เกษตรกรกลุ่มบ้านโนนสวรรค์ ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด แต่เดิมมีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักและปลูกแบบวิธีเดิมๆ โดยการหว่านข้าว ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนมากในการทำนาแต่ละปี เจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดจึงได้เข้ามาส่งเสริมให้เข้าร่วมกลุ่มโครงการนาแปลงใหญ่ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้คุณภาพ ลดการใช้สารเคมีและลดต้นทุนการผลิตได้ จนปัจจุบันประสบความสำเร็จและต่อยอดเป็นเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนาศูนย์ข้าวชุมชนในรูปแบบแปลงใหญ่
นายคารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ในส่วนที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดดูแลอยู่ก็มีหลายโครงการรวมทั้งโครงการนาแปลงใหญ่ก็เป็นโครงการที่ทางศูนย์ได้สนับสนุนมาตลอด ซึ่งนาแปลงใหญ่ของจังหวัดร้อยเอ็ดครับมีทั้งหมด 149 แปลง มีเกษตรกรร่วมโครงการ1,1000 กว่าราย และมีพื้นที่ดำเนินการอยู่ประมาณ 166.000 ไร่ กลุ่มบ้านโนนสวรรค์นี้ก็เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรักความสามัคคีกันในกลุ่ม ดำเนินงานก็ประสบความสำเร็จในทุกปี การดำเนินงานหลักๆของกลุ่มเป็นผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วก็ผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อจะกระจายให้กับจังหวัดใกล้เคียง หรือในพื้นที่ใกล้เคียงได้นำไปเพาะปลูกในแต่ละปี ในการผลิตเมล็ดพันธุ์
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเมล็ดพันธุ์นี้ขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ กลุ่มบ้านโนนสวรรค์ก็มาถูกทางแล้วเพียงแต่ว่าในการผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น หัวใจหลักก็คือเรื่องคุณภาพ ทางกลุ่มจะต้องรักษาเรื่องนี้ไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปน หรือดอกหญ้าก็ต้องตรวจสอบให้ผ่านมาตรฐาน ฉะนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พี่น้องชาวนานำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นางสาวอติพร อุตตะมะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด กล่าวว่า สำหรับการเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด จะเข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาชุมชน เรื่องของการจัดเวทีชุมชน การบันทึกข้อมูลเกษตรกร การจัดประชุมของหน่วยงานภาคีและผู้นำกลุ่มนาแปลงใหญ่ เพื่อให้ความรู้ในการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและต่อยอดไปสู่กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายนาแปลงใหญ่ได้ใช้เป็นต้นแบบ และพัฒนาผลผลิตโดยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ หัวเชื้อพันธ์ดี ให้กับกลุ่มนาแปลงใหญ่แห่งนี้ มีการสนับสนุนกระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์ 500 ใบ จัดหาตลาดช่วยในการเชื่อมโยงตลาด กลุ่มข้าว GAP ให้มีตลาดเพิ่มมากขึ้น
การรวมกลุ่มของนาแปลงใหญ่ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดส่งเสริมอยู่นั้นมีวัตถุประสงค์ คือ เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตโดยการปลูกพืชบำรุงดิน ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และลดต้นทุนโดยการลดการใช้เมล็ดพันธุ์ลง จากแต่ก่อนหว่าน อาจจะใช้เมล็ดพันธุ์ 25 ถึง 30 กิโลกรัมต่อไร่ ก็จะเหลือแค่ 10 กิโลต่อไร่ก็จะลดต้นทุนได้จำนวนหนึ่ง ลดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและก็สุขภาพดีขึ้นได้อีกด้วย
ด้านนางมัสสา โยริบุตร ประธานกลุ่มวิสากิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของก่อนที่จะเข้ามารวมกลุ่มเป็นนาแปลงใหญ่ แต่ก่อนก็เป็นสมาชิกของศูนย์ข้าวชุมชนซึ่งมีสมาชิกอยู่ 20 ราย ต่อมาก็มีทางเจ้าที่กรมการข้าวศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด เข้ามาแนะนำให้รวมตัวกันประชุมชี้แจงให้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ โดยอธิบายให้เห็นถึงผลที่จะได้รับจากการรวมกลุ่มว่าสามารถลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตได้ก็เลยมีความสนใจและเข้าร่วมโครงการ
ปัจจุบันสมาชิกชาวบ้านโนนสวรรค์ หมู่ 5 มีประมาณ 182 ราย มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 3,000ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิ 2,000 ไร่ ข้าว กข 15 1,000 ไร่ แล้วกลุ่มของเราก็เป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับศูนย์ข้าวจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย เป็นกลุ่มแปลงที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นดีได้มาตรฐานที่เชื่อมั่นได้ของเครือข่าย เนื่องจากชาวบ้านโนนสวรรค์มีสมาชิกอยู่เยอะ จึงต้องแยกเป็นกลุ่ม 1 กลุ่มมีสมาชิกอยู่ประมาณ 30 ราย แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้มีการตั้งกรรมการกลุ่มย่อย 6 กลุ่มที่รับผิดชอบสมาชิกของตัวเองแต่ในละกลุ่ม นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่กรมการข้าวก็เข้ามาสนับสนุนในด้านเมล็ดพันธุ์ ด้านวิชาการ ความรู้ แล้วก็ด้านเครื่องหยอด เครื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ที่ลดต้นทุนการผลิตให้ทางกลุ่ม ทางกลุ่มก็มีความภูมิใจและจะร่วมกันพัฒนาต่อยอดให้ได้มาตรฐานแบบนี้ต่อไป
นอกจากเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วยังมีการแปรรูปเป็นข้าวสาร แพ็คบรรจุเพื่อจำหน่าย และนำข้าวที่ไม่ผ่านการตรวจสอบมาแปรรูปเป็นขนมโดนัท เพื่อหารายได้เสริมในช่วงว่างเว้นจากการทำนา มีตลาดหลากหลายช่องทางและตั้งราคาเองได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จากการรวมกลุ่มเป็นนาแปลงใหญ่ ส่งผลให้วันนี้เกษตรกรกลุ่มวิสากิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น มีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ในครัวเรือนก็ดีขึ้น และบริหารจัดการกลุ่มได้อย่างครบวงจร