ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในปีนี้ ทางอพท. ได้เตรียมส่งแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ 2 แหล่ง คือเทศบาลตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อเข้าชิงรางวัล Sustainable Destinations Top 100 หรือ Top 100 ภายในปี 2565 โดยการจัดอันดับดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สุด แสดงถึงความสำเร็จจากผลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอีก 4 แห่ง ที่ อพท. จะพัฒนามาตรฐานเพื่อส่งเข้ารับการจัดอันดับ Top 100 ในระยะต่อไป ได้แก่ นาเกลือ ในเขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย เกาะหมาก จังหวัดตราด และตำบลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
สำหรับ รางวัล Top 100 จะมาตอบข้อสงสัยในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สามารถจับต้องได้ เนื่องจากรางวัลดังกล่าวมีเกณฑ์การวัดที่ชัดเจน ถึงแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าข่ายได้รับการจัดอันดับ ที่จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ โดยจะวัดผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่นการทำงานอยู่ในงบประมาณ ทรัพยากร และเวลาอันจำกัด จะมีขั้นตอนของการจัดลำดับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ดร.ชูวิทย์ กล่าวถึง ประโยชน์ในเชิงการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดอันดับ Top 100 ว่า สร้างการรับรู้ในแบรนด์ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นในตลาดต่างประเทศ เช่น ถ้าแหล่งท่องเที่ยวที่ส่งเข้าชิงได้รับการจัดอันดับ Top 100 ทางผู้จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ITB ก็จะนำแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวไปทำการตลาดให้ฟรีผ่านเครือข่ายสมาชิกของ ITB ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยคัดเลือกนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายต่อทริปในจำนวนที่สูง
อีกทั้งภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยในด้านความยั่งยืน ก็จะดีและได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับสากล เพราะการจัดอันดับดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพพอที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าคุณภาพ สามารถกระจายรายได้เพียงพอ จนทำให้คนท้องถิ่นสามารถปกป้องประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม สบายใจทั้งผู้ไปเที่ยว ชุมชน ประชากรที่อาศัยในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดคือเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้ประเมินแหล่งท่องเที่ยว ให้ได้รับการจัดอันดับดังกล่าว
นอกจากนี้ใน แผนการผลักดันแหล่งท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่การจัดอันดับ Top 100 ของ อพท. ยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมโดยรวมของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ทั้งในเรื่องภูมิทัศน์ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การปกป้องวัฒนธรรม การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รวมไปถึงกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในเกณฑ์ของ Top100 ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ดร.ชูวิทย์ กล่าวต่อว่า แนวความคิดการจัดอันดับ Sustainable Destinations Top 100 เกิดขึ้นจากความต้องการรับผิดชอบต่อภาคการท่องเที่ยวของคณะผู้จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ITB เพราะที่ผ่านมาจะมุ่งแต่การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จนลืมนึกถึงความยั่งยืน จึงได้หารือกับหน่วยงานที่มีชื่อว่า Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอแลนด์ พร้อมตกลงกันว่าในแต่ละปีที่มีการจัดงาน ITB ควรที่จะสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการที่ดีและมีความยั่งยืน จึงร่วมกันกำหนดเกณฑ์การพิจารณาจำนวน 30 ข้อใน 6 หมวด ได้แก่ การจัดการแหล่งท่องเที่ยว ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทิวทัศน์ ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านความเป็นอยู่ทางสังคม ด้านธุรกิจและการให้บริการ โดยแหล่งท่องเที่ยวที่จะได้รับการจัดอันดับต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 15 ข้อจะได้รับการประกาศผู้ได้รับรางวัล Top 100 ในงาน ITB กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี