GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเผยให้ภาพพายุ เฮอริเคน ในมุมมองจากอวกาศที่เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก โดยระบุ “ว้าว..!! นี่มันคือเฮอริเคน” เสียงจากนักบินอวกาศ เมื่อมองจากสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา นักบินอวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ พบพายุเฮอริเคนเจเนวิฟนอกชายฝั่งแปซิฟิกของเม็กซิโก มันดูใหญ่มาก.. !! ซึ่งแน่นอนนาซ่าหรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ไม่พลาดที่จะติดตามโดยใช้ดาวเทียม Suomi NPP (ซูโอมิเอ็นพีพี) คอยจับตาดูพายุลูกนี้ รวมถึงพยายามวิเคราะห์โครงสร้างและความรุนแรงของพายุ ทั้งนี้ พายุ คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มี ลม หรือ อากาศ เป็นตัวแปรสำคัญในการเกิดการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว รุนแรง เกิดจากอากาศ 2 พื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน มีความแตกต่างกันของอุณหภูมิค่อนข้างมาก และมีเหตุการณ์อย่างอื่นประกอบร่วมด้วย เช่น อาจจะมีฝนตกหนัก มีลูกเห็บ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น ส่วน “เฮอริเคน” ก็คือพายุประเภทหนึ่ง เป็น 1 ในพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) เป็นพายุขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ ก่อตัวขึ้นในทะเลและมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร โดยก่อตัวขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเลหรือมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส พายุในกลุ่มนี้ จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกินกว่า 100 กิโลเมตร และมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตั้งแต่ 50 ไปจนถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีทิศทางการหมุนของพายุตามแรงที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก โดยพายุหมุนเขตร้อนจะหมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือและหมุนตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ หากพายุโซนร้อนมีความเร็วลมเพิ่มขึ้นและสูงมากกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะมีตาพายุชัดเจน ซึ่งบริเวณศูนย์กลางตาพายุจะฟ้าโปร่ง อาจมีเพียงฝนปรอย ลมสงบ แตกต่างกับสภาพรอบนอกของตาพายุ ความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามระดับไปสู่ขั้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง น้ำท่วมฉับพลันทันที บ้านเรือนพังเสียหาย เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรืออีกด้วย แล้ว “ประเทศไทย” จะมีโอกาสเกิดมั้ย? สำหรับประเทศไทยนั้น มีโอกาสพบเจอพายุหมุนเขตร้อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพายุมักก่อตัวในมหาสมุทร กว่าจะพัดมาถึงบ้านเราพายุก็อ่อนกำลังลง ซึ่งเรื่องราวของการเกิดพายุหากเราศึกษาไว้จะทำให้สามารถวางแผนและรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้...”