กรณีที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการเดินทางโดยเครื่องบินอยู่ในระดับต่ำ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” อ้างอิงผลการวิจัยกลุ่มชาวเกาหลีที่เดินทางกลับมาจากอิตาลี แล้วมีผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อในช่วงวันท้าย ๆ ของการกักตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 หากไม่มีการป้องกันที่ดี หรือผู้โดยสารไม่มีความระมัดระวังตัว ระบุว่า
Bae SH และคณะผู้วิจัยทั้งจากเกาหลีและอเมริกา ได้ทำการศึกษาในกลุ่มชาวเกาหลีในเที่ยวบินที่รับกลับจากอิตาลีเพื่อเดินทางกลับประเทศ จำนวน 2 เที่ยวบิน ประกอบด้วย 299 คน และ 205 คนในวันที่ 31 มีนาคม และ 3 เมษายน 2563 ตามลำดับ
แม้จะมีการตรวจคัดกรองก่อนการขึ้นเครื่อง และให้ใส่หน้ากาก N95 ระหว่างเดินทางแล้วก็ตาม พบว่ามีผู้โดยสารที่ต่อมาได้รับการกักตัว 14 วันหลังเดินทางกลับมาถึงเกาหลี แล้วพบว่าติดเชื้อในวันท้ายๆ ของการกักตัว โดยไม่มีประวัติเสี่ยงอื่นๆ และตรวจครั้งแรกก็ไม่พบเชื้อ
ทีมวิจัยได้ประเมินแล้วพบว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแพร่เชื้อระหว่างเดินทางในเครื่องบิน ทั้งจากการนั่งใกล้กับผู้ที่พบว่าติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และจากการหยิบจับอุปกรณ์ ที่นั่ง การใช้ห้องน้ำร่วมกันในเครื่องบิน และความเสี่ยงในการรับเชื้อระหว่างการกินอาหารซึ่งต้องถอดหน้ากาก
เคสติดเชื้อที่พบในลักษณะเดียวกันนั้น พบในทั้งสองเที่ยวบิน
ดังนั้นจึงย้ำเตือนว่า แม้จะมีการวิจัยก่อนหน้านี้ที่พยายามประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อในเครื่องบินว่าน้อยแล้วนั้น แต่การวิจัยนี้ก็เน้นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการติดเชื้อ หากระบบการป้องกันไม่ดี หรือผู้โดยสารไม่ได้ระวังตัว
การใส่หน้ากากเสมอเวลาเดินทาง...การล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการหยิบจับที่นั่ง สิ่งของสาธารณะ...รวมถึงการเว้นระยะห่างระหว่างกันตั้งแต่การเข้าแถวรอขึ้นเครื่อง ที่นั่งระหว่างเดินทาง และตอนรอลงจากเครื่องบิน ยังคงเป็นนโยบายที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อปกป้องผู้โดยสารในเที่ยวบินไม่ให้เกิดการติดเชื้อโรค COVID-19
ประเทศไทยต้องทำได้