ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ อ.ย. กล้าตาย...เอีย !” “อ.ย.” ย่อมาจาก “อากาศโยธิน” หมายถึง กองกำลังของทหารอากาศที่ทำการสู้รบบนภาคพื้นดิน คล้ายๆ กับ “น.ย.” ก็คือ “นาวิกโยธิน” ที่เป็นกองกำลังบนภาคพื้นดินของกองทัพเรือ แต่ความจริงแล้วด้วยเหตุที่เราไม่ได้มีศึกสงครามกับใคร อากาศโยธินอย่างพวกผมก็มีหน้าที่แค่เฝ้าสนามบินกับจอเรดาร์เท่านั้นเป็นหลัก สนามบินที่พวกผมเฝ้าคือสนามบินของกองบิน 1 อยู่ขอบๆ เมืองโคราช ที่เรียกว่าตำบลหนองไผ่ล้อม เชื่อมโยงกับอำเภอปักธงชัย มีขนาดกว้างขวางหลายพันไร่ ถ้าจะขับรถให้รอบสนามบินก็ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นสนามบินที่สหรัฐอเมริกาสร้างให้ในช่วงสงครามเวียดนาม พร้อมกับเป็นฐานทัพที่ส่งเครื่องบินไปช่วยทำการสู้รบปราบปรามพวกเวียดกงในเวียดนามนั้นด้วย รวมถึงปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ในประเทศที่มีการซ่องสุมอยู่ในหลายๆ จังหวัดทางภาคอีสาน ด้วยฝูงบินที่มีความทันสมัยที่สุดในยุคนั้นคือ เอฟ 5 ฉายา “ปีศาจเวหา” หลายสิบลำ ซึ่งจัดเป็นเครื่องบินในประเภท “โจมตีและขับไล่” เนื่องจากมีความเร็วสูง มีความคล่องตัว คล่องแคล่วว่องไวในการต่อสู้บนอากาศ ทั้งยังถูกติดตั้งด้วยอาวุธที่ทันสมัยเต็มลำ เครื่องบินเหล่านี้จะมีที่จอดเป็นกระโจมอะลูมิเนียมอย่างดี พ่นด้วยสีเป็นลายพราง มั่นคงแข็งแรงและสวยงาม ที่เรียกว่า “หลุมจอด” รวมถึงลานจอดก็ปูด้วยกระดานอะลูเนียมแผ่นหนาๆ มีราคาแพง อันเป็นที่ปรารถนาของ “ขโมยในกองบิน” (เพราะคนนอกกองบินน่าจะเข้ามาทำอะไรในฐานทัพที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนานี้ได้ยาก) ซึ่งพวกผมที่เข้าเวรเฝ้าต้องคอยนับแผ่นปูลานจอดนี้ให้ครบถ้วนในทุกๆ ผลัด พวกเราอีกส่วนหนึ่งที่ผ่านการฝึกภาคสนามมาอย่างเรียบร้อยแล้วจะถูกส่งไปเฝ้า “เรดาร์” บนเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทยกัมพูชา เรดาร์เหล่านี้มีไว้เพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัย จากการรุกล้ำของอากาศยานของข้าศึก และนำร่องให้อากาศยานของฝ่ายเราที่จะบินผ่านไปมาบนท้องฟ้าย่านนี้ จากคำบอกเล่าของทหารเกณฑ์รุ่นพี่ที่เคยไปประจำที่ฐานเรดาร์เหล่านี้ เล่าว่าเป็นสถานที่ที่เป็น “แดนสวรรค์” อย่างแท้จริง เพราะอยู่บนภูเขาสูง อากาศเย็นสบาย มีอาหารกระป๋องอร่อยๆ ส่งมาให้เป็นระยะ ไม่ต้องทนกินอาหารที่พวกสูทกรรมฝีมือแย่ๆ ทำให้กินทุกวัน และที่ดีที่สุดก็คือไม่ค่อยอึดอัด เพราะไม่มีนายใหญ่ๆ มาคอยควบคุมสั่งการ ที่ประจำอยู่ก็เป็นระดับนายเรืออากาศจบมาใหม่ๆ หรือพวกจ่าและพันจ่าโสดๆ (เพราะไม่ต้องห่วงภาระครอบครัวที่อาสามาอยู่บนฐานเรดาร์ด้วยตนเอง) จึงสามารถ “สนุกสนานเฮฮา” ได้ตามสมควร ผมกับอภิชาติอยู่ในหมู่เดียวกัน โดยอภิชาติทำหน้าที่รองหัวหน้าหมู่ ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่ควบคุมลูกหมู่อีก 13 คนอย่างเต็มตัว เนื่องจากผมต้องไปทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมวดและหัวหน้าตอนนั้นด้วย ทุกเช้าตอนตีห้า จ่ากองร้อยฝึกที่ทำหน้าที่ในแต่ละวัน จะเป็นคนเป่านกหวีดเสียงกรีดก้อง(คือมีเสียงแสบหูและดังมาก) โดยจะเป่าเป็นจังหวะ สั้น ยาว สั้น สั้น สั้น และยาว 3 ครั้ง ครั้งแรกตอนปลุกให้ตื่น ซึ่งทุกคนจะต้องรีบเก็บที่นอน แล้วลงไป “ทำธุระ” ในห้องสุขาที่เรียงรายอยู่นับสิบๆ ห้องด้านหลังเรือนนอน ติดกันเป็นลานอาบน้ำคอนกรีต ที่มีบ่อปูนสูงราวๆ สะดือ กว้างยาวประมาณ 2 คูณ 4 เมตร จำนวน 4 บ่อ ซึ่งสามารถอาบได้คราวละนับร้อยคน ทั้งหมดนี้ต้องทำให้เสร็จภายใน 10 นาทีที่จ่าจะเป่านกหวีดอีกเป็นครั้งที่สอง จากนั้นทุกคนต้องขึ้นไปแต่งตัวในชุดฝึก และลงมาภายใน 5 นาที พร้อมกับการเป่านกหวีดในครั้งที่ 3 โดยแต่ละหมู่ต้องตรวจนับยอดและการแต่งกายให้เรียบร้อย ให้เสร็จก่อนที่ผู้ควบคุมการฝึกจะลงมาในเวลาตีห้าสิบห้านาทีนั้น โดยผมจะเป็นผู้ขานให้ทหารทั้งหมดทำความเคารพ และหัวหน้าหมู่แต่ละหมู่ต้องตะโกนบอกยอดและความเรียบร้อยออกมาดังๆ ก่อนที่การฝึกจะเริ่มต้นในแต่ละวันนั้น การฝึกจะเริ่มด้วยการวิ่งไปรอบๆ ลานจอดเครื่องบินติดกับกองร้อยฝึกประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างวิ่งก็จะร้องเพลงต่างๆ ให้คึกคักสนุกสนาน (แต่พวกผมไม่ค่อยจะสนุกด้วยเท่าไหร่) ที่จำได้ก็เช่น เพลงมดแดงแฝงพวงมะม่วง ที่มีเนื้อร้องว่า “มดแดงแฝงพวงมะม่วง แสนเป็นห่วงเจ้าพวกมดแดง จีบกันไป จีบกันมา มดตายห่... ทำตาแดงๆ” และเพลงลูกทุ่งยอดฮิตต่างๆ ในช่วงนั้น เช่นเพลงของสายัณห์ สัญญา หรือของศรเพชร ศรสุพรรณ เป็นต้น และที่ต้องร้องเป็นไตเติ้ล สลับกับเพลงต่างๆ และปิดท้ายรายการ ก็คือเพลง “นับก้าว” ที่มีทำนองคล้ายๆ เพลงแร็ปในสมัยนี้(คือไม่มีทำนองอะไร มีแต่การร้องให้เป็นจังหวะด้วยเสียงดังๆ เร้าใจ) ที่มีเนื้อว่า “นับก้าว นึ่ง ซ่อง ซ่าม ซี้ ห่า (คือ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่ออกสำเนียงเหน่อๆ แบบโคราช) ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ ออ ยอ กล้าตาย เอีย” (เอีย คือ เสียงควบของคำว่า ออ ยอ นั่นเอง) พอฟ้าเริ่มสว่างพวกเราก็จะมาหยุดที่ลานโล่งขนาดสัก 10 ไร่ รอบๆ เป็นป่ายูคาลิปตัสและไร่มันสำปะหลัง (ทราบว่าแต่ก่อนให้ทหารเกณฑ์เป็นคนปลูก แต่ตอนหลังมีการให้คนข้างนอกมาเช่าพื้นที่และปลูก เพื่อเก็บค่าเช่าเป็นรายได้มาใช้ด้านสวัสดิการแก่กำลังพล แต่ก็ไม่เคยทราบว่าเงินเหล่านี้มาช่วยให้กำลังพลสุขสบายอย่างไร มีแต่เรียกเก็บเงิน “ค่านู่นค่านี่”จากกำลังพลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะได้เล่าให้ทราบต่อไป) มองเห็นรันเวย์อยู่ลิบๆ นี่คือ “ลานฝึก” ที่บรรดา “ครูจ่า” จะมาคอย “ขัดเกลา” พวกเราทหารใหม่เหล่านี้ทุกๆ วัน ทั้งท่ามือเปล่า ท่าอาวุธ กระบวนแถว และยุทธวิธีต่างๆ ซึ่ง “การฝึกที่สมบูรณ์แบบ” จะต้องใช้เวลาร่วม 3 เดือนเต็มๆ พวกเราหลายคนก็สามารถผ่านการฝึกเหล่านั้นไปได้ แต่บางคนก็เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะคนที่มองเรื่องการมาเป็นทหารนี้คือ “ความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง” ที่มักจะปรากฏอาการ “ต่อต้านการฝึก” อยู่เป็นประจำ ส่วนตัวผมนั้นแม้จะไม่ชอบการฝึกสักเท่าไหร่ แต่ก็พยายามสนุกไปกับการฝึกในทุกเช้า เพราะส่วนหนึ่งก็ต้อง “ตั้งใจฝึก” ด้วยตำแหน่งหัวหน้าตอนที่ต้องเป็นแบบอย่างกับเพื่อนทหารใหม่ทั้ง 200 กว่าคนนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็พยายาม “ฝืนใจฝึก” อันเนื่องมาจากความเอาจริงเอาจังของครูจ่า ที่พยายามฝึกพวกเราอย่าง “เอาเป็นเอาตาย” จนตัวผมที่มีน้ำหนักก่อนฝึกเกือบ 80 กิโลกรัม แต่เมื่อฝึกไปในสามเดือนนั้นก็เหลือแค่ 56 กิโลกรัม กระทั่งหน้าขาและหน้าท้องยุบย่นแตกลายงาไม่ต่างอะไรกับคุณแม่หลังการคลอดบุตร ! อภิชาติก็คล้ายๆ กับผม แต่เขามี “ความคิดต่อต้านการฝึก” ที่รุนแรงยิ่งกว่า