจะแห้ง ใส เหลือง ไม่อมน้ำมัน ผิวเป็นมันวาวไม่ด้าน บางพวกคั่วน้ำมันงาเสร็จจะมาต้มในน้ำร้อนไล่น้ำมันแต่ผิวจะด้าน ถ้าเจอมีสีเขียวใสๆ จับ นั่นนะเป็นรอยไหม้ตอนคั่ว ตอนหลังหาเขี้ยวสัตว์ยากเลยเอากระดูกสัตว์มาทำ บางอันเป็นเรซินไปแช่ด่างทับทิม หรือทิงเจอร์ฯ แช่แป๊บเดียวรอยคราบเหลืองเก่าจะจับตามซอกและผิว จากนั้นจะนำมาขัด ถ้ารู้วิธีก็จะดูได้ง่ายขึ้น และสีของเขี้ยวจะไม่เป็นสีเดียวกัน จะมีอ่อนแก่ ยิ่งใกล้รูกลวงสีจะอ่อน และรูเขี้ยวเสือจะเป็นวงรีหรือกลมค่อนไปทางรี ถ้าเห็นรูแสดงว่าเป็นเต็มเขี้ยว ของปลอมจะใช้สว่านเจาะให้เป็นรู ถ้ารูค่อนไปทางเหลี่ยมสามเหลี่ยมจะเป็นเขี้ยวหมี เท่าที่พบ “เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน” จะไม่มีอักขระอื่นๆ ปะปนซับซ้อนมากนัก เพราะคณาจารย์เก่าก่อนท่านจะไม่ลงซ้ำ มีกิตติคุณเลื่องลือเป็นที่ปรากฏ ทั้ง เมตตามหานิยม โชคลาภและมหาอำนาจ แต่ของทำเทียมมีมากมายก่ายกองทีเดียว ถ้าดูไม่ขาดพึ่งพาอาศัยผู้ชำนาญการจะดีกว่า แล้วเรื่องราคาไม่ต้องพูด แพงระยิบระยับแล้วกันครับผม ... เมื่อครั้งมีการสร้างเขื่อนพระยาไชยานุชิต ที่ คลองด่าน เพื่อกั้นกระแสน้ำทะเลไม่ให้ท่วมเรือกสวนไร่นาชาวบ้าน แต่กรมชลประทานไม่สามารถก่อสร้างได้สำเร็จซักที เพราะกระแสน้ำแรงมากและตีขึ้นมาตลอด หลวงพ่อปานเห็นแก่การขจัดความเดือดร้อนของผู้คน จึงทำการเสกเขี้ยวเสือขว้างลงไป ปรากฏว่ากระแสน้ำลดกำลังลงอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถกั้นสร้างเขื่อนได้สำเร็จ ... เมื่อคราวล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อน คนเก่าๆ เล่ากันว่า หลวงพ่อปานนำเขี้ยวเสือใส่พานถวาย 5 ตัว แต่เณรที่ถือพานเกิดตกประหม่าทำตกน้ำไปหนึ่งตัว ท่านเลยให้เอาเนื้อหมูผูกเชือกหย่อนลงน้ำ บริกรรมพระคาถาจนเขี้ยวเสือติดชิ้นหมูขึ้นมา ต่อหน้าพระพักตร์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงศรัทธาหลวงพ่อปานมาก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระครูนิโรธสมาจารย์ และทรงเรียกเป็นส่วนพระองค์ว่า "พระครูปาน" มีปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า ... "พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงควัตร คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือ รูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้เนื้อหมู เสกเป่าไปยังไร เสือนั้นกระโดดลงไปยังเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีหนีไปอยู่ป่าช้า ที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียที่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย มีแกะรูปเสือ เป็นต้น ถ้าปกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปตัวละ 3 บาท ว่า 6 บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัชฌาสัยก็เป็นอย่างคนแก่ใจดี กิริยาเรียบร้อย อายุ 70 ปีแล้ว ยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย"