ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “มีการให้ข้อสรุปในทางการค้นคว้าวิจัยแห่งโลกสมัยที่เกี่ยวกับชีวิตของเด็กๆทั่วโลกออกมาในลักษณะที่ว่า...ความเครียดกำลังฆ่าทั้งจิตใจและจิตวิญญาณของพวกเขา...รวมทั้งยังฆ่าร่างกายอันบริสุทธิ์ของพวกเขาด้วย...เมื่อพวกเขาต่างพากันเข้าสู่โลกของยาเสพติด..ด้วยเหตุผลจำเป็นที่ต้องการให้ความเจ็บปวดในชีวิตของพวกเขาทุเลาลง นั่นหมายถึงว่า..เส้นทางที่มนุษย์เราต่างใช้เป็นเส้นทางเดินทางเพื่อหยุดยั้งปัญหาดังกล่าวนี้ ดูเหมือนว่าได้ล้มเหลวลงเสียแล้ว..ที่สำคัญก็คือว่า...เราต่างถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับจุดกำเนิดของเรา...ธรรมชาติ และการจัดการความเครียดต่างๆเหล่านี้อย่างสุดขั้ว..แต่แท้จริงสิ่งที่มีความจำเป็นต้องกระทำอย่างรีบด่วนในตอนนี้ก็คือ..การช่วยเสริมพลังให้เด็กๆสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การพึ่งพาภาวะแห่งความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน...กาย จิตและวิญญาณ...ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องมีการสอนให้เด็กๆได้รับรู้เป็นลำดับต้นๆ...ในระดับความรับผิดชอบของชาติ...เช่นเดียวกับการสอนให้ผู้มีอาชีพด้านการรักษาพยาบาลเด็กๆได้รู้จักวิธีสอนที่ควรจะเป็น...รวมทั้งการสอนให้พ่อแม่และผู้ดูแลสุขภาพของเด็กว่าควรจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรในการดูแลสุขภาพของเด็กๆพอๆกับการให้วัคซีนในการคุ้มกัน..ตราบใดที่เรายังไม่ได้ลงมือกระทำในสิ่งนี้...เราก็ยังจะมองเห็นการต่อต้านสังคมและการมีพฤติกรรมที่รุนแรงเพิ่มขึ้น...ตลอดจนการเสพติดในทุกรูปแบบ..ว่ากันว่า..การที่มนุษยชาติมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจากอณาจักรหลายๆชั้นของความทรงจำและจิตสำนึก...ระบบความเชื่อของชีวิต..ที่ซึ่งความรู้สึกและพฤติกรรมของเราหลั่งไหลออกมานั้นย่อม ล้วนเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากพลังงานแห่งจุดกำเนิดของมัน...เป็นดั่งนี้หากเราจะลดระดับความชอกช้ำของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งยอมให้พลังหลั่งไหลผ่านการเชื่อมโยงตัวเราให้เข้ากับ...จุดกำเนิดของเราในพระเจ้าและเชื่อมโยงตัวเราให้เข้าด้วยกันเอง...เราทุกคนก็ต้องเริ่มกันที่เด็กๆ และ..จุดเริ่มต้นของพวกเขาเอง...เราต้องเริ่มต้นกันเดี๋ยวนี้...” นี่คือ แนวคิดสำคัญที่สื่อผ่านทรรศนะอันทรงคุณค่าที่ พญ.เออร์ซูลา เอ็ม แอนเดอร์สัน..ได้ศึกษา สังเคราะห์และได้นำเสนอไว้ในหนังสือ...อันเป็นเหมือนบทสวดสดุดีต่อเสียง และสรรพสำเนียงที่ถูกเปล่งออกมาจากกายและใจของเด็กๆ ทุกผู้ทุกนามบนโลกนี้... “ฟังเสียงเด็กบ้าง”(THE PSALMS OF CHILDREN)...คุณหมอคือผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล มีผลงานในลักษณะบุกเบิก ทั้งด้านการค้นคว้าและสิ่งพิมพ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในศาสตร์ของ กุมารเวช จิตเวช เวชศาสตร์ป้องกันและสาธารณะสุขศาสตร์ที่เผยแพร่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก...แนวคิดริเริ่มเชิงสังเคราะห์ของเธอ..สามารถดึงเอาความเข้าใจอย่างถ่องแท้ไปรวมเข้ากับทฤษฎีใหม่ๆ ทางด้านศาสนา..รวมทั้งทางด้านชีววิทยาและการแพทย์...สิ่งที่เราได้สัมผัสอย่างเด่นชัดจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ..ถ้อยคำภาษาจากความเศร้าที่ฝังอยู่กับใจลึกๆของเด็กๆ..หลายต่อหลายคน...ที่เราต้องตระหนักและต้องก่อความคิดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขา...”...รอยแผลเป็นของเด็กๆบนโฉมหน้าทางจิตวิญญาณ ถือเป็น การแสดงออกของความทรงจำที่ถูกตัดขาดจากต้นกำเนิดแห่งชีวิตของเรา..ซึ่งจริงๆแล้วย่อมไม่มียาชนิดใดสามารถรักษาให้หายขาดได้...สิ่งที่น่าเศร้าก็คือว่า..เรากำลังอยู่ในสังคมที่ต่างคาดหวังถึงการแก้ไขอย่างรวดเร็ว จึงได้มีการพึ่งยา เพื่อ “การแก้ไข”..ต่อเด็กกันอย่างแพร่หลาย...ถึงแม้ว่าจะมีกรณีตัวอย่างที่ควรจะต้องใช้ยาหรืออาจจะมีประโยชน์ แต่ส่วนมากแล้วมันไม่ใช่คำตอบ...ด้วยเหตุที่ว่า..การให้ยาเด็กนั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นปัญหาร้ายแรง อันจะเกิดขึ้นได้กับระบบประสาทและแนวเส้นประสาทที่ยังไม่เติบโต...อย่างเต็มที่และกำลังพัฒนาในสิ่งที่เรายังไม่เห็น..ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้ข้อสรุปของการเรียนรู้ว่า..การใช้ยากล่อมประสาทนั้นน่าจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้แก่เด็กเสียมากกว่า..อันที่จริงเด็กๆทุกคนล้วนมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะฝันกลางวัน ซึ่งหมายความว่า...พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวเข้าออกจากสภาพที่เปลี่ยนแปลงของจิตสำนึกได้อย่างง่ายดายตามธรรมชาติ นักบำบัดที่มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและเชี่ยวชาญในการทำงานกับเด็กจะสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถนี้ และสามารถนำเด็กเข้าสู่การผ่อนคลายลึกๆได้...โดยมีขั้นตอนเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย...พลังคุณภาพแห่งเสียงของนักบำบัดและพลังของการยอมรับด้วยความรักที่เด็กส่งออกมา เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการแก้ไขเยียวยานี้...แน่นอนว่ายังมีวิธีการอื่นๆอีกในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระและอัตวิสัย โดยเฉพาะวิธีที่เน้นการเปลี่ยนแปลงจากด้านลบมาเป็นด้านบวก ภายใต้ชื่อ “การเกิดใหม่(RE-BIRTHING)..ที่ได้อ้างอิงกับบัญญัติใน คัมภีร์ใบเบิล..ที่ว่า..”ถ้าผู้ใดไม่ได้เกิดใหม่ทางจิตวิญญาณแล้ว...ผู้นั้นจะไม่ได้มีชีวิต” กระแสพลังที่หลั่งไหลออกมาจากจิตวิญญาณของเด็กๆ ล้วนบรรจบกันเป็นกระแสที่เชี่ยวกรากไหลบ่าสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกัน เหนือสิ่งอื่นใด..มันคือความปรารถนาที่จะได้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักและมีศาสนาไว้ยึดเหนี่ยวรวมทั้งการได้มีสองสิ่งนี้ตั้งแต่บทเริ่มต้นของชีวิต...ดังนั้นมันจึงตีความได้ว่า...เด็กๆทุกคนควรจะเกิดมาด้วยความรักและได้รับการทะนุถนอมรักใคร่ไม่เพียงแต่เมื่อยังอยู่ในครรภ์เท่านั้น...แต่หลังจากนั้นครอบครัวของพวกเขาควรจะเป็นเปลแห่งการฟูมฟัก ปกป้องคุ้มครอง ชี้นำ..และให้การสนับสนุน...นอกจากนั้นเมื่อเด็กๆได้มีโอกาสปรับคลื่นให้เข้ากับพลังของโลกแล้ว...พวกเด็กๆจะส่งเสียงบอกกับเราว่า...สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านที่สำคัญที่สุดของทัศนคติและความคิดของมนุษย์...และที่สำคัญที่สุดพวกเด็กๆกำลังร่ำร้องแต่มิใช่ด้วยการตะโกน..หากแต่พวกเขาต่างร่ำร้องผ่านเสียงอันเป็นสามัญของพวกเขา...เพื่อให้เกิดการได้ยิน...ในโลกของผู้ใหญ่...เพื่อให้โลกของผู้ใหญ่ได้เลิกรักษาอาการสิ้นหวังของเด็กๆ..ด้วยวิธีที่ทำได้แค่...ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกรุ่นแล้วรุ่นเล่า.... มีเสียงของเด็กๆมากมาย..ที่ พญ. เออร์ซูลา..ได้นำมาเสนอเป็นอุทาหรณ์ให้เราได้สะดับรับฟัง...บางมิติมาจากความเครียดในจิตวิญญาณของเด็กๆ...บางมิติก็มาจากความหวังในชีวิตของการเดินทาง..หรือบางมิติก็คือการทรยศต่อความหวัง.สรรพเสียงทั้งหมดล้วนผ่านความร้อนร้ายแห่งชีวิตอันสาหัสสากรรจ์มาด้วยกันทั้งสิ้น...เสียงของ..อีวา..เธอมักจะเน้นย้ำว่า... “หนูไม่น่าเกิดมาเลย เพราะตอนเริ่มต้นนั้นแย่มาก...แม่หนูถูกข่มขืน...หนูรู้สึกนะคะ..รู้สึกทั่วไปหมด...แม่ไม่เคยบอกหนู...ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ แต่หนูรู้สึก รู้สึกสกปรกไปทั้งตัว...หนูอยากจะเริ่มใหม่อีกครั้ง..อยากให้มีความรักมากๆตอนเริ่มต้นอีกครั้ง...หนูคิดว่ามันจะเป็นไปได้ไหมที่หนูจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง...เพราะตอนนี้หนูอายุ 12 แล้ว...” เสียงของ จู้ท...เขามักจะสารภาพถึงความมี..ความเป็นของตนออกมาว่า... “พอผมโกรธ ผมก็หลุด ควบคุมตัวเองไม่ได้ อยากชกทุกอย่างแล้วก็ทุกคนที่ขวางหน้า...ผมอยากให้ประวัติความประพฤติไม่ดีของผม หายไปตลอดกาล อยากอยู่กับคนที่ไม่ตีผมตลอดกาล...อยากมีความสุขตลอดกาล...”..จู้ทอายุได้ 10 ขวบ...เมื่อได้ส่งเสียงดังกล่าวนี้ออกมา เขาเครียดและเป็นกังวลมาก ลึกๆแล้ว เขามีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ..และมีความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่น่าชมเชย..เขารู้จักกับความไม่แน่นอนมาตลอดชีวิต... “ผมเกลียดพ่อเพราะพ่อตีผม...เพราะพ่อร้ายกับแม่และแม่เลี้ยงเหมือนกับที่ร้ายกับผม...ผมอยากให้แม่ดีขึ้น ผมจะได้กลับไปอยู่กับแม่...เพราะผมรักแม่..” เสียงของ ทิน่า..เด็กสาวอายุ 13 ปี..เธอคร่ำครวญอย่างน่าเห็นใจกับภาวะของความรู้สึกที่เหลือเชื่อ.. “หนูไม่เคยรู้สึกว่าอยู่ในโลกนี้เต็มที่เลย...หนูรู้สึกว่าไม่มีความรู้สึก..เหมือนกับว่ามันถูกขังอยู่ในหัวใจของหนู แล้วก็นั่งอยู่บนหัวหนู..หนูมีปัญหาอารมณ์ขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา หหนูมีความสุขอยู่นาทีหนึ่ง...แล้วก็เศร้า..แล้วก็โกรธไปหมด..หนูชกหมอนแล้วก็ทำร้ายตุ๊กตาได้...หนูทำร้ายมันทั้งตัว..แต่จะทำร้ายมันที่หัวใจทุกครั้ง...” เสียงของ..ไมคาห์..เด็กชายวัย14..มีเสียงบางเสียงคอยบอกให้เขาทำ... “คนชอบมาเจ้ากี้เจ้าการบอกให้ผมทำเรื่องเลวๆ แต่หมอไม่คิดหรือว่า ผมมีสิทธิที่จะทำอะไรเลวๆ ก่อนที่จะถูกกล่าวหาเสียอีก ...ผมโมโหมากเสียจนมีความสุข...มีไอ้ไก่ตัวหนึ่งอยู่บนไหล่ผม คอยบอกให้ผมทำอะไรต่อมิอะไร...”..ไมคาห์.. มีอาการผิดปกติอยู่สองขั้วอย่างเต็มขั้น มันคือความผิดปกติแบบหดหู่เพ้อคลั่ง..บาดแผลในจิตวิญญาณของเขาได้เลื่อนตัวจากความผิดปกติแบบสองขั้วไปเข้ากรอบๆหนึ่ง ซึ่งภายในนั้นเขาได้แยกตัวออกจากความเป็นจริงแล้วและกลับกลายเป็นโรคจิตเภทแบบเก็บตัว... เสียงของ เอไลซ่า เด็กหญิงน่ารักวัย14...เธอมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเพื่อนเป็นประจำที่โรงเรียน “..ไม่มีใครชอบหนู...ใครๆก็มองหนูผิดทั้งนั้น พวกเขามองหนูเหมือนเป็นขี้ฝุ่นขี้ผง...เมื่อหนูถามเขาว่าทำไมมองหนูอย่างนั้น...ถ้าเขาตอบหนูกวนๆหนูก็จะต่อยเข้าให้...เขาก็จะต่อยหนูกลับ แล้วเราก็สู้กัน...หนูต้องเป็นฝ่ายเดือดร้อนทุกที..ไม่มีใครเข้าใจ..ใครๆก็ต่อต้านหนู..ไม่มีใครรักหนูแล้ว มันเจ็บอยู่ข้างใน เจ็บเหมือนมีใครมากดอยู่บนหน้าอก..พยายามทำให้หนูหยุดหายใจ..ทำให้หนูตกใจกลัว หนูจึงต่อยมันออกไป...หนูอยากกลับไปบ้าน ไปหาแม่ ไม่อยากมีปัญหาอีก หมอช่วยหนูได้ไหมคะ..แค่ช่วยปล่อยให้ไอ้ความโกรธความเศร้าเหล่านี้ออกไปจากกายและใจของหนู.....” หลังการเข้าสู่การบำบัดรักษา เอไลซ่าก็ได้รู้ความจริงอันสำคัญแห่งชีวิตในข้อหนึ่งว่า...แท้จริงแม่ของเธอก็ขาดครอบครัวที่เลี้ยงดูมาเช่นเดียวกับเธอ..เหตุนี้แม่จึงไม่อาจรับมือและสามารถรับมือกับความต้องการของเอไลซ่า ในขณะที่ยังเป็นทารก...หรือเมื่อเป็นเด็กที่โถมเข้าใส่เธอได้....” รีเบคก้า ฟาวเลอร์ได้กล่าววิเคราะห์ในบทความของเธอถึงประเด็นอันชวนย้อนแย้งตรงส่วนนี้ว่า...เด็กหญิงหลายคนมักคิดว่าการกระทำเหมือนอย่างเด็กผู้ชายนั้น เป็นการปลดปล่อยตัวเอง...แทนที่จะเรียนแบบในด้านที่ดีที่สุดของผู้ชาย เช่นการมีความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูง กลับไปเลือกเลียนแบบเอาในสิ่งที่เลวที่สุด....นั่นคือความรุนแรง ผู้หญิงมักจะถูกวาดภาพออกมาให้เห็นว่า...เป็นผู้ที่ทำความชั่วได้อย่างชาญฉลาด...ราวกับว่า เลดี้แมคเบธ...ได้คว้ามีดขึ้นมาเสียเองกระนั้น.... ดังนั้นทุกคนจึงควรตั้งคำถามว่า...ได้เกิดอะไรขึ้นกับจิตวิญญาณของพวกเด็กๆ..?..และทำไมจิตสำนึกของพวกเขาในโลกของวันนี้จึงสูญสิ้นไปได้? “ ฟังเสียงเด็กบ้าง”(THE PSALMS OF CHILDREN)...แปลเป็นภาษไทย..ได้อย่าง รอบรู้ หยั่งลึกและละเมียดละไมโดย... “วิมล กมลตระกูล..”..และมี เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว..เป็นบรรณาธิการแปล...หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยข้อมูลอันเป็นเสียงเพรียกของเด็กๆ...ซึ่งสื่อผ่านกระบวนความรู้ทั้งทางด้าน...สังคม สาธารณสุข..ปรัชญาชีวิตทั้งของโลกตะวันตกและตะวันออก...รวมทั้งทฤษฎีทางการแพทย์ ทั้งหมดถือเป็นองค์รวมสำคัญที่ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ในปรารถนาแห่งความเข้าใจของเด็กๆ...หลายๆขณะมันสื่อผ่านออกมาด้วยริ้วรอยของความเจ็บปวด..ในแรงกดดันที่ปะทุออกมาให้เห็นผ่านโครงสร้างแห่งชีวิตของเด็กๆ...หนังสือมีรายละเอียดแห่งการสังเคราะห์โลกในนามของชีวิตและความเป็นมนุษยภาพ ผ่านแง่มุมแห่งความคิดและสำนึกรู้ด้วยมิติอันหลากหลาย เป็นประเด็นที่สมควรได้รับการใส่ใจ...จากทุกองคาพยพของสังคมในวงกว้างซึ่งอาจเป็นพื้นที่ชีวิตที่กว้างใหญ่ต่อโลกทั้งโลก...ในยามที่จริยธรรมและคุณธรรมของสังคมเสื่อมทรุด...ถึงขนาดเด็กอายุ 9 ขวบ ใช้ปืนยิงฆ่าเด็ก 11 ขวบ เพียงแค่เล่นฟุตบอลกันเล่นๆแล้วแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวอันสะเทือนขวัญในบ้านเราเมื่อครั้งอดีต/รวมทั้งกรณีล่าสุดที่นักศึกษาชั้นปีที่1 “น้องใหม่"...ใช้ปืนจ่อยิงหัวรุ่นพี่ปี 3 จนอาการปางตาย ภายในห้องน้ำของมหาวิทยาลัยโดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ ตลอดจนหายนะแห่งอาชญากรรมของโลกกว้างที่อุบัติขึ้นด้วยน้ำมือของฆาตกรผู้เจ็บปวดในชีวิต ที่มีอายุน้อยลงทุกวันๆ ...การถูกกระทำย่ำยีของเด็กๆในโลกสมัยใหม่ทวีสถานะและบทบาทอันขื่นขมเพิ่มขึ้นดั่งฝันร้ายอันชวนตื่นตระหนก...ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเปล่าดายเหมือนการไร้สิ้นความหวัง...แต่สำหรับ...พญ.เออร์ซูลา เอ็ม แอนเดอร์สัน...เธอยังเชื่อว่า...แม้โลกจะตกอยู่กับภาวะวิกฤติทางจิตวิญญาณเช่นนี้ แต่เธอก็ยังหวังว่าจะมีมือแห่งสำนึกของความกรุณาหยิบยื่นเข้ามาช่วยเหลือ มันคือความคาดหวังที่ทำให้สาระเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้...มีแต่สรรพสำเนียงแห่งการเกื้อกูลอันล้ำค่า มีชีวิตชีวา และเป็นแบบอย่างแห่งการเรียนรู้อันสมบูรณ์ต่อการเอาชีวิตรอด เหมือนดั่งที่ องค์ทะไลลามะได้แสดงทรรศนะอันเป็นดั่งแสงสว่างที่สะท้อนถึงความดีงามแห่งจิตใจเอาไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ไปในท่วงทำนองอันงดงามที่ว่า....”ทุกวันนี้เด็กหลายคนเติบโตขึ้นมาในบ้านที่ไร้ความสุข...หากพวกเขาไม่ได้รับความรักอย่างแท้จริง...ในวัยเยาว์แล้ว ต่อไปภายหน้า...พวกเขาก็จะไม่ค่อยรักพ่อแม่และมักจะยากที่จะรักผู้อื่น นี่เป็นเรื่องเศร้าที่สุด...เพราะเด็กไม่อาจรอดชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลจากผู้อื่น ดังนั้น...ความรักจึงเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความสุขในวัยเด็กที่สำคัญที่สุด...” “...แต่เหนือสิ่งอื่นใด...แด่เด็กทั้งหลายผู้ให้บทเรียนแก่ฉัน ในยามสุขและทุกข์....ว่าความรักกับความหวัง และ...ความเชื่อในตัวตนของพวกเขา...คือเสียงเพรียกที่ไม่สิ้นสุด คือสำนึกอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต....ที่คลี่คลายขยายตัวอย่างไม่จบสิ้น...”