ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: บทเรียนรื้อถอน บูรณะโบราณสถาน กับคำอ้าง “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” กรมศิลป์เชิงรุกมากขึ้น บ่อยครั้งเรื่องการรื้อ ถอน บูรณะ อาคาร ศาสนโบราณสถานแล้วเกิดผิดพลาด มักได้ยินคำตอบ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เป็นคำอ้างที่คลาสสิก อย่างกรณี ลายรดน้ำบนประตูวิหารวัดหมื่นล้าน จังหวัดเชียงใหม่ ที่แม้ว่าผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บูรณะบานประตูวิหารเพราะอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ขาดความเข้าใจหลักการอนุรักษ์ ช่างได้ทาสีทาทับลงทั้งบาน จนกลบคุณค่าลายรดน้ำ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ฯ และกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร กำลังดำเนินการลอกสีที่ทาทับบานประตูนี้ออก เพื่อฟื้นคืนสภาพลายรดน้ำเดิมให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ ยังมีศาสนถานโบราณอีกหลายแห่ง ที่ช่างทาสีใหม่ลงอุโบสถและวิหารทั้งหลัง เช่นวัดเก่าแก่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เป็นข่าวก่อนหน้านั้น หรือแม้แต่กรณีการรื้อถอนอาคารสำนักงานบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จ.แพร่ ที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ และคงจะมีอาคารเก่า ศาสนสถาน โบราณสถานที่บูรณะแล้วเกิดการผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อีกไม่น้อยที่กรมศิลปากรเข้าไปตรวจไม่ทั่วถึงและที่ไม่เป็นข่าว คืนสภาพลายรดน้ำบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน จ.เชียงใหม่ , ภาพ เพจเฟซบุ๊ก สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เรื่องรื้อถอน ซ่อมแซมโบราณสถานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่ได้มีการรื้อถอน ทำลาย โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เอกชน และศาสนสถานต่างๆ รวมถึงประชาชน ด้วยปัจจัยหลายประการ รวมถึงไม่ได้มีการขออนุญาตดำเนินการใดๆ จากกรมศิลปากร ทำให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน ทั้งในเชิงการอนุรักษ์ และพัฒนา ในเรื่องดังกล่าว ตนเห็นว่ามีความสำคัญที่กรมศิลปากรต้องเร่งกวดขัน และทำความเข้าใจกับผู้ครอบครอง จึงได้สั่งการให้กองโบราณคดี สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักศิลปากรที่ 1 – 12 ซึ่งดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จัดทำหนังสือแจ้งแนวทางปฏิบัติและหน้าที่ของผู้ครอบครองโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปยังผู้ครอบครองทั่วประเทศแล้ว แหล่งภาพ ที่มาเดียวกัน อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า จากการสอบถามกับเจ้าของ หรือผู้ครอบครอง โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้รับทราบคำตอบที่น่าตกใจ ไม่เคยทราบว่าทรัพย์สินของตนเองเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมทั้งไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหน้าที่ตามกฎหมายจากกรมศิลปากร ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วย จึงได้สั่งการให้กองโบราณคดี และสำนักศิลปากรทั่วประเทศ เร่งส่งบัญชีรายชื่อโบราณสถานที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพื่อจัดทำเป็นประกาศรายชื่อและจะส่งบัญชีรายชื่อที่ได้ประกาศแล้ว ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับทราบสิทธิต่างๆ รวมถึงข้อปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้จัดทำประกาศรายชื่อรอบแรกภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และจะเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไปเป็นระยะ หากมีการแจ้งผู้ครอบครองไปแล้วยังกระทำการใดๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ก็จะมีการแจ้งความดำเนินคดีอย่างจริงจัง โดยไม่มีข้อยกเว้น แหล่งภาพ ที่มาเดียวกัน “เราได้บทเรียนกรณีการรื้อถอนอาคารสำนักงานบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จ.แพร่ ซึ่งกระทำการโดยไม่ขออนุญาต จึงได้มอบนโยบายเชิงรุก ต่อจากนี้ให้ทุกหน่วยงานของกรมศิลปากรลงพื้นที่ชี้แจง ให้ความรู้ ความเข้าใจ ถึงแนวปฏิบัติต่อโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วและยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้ทราบทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ว่าทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองดูแลนั้น ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ในฐานะมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีคุณค่า ควรแก่การอนุรักษ์และสืบทอด และยังเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาแก้ไขปัญหาการรื้อถอนทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ลดจำนวนลงได้” ประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว บทเรียนรื้อถอน บูรณะโบราณสถาน กับคำอ้างคลาสสิก “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” กรมศิลป์เชิงรุกมากขึ้น