จากรายงานวิจัยของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ พบว่า Airbnb มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงในประเทศไทย โดยสร้างเม็ดเงิน 4.37 หมื่นล้านบาทให้กับจีดีพีไทยและทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 113,300 ตำแหน่ง โดย 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558-2562 มีนักเดินทาง Airbnb จับจ่ายในประเทศกว่า 1.5 แสนล้านบาทกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังได้ผลักดันการจ้างงานเกือบหนึ่งล้านตำแหน่งในเอเชียแปซิฟิก และสร้างเม็ดเงิน 7.03 แสนล้านบาทให้กับจีดีพีของภูมิภาคในปีที่ผ่านมา
เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่ท่องเที่ย
ทั้งนี้ นายไมค์ ออร์กิล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Airbnb กล่าวว่า ชุมชน Airbnb มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยเติบโต รวมถึงส่งเสริมและสร้างงานในท้องถิ่นหลายหมื่นตำแหน่ง แม้ในรายงานฉบับนี้จะเป็นข้อมูลย้อนหลัง แต่ก็น่าจะช่วยให้เกิดการพิจารณาด้านระเบียบที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยร่วมมือกับทางภาครัฐ บริษัทตัวแทนท่องเที่ยว ชุมชนต่างๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละท้องที่ในไทย เพื่อช่วยฟื้นฟูการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อเตรียมพร้อมในการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ขณะที่ นายเจมส์ แลมเบิร์ต ผู้อำนวยการด้านที่ปรึกษาเศรษฐกิจในเอเชีย อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า Airbnb มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้เกิดการใช้จ่ายกลับคืนสู่เศรษฐกิจในพื้นที่ที่ไปเยือน โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางไทยที่ต้องการท่องเที่ยวในประเทศแทนการเดินทางต่างประเทศในปัจจุบัน รวมถึงค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวใหม่เพิ่มเติม Airbnb สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเดินทางอยากเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่จุดยอดฮิต หรือยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ด้วยการมีที่พักและการจัดประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่นไม่เหมือนใคร นอกจากนั้น Airbnb ยังโดดเด่นในเรื่องของการปรับตัว ความยืดหยุ่น และ ราคาอันย่อมเยา ซึ่งหมายถึงสามารถช่วยเร่งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจาก Airbnb มีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มที่พักในจุดหมายปลายทาง รวมถึงยังช่วยสร้างตลาดท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้อีกด้วย
เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม นายเจมส์ กล่าวต่อว่า การให้เช่าที่พักระยะสั้นเป็นการขับเคลื่อนการเติบโตและโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรายงานวิจัยของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ที่สนับสนุนโดย Airbnb พบว่า Airbnb ได้กลายเป็นเสาหลักสำคัญทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยช่วยผลักดันให้เกิดประโยชน์ ทางเศรษฐกิจและเปิดโอกาสให้ครอบครัว ธุรกิจขนาดเล็ก และชุมชนต่างๆ สร้างรายได้จากการให้เช่าที่พักระยะสั้น
ซึ่งในรายงานยังเน้นย้ำถึงผลกระทบเชิงบวกที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับจากการจับจ่ายของนักเดินทาง ในขณะที่ Airbnb ช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชน ในปี 2558 -2562 ซึ่งนักเดินทาง Airbnb ในประเทศไทยได้ใช้จ่ายเป็นจำนวนรวม 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.8% ต่อปี และในปีที่ผ่านมา นักเดินทาง Airbnb ได้มีการใช้จ่ายกว่า 1.96 หมื่นล้านบาทไปกับร้านอาหารและร้านค้าในท้องถิ่น โดยทุกๆ 1,000 บาทที่จ่ายให้กับ Airbnb นักเดินทางจะใช้จ่ายอีก 420 บาทไปกับธุรกิจท้องถิ่น ขณะที่รายงานดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นถึง ข้อเท็จจริงที่ว่า Airbnb ช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวมาสู่ชุมชน เห็นได้จากการจับจ่ายกว่า 9% ที่เกิดขึ้นนอกเมืองหลักในปี 2562
นักเดินทางมีตัวเลือกหลากหลาย
พร้อมกันนี้ นายเจมส์ ยังกล่าวว่า ประเทศไทยมีที่พัก Airbnb กว่า 99,000 แห่ง โดยได้ต้อนรับนักเดินทางกว่า 2.5 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้น 27% เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปีและเพิ่มเกือบ 8 เท่าจากปี 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักเดินทางต่างต้องการตัวเลือกที่พักที่หลากหลาย ส่วนนักเดินทาง Airbnb จากต่างประเทศมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 20,376 บาทต่อทริป และนักเดินทาง Airbnb ในประเทศมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 18,076 บาทต่อทริป
สำหรับตลาดนักเดินทางจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยวของโลก ด้วยสัดส่วนของนักเดินทาง Airbnb จากตลาดต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดในปี 2562 ได้แก่ จีน 38% สหรัฐอเมริกา 11% ฮ่องกง 5% เกาหลีใต้ 4% และ สิงคโปร์ 4% ซึ่งจากรายงานวิจัย พบว่า Airbnb มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอัตราที่เร็วกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยทั่วไป ด้วยการสร้างเม็ดเงินรวมมูลค่า 7.03 แสนล้านบาทให้กับจีดีพีของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค โดยก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งหมด 925,600 ตำแหน่งในเอเชียแปซิฟิก หรือคิดเป็น 1% ของการจ้างงานรวมในภาคการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาค