ศมส.จัดเทศกาลภาพยนตร์มานุษยวิทยา SAC ANTHROPOLOGY FILM FESTIVAL 2020
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) กล่าวว่า SAC Anthropology Film Festival 2020 หรือเทศกาลภาพยนตร์มานุษยวิทยา เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้นโดย ศมส. ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 นี้ปรับรูปแบบของเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 และงานเทศกาลภาพยนตร์มานุษยวิทยาทัศนา ที่จัดครั้งแรกในปี 2559 มาเป็นงานเทศกาลเดียวกันในชื่องาน “เทศกาลภาพยนตร์มานุษยวิทยา” โดยขยายปริมณฑลของภาพยนตร์ที่จะนำมาจัดฉายในเทศกาล ซึ่งเดิมเน้นเฉพาะภาพยนตร์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปสู่ระดับโลก จัดฉายระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม 2563 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ทางมานุษยวิทยาในทุกมิติ นอกจากจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ความรู้มานุษยวิทยาแล้วนั้น ศมส. หวังว่าเทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าวจะมีส่วนในการสร้างกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจแนวคิดมานุษยวิทยา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อม (environment) ในการเรียนรู้มานุษยวิทยาในสังคมไทยเพื่อเป้าหมายในการส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม
สำหรับโปรแกรมเทศกาลภาพยนตร์ SAC Anthropology Film Festival 2020 ในปีนี้ ศมส.ได้คัดเลือกภาพยนตร์สารคดี 4 เรื่อง ได้แก่ Caballerango (Horse Wrangler), The Tree House (Nhà Cây), Kabul, City in the Wind และ Camp on The Wind’s Road และภาพยนตร์ฟิคชั่นอีก 3 เรื่อง ได้แก่ กระเบนราหู, Isadora’s Children และ This is not a Burial, It’s a Resurrection มาประกอบเป็นโปรแกรมที่กล่าวถึงความเศร้าโศกและการสูญเสียผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลายภายใต้ Theme “Loss and Grief through Cultures” โดยปกติแล้วนั้น ผู้คนมักมองความสูญเสียและความเศร้าโศกว่าเป็นสิ่งเลวร้าย หรือเป็นความล้มเหลวรูปแบบหนึ่งที่จำเป็นต้องปกปิดซ่อนไว้จากสายตาของสังคม นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส Emile Durkheim เสนอว่าปรากฏการณ์นี้มาจากระบบทุนนิยม ที่คอยผลักดันให้ผู้คนหมกมุ่นและต้องการให้สิ่งต่างๆ คงดีอยู่เสมอ สิ่งนี้ทำให้สังคมสมัยใหม่โดยรวมไม่สามารถตระหนักได้ว่าความเศร้าโศกและการสูญเสียของตนนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต
ในปีแห่งสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ผู้คนมากมายต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยไม่อาจทราบได้ว่าสถานการณ์จะเข้าภาวะปกติเมื่อใด ความรู้สึกของการสูญเสียนั้นจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การสูญเสียทางกายภาพ แต่ยังรวมไปถึงการสูญเสียทางจิตวิญญาณและการดำรงอยู่ รวมถึงการสูญเสียในความเชื่อและอัตลักษณ์ด้วย ภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลกที่ศมส. นำมาฉายในเทศกาล SAC Anthropology Film Festival 2020 สะท้อนและสื่อสารแนวคิดดังกล่าวออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ที่หลากหลาย ผู้ชมจะมีโอกาสได้เห็นว่าวัฒนธรรมต่างๆ ทำความเข้าใจและตอบสนองต่อความเศร้าโศกอย่างไร ตลอดจนได้เห็นวิธีการที่หลากหลายที่ผู้สร้างภาพยนตร์เลือกที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านั้น ในการจัดเทศกาลภาพยนตร์ปีนี้ เราหวังว่าโปรแกรมภาพยนตร์จะสร้างพื้นที่และเวลาให้กับผู้ชมภาพยนตร์ ให้ได้มีโอกาสสัมผัสความสูญเสียและโศกเศร้าก่อนที่จะต้องเข้าสู่ภาวะวิถีชีวิตแบบ New Normal
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันนี้-31 สิงหาคม 2563 ดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนได้ที่ www.sac.or.th ติดตามตัวอย่างภาพยนตร์ที่ Facebook Fanpage: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-SAC สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3834