สมาคมประกันวินาศภัยไทยจี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบควรหันมาประเมินความเสี่ยงใหม่ทั้งระบบ ก่อนนัดถกกับบริษัทประกันเพื่อหาทางรับมือกับการทำประกันคุ้มครองภัยแฮกเกอร์ ชี้คงจะทำประกันคุ้มครองแค่บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตสูญหายจากถูกขโมยไปกดหรือโจรกรรมข้อมูลแบบธรรมดาต่อไปไม่ได้แล้ว เนื่องจากความเสียหายวงกว้างขึ้น จากกรณีธนาคารออมสินได้ถูกคนร้ายใช้โปรแกรมมัลแวร์โจรกรรมเงินในตู้กดเงินสดอัตโนมัติ หรือ ตู้เอทีเอ็ม (ATM) ไปกว่า 12 ล้านบาท โดยไม่ใช่การโจรกรรมจากบัญชีลูกค้า แต่เป็นการโจรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม ซึ่งธนาคารได้ทำประกันไว้ และบริษัทประกันยินดีรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด พร้อมกับกำลังหารือกับบริษัทประกันอีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางการรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว และความจำเป็นในการเพิ่มความคุ้มครอง เพราะถือเป็นกรณีใหม่ของโลก ต่อกรณีนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า คงจะถึงเวลาแล้วสำหรับธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะต้องรับมือกับภัยแฮกเกอร์ โดยสมควรจะต้องซื้อประกันภัยไซบอร์เอาไว้คุ้มครองกับภัยแฮกเกอร์รูปแบบใหม่ที่กำลังมหันตภัยใกล้ตัวขึ้นทุกขณะ โดยธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบคงต้องไปประเมินความเสี่ยงของธนาคารใหม่ทั้งระบบว่า มีความเสียหายประมาณเท่าไหร่ และเสียหายจุดใดบ้าง จึงจะมากำหนดรูปแบบให้ความคุ้มครองได้ถูกต้อง เพราะขณะนี้ภาคธุรกิจประกันภัยไม่อาจทราบได้ เมื่อธนาคารพาณิชย์สามารถประเมินความเสี่ยงจากภัยแฮกเกอร์ที่คุกคามมีอะไรบ้าง จากนั้นจึงค่อยมานั่งคุยกันกับบริษัทประกันภัย เพราะธนาคารพาณิชย์จะประกันในรูปแบบเดิมๆที่ให้ความคุ้มครองบัตรเอที หรือบัตรเครดิตหาย หรือถูกปลอมแปลงแล้วนำไปรูด หรือกรณีถูกลักทรัพย์จากการทุบตู้เอทีเอ็ม หรือการขโมยโดยใช้ไฟตัดแบบเดิมๆไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาความเสียหายจากการเคลมสินไหมของบริษัทประกันก็ไม่เท่าไหร่ หากมีเพียง 1-2 ใบเท่านั้น ซึ่งต่างจากปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไป ภัยแฮกเกอร์ได้คุกคามเข้าไปทั้งระบบของตัวธนาคาร ดังนั้นทุกธนาคารจะต้องหันมาประเมินความเสี่ยงทุกจุดของตัวเองว่ามีขอบเขตความเสียหายสักเท่าไหร่ มันถึงจะมากำหนดความคุ้มครองให้สอดคล้องข้อเท็จจริงได้ “แบงก์ต่างๆคงจะทำประกันวงเงินคุ้มครองความเสียหายในแบบเดิมๆแค่ประกันบัตรสูญหาย หรือเงินในบัตรลูกค้าสูญหายไม่กี่รายเล็กๆน้อยๆปีหนึ่งๆต่อไปไม่ได้แล้ว โดยแบงก์ซื้อประกันเพียงหลักพันล้าน คงไม่พอแล้ว เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยแฮกเกอร์เป็นหลักหมื่นๆล้าน ซึ่งเวลาเกิดเหตุมันรวดเร็วมาก และขยายวงกว้าง เพราะฉะนั้นแบงก์ต้องไปประเมินความเสี่ยงตัวเองใหม่ออกมาได้เสียก่อน อย่างกรณีเอทีเอ็มในตู้เครื่องที่เหลือใช้งานได้ และใช้งานไม่ได้ จะให้คุ้มครองยังไง และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า มีโปรแกรมควบคุม และหากโปรแกรมขัดข้อง จะต้องดูรับผิดชอบกันอย่างไร โดยเฉพาะหลังเกิดการแฮกเกอร์เสียหายเกิดขึ้นแล้ว ประกันจะรับความเสี่ยงขนาดไหน ซึ่งมันต้องระบุความเสี่ยงออกมาก่อนให้ชัด จึงจะดีไซน์หรือกำหนดออกรูปแบบกรมธรรม์ออกมาได้ถูก”นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าว