คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น คำว่า “สังฆะ” คือคำว่าสงฆ์ในภาษาไทย ที่แปลว่า “หมู่” แต่ไม่ใช่คณะ ที่หมายถึง 2-3 คน คำนี้ ภาษาไทยมักจะเอามาใช้เรียกพระภิกษุ คือคำว่า “พระสงฆ์” ในภาษาบาลี ถ้ากล่าวถึงหมู่ภิกษุ(ภิกษุจำนวนมากกว่า 2-3 รูป) ใช้คำว่า “ภิกขุสงโฆ” ในที่นี้ หมายถึง “สงฆ์” (ซึ่งมีผู้ใช้คำว่า “สังฆะ”) มีผู้กล่าวว่า ประชาธิปไตย (ตามทฤษฎีตะวันตก) ซึ่งหมายถึงเอาเสียงข้างมากของประชาชนเป็นใหญ่ เป็นการปกครองใน “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้า มักจะอธิบายว่า ในระบอบสังฆะของพระพุทธเจ้า ก็ใช้เสียงข้างมากในสังฆกรรมต่างๆ แต่ความจริงที่น่าพิจารณา คือ ระบอบสังฆะของพระพุทธเจ้าไม่ตรงกับ “ระบอบประชาธิปไตย” แบบตะวันตกเสียทีเดียว เพราะในระบอบประชาธิปไตยแบบ democracy (ของฝรั่ง) มักจะคำนึงถึงแต่ “เสียง” ข้างมาก แม้ว่าเสียงข้างมากนั้นจะสร้างความขัดแย้งและความแตกแยกของประชาชนก็ตาม ส่วนในระบอบ “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้า ไม่เกิดจากความขัดแย้งหรือความแตกแยกในหมู่ภิกษุ จึงเห็นความต่างระหว่างระบอบ “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้ากับระบอบประชาธิปไตยแบบ democracy ของฝรั่ง การบัญญัติคำว่า “ประชาธิปไตย” เพื่อหมายถึง democracy ทำให้ชาวพุทธนึกเปรียบประชาธิปไตยกับคำสอนเรื่อง “อธิปไตย” ของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา แล้วชาวพุทธก็เข้าใจว่า คำสอนเรื่อง “อธิปไตย” ของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนเรื่องการปกครอง(ในทางโลก) บางท่านและหลายท่านเห็นว่า ประชาธิปไตย คือ “โลกาธิปไตย” (ใน “อธิปไตย” 3) และพยายามที่จะแปลให้โลกใน “โลกาธิปไตย” ว่าหมายถึง “ประชาชน”และแปล “อัตตาธิปไตย” ว่าถือตนเป็นใหญ่ แล้วสรุปว่า อัตตาธิปไตย คือระบอบเผด็จการ แต่ความจริงคำสอนเรื่อง “อธิปไตย 3” ของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการปกครองใดๆเลย กล่าวคือ โลกาธิปไตยกล่าวถึงการที่พระผู้ปฏิบัติธรรม พิจารณาเห็นคนอื่น (หรือโลก) แล้วปฏิบัติธรรม อัตตาธิปไตยกล่าวถึงการที่ผู้ปฏิบัติธรรม คำนึงถึงตนเอง (ว่ามีความพร้อมอย่างไร) แล้วปฏิบัติธรรม อีกข้อหนึ่งที่มักจะมีผู้เข้าใจว่า ธัมมาธิปไตย คือการปกครองที่เอาธรรม (ความถูกต้อง) เป็นใหญ่ แต่พระพุทธเจ้าหมายถึงการที่ผู้ปฏิบัติธรรมพิจารณาเห็นธรรม(หลักการล้วนๆ) แล้วปฏิบัติธรรม โดยสรุปคือ ไม่ว่าจะเป็น “โลก” (คนอื่น) หรือ “อัตตา” (ตนเอง) และไม่ว่าจะเป็น “ธรรม” ในคำสอนเรื่อง “อธิปไตย 3” ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี เมื่อพิจารณาเห็นแล้วปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าให้เอา “โลก” และ “อัตตา” และ “ธรรม” เป็นสื่อเพื่อให้เกิดการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ดีเลวต่างกันอย่างไร เพราะบางครั้ง คนเราเห็นคนอื่นแล้วคิดได้ บางคนคิดถึงตัวเองแล้วคิดได้ บางคนเอาธรรมมาพิจารณาแล้วคิดได้ เห็นได้ชัดว่า คำสอนเรื่อง อธิปไตยไม่เกี่ยวกับการปกครองใดๆเลย คำที่บัญญัติว่า “ประชาธิปไตย” (แทนคำว่า democracy ทำให้เข้าใจผิดว่า คำสอนเรื่องอธิปไตย เป็นคำสอนเรื่องการปกครองและคิดไปว่า “ธัมมาธิปไตย” เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด และบางท่านอ้างว่า พระพุทธเจ้าตรัสยกย่องธัมมาธิปไตยด้วย! เท่าที่นึกทบทวนเห็น พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเรื่องรูปแบบการปกครองใดๆไว้เลย ว่าไปแล้ว ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าอยู่ท่ามกลางการปกครองของพระราชา หรือกษัตริย์ทั้งนั้น ไม่เคยปรากฏว่า พระพุทธเจ้ายกย่องการปกครองของพระราชาองค์ใดว่าดีเด่นกว่าใคร ทั้งๆที่การปกครองในสมัยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการปกครองแบบเผด็จการทั้งนั้น (แม้แต่การปกครองของแคว้นวัชชี ซึ่งปกครองโดยคณะพระราชวงศ์ลิจฉวี ก็เป็นการปกครองแบบเผด็จการอยู่นั่นเอง) แสดงว่าไม่ว่าจะเป็นการปกครองรูปแบบใด จะดีหรือเลว ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ปกครองหรือพระราชา และแสดงว่า การปกครองแบบเผด็จการของพระราชา ก็ทำให้บ้านเมืองอยู่รอดได้ ท่านพุทธทาสภิกขุ จึงกล่าวว่า การปกครองโดยเผด็จการก็อาจจะดีได้ ถ้าผู้เป็นเผด็จการปกครองดี หรือปกครองโดยธรรม เรื่องนี้น่าคิด! การปกครองทางโลก บางประเทศปกครองโดยระบอบเผด็จการก็ไปได้ดี บางประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ก็ไปได้ดี แต่การปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้า คงจะต่างจากการปกครองของฝ่ายบ้านเมือง(ทางโลก) โดยสิ้นเชิง และดูเหมือนพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเรื่องการปกครองแก่ฝ่ายบ้านเมืองโดยตรง มีผู้พยายามจะบอกว่า การปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้าเป็นระบอบอย่างนั้นอย่างนี้ บ้างก็ว่าไปกันได้กับระบอบราชาธิปไตย บ้างก็ว่าไปได้กับระบอบประชาธิปไตย แต่ผมมีความเห็นว่า ระบอบการปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้าเป็นระบอบ “สังฆะ” คือต่างจากทั้งระบอบราชาธิปไตย (เผด็จการ) ทั้งระบอบประชาธิปไตย เพราะพระพุทธเจ้าเริ่มจากวินัยสงฆ์ (พุทธบัญญัติ) และเริ่มจากคุณธรรมส่วนบุคคล เริ่มจากคุณสมบัติของสงฆ์ 2 ประการ คือ ความมีศีล(ความประพฤติ)เสมอกัน และการมีความเห็น (ทิฏฐิ-ความเชื่อ) เสมอกัน ซึ่งทางโลกทำไม่ได้ ความพยายามใดๆ ก็ตามของทุกระบอบการปกครองทางโลก คงยากที่จะไม่ให้มีการประพฤติทุจริตได้ จะมีได้ก็แต่โดยกฎหมาย ซึ่งก็จะมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย อย่างตรงไปตรงมาจนได้ อย่างที่เกิดขึ้นในวงการนักปกครองตลอดมา น่าสังเกตว่า ตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า ไม่เคยมีเรื่องการเข้าไปแทรกแซงการปกครองของฝ่ายบ้านเมืองเลย ในพระไตรปิฎก(บาลี) ก็ไม่มีการกล่าวถึงการดำเนินการด้านการปกครองของพระราชาแต่อย่างใด แม้แต่กรณีพระเทวทัตเข้าไปคบคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรู(สมัยเป็นรัชทายาท) พระไตรปิฎกก็ไม่กล่าวถึงวิธีคิดของฝ่ายพระราชวังแต่อย่างใด แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่สนใจด้านการปกครองของฝ่ายบ้านเมือง และไม่มีการห้ามปรามพระเทวทัตด้วย มีแต่การแก้ไขในฝ่ายสงฆ์เอง (คือให้พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ไปจัดการกับพระเทวทัตให้เรียบร้อย) มานึกถึงการปกครอง (ในระบอบประชาธิปไตย) ของไทย น่าสังเกตว่า ความแตกแยกในสังคม น่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจใน “สมมติ” ของคนไทย “สมมติที่ว่านั้น มีทั้งเรื่อง “สถาบัน” และเรื่อง “ระบอบการปกครอง” มีบางคนและบางฝ่าย ไม่เข้าใจว่า “สถาบัน” เป็นสิ่งสมมติและระบอบการปกครองก็เป็นสิ่งสมมติ คำว่า “สมมติ” หมายถึงการยอมรับและตกลงปลงใจร่วมกันว่า สิ่งนั้นๆ เรามีความเห็นร่วมกันว่าจะไปทางเดียวกัน เช่น มีความเห็นร่วมกันใครเป็นพระราชา(ผู้ปกครอง) ก็ยกย่องผู้นั้น (จึงมีคำว่า “สมมติเทพ”) มีความเห็นร่วมกันว่า จะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองชนิดใด ก็ยอมรับในกฎกติกาที่จะอยู่ด้วยระบอบการปกครองนั้น แต่ด้วยกิเลสของแต่ละคน แม้จะมี “สมมติ” ที่ดีแล้ว ก็มีผู้ทำลาย “สมมติ” นั้นไม่สิ้นสุด คือมีการสร้างความแตกแยกจนได้ คนที่มีกิเลสในการสร้างความแตกแยก เห็นจะมีอยู่ไม่น้อย แม้แต่ “สี” เขาก็สามารถเอามาเป็นชนวนให้คนแบ่งแยกกันได้ ผมไม่เห็นด้วยกับความเข้าใจว่า การปกครองสงฆ์แบบ “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้า เหมือนระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นเผด็จการ เพราะการปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้า อยู่คนละพื้นที่กับการปกครองทางโลก พระพุทธเจ้าทำ “สังฆะ” เพื่อความสงบสุขของสงฆ์ ส่วนระบอบประชาธิปไตยทางโลกและระบอบเผด็จการในการปกครองทางโลก อยู่ท่ามกลางกิเลสและอำนาจ จึงไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ เห็นได้ชัดก็คือ ในระบอบ “สังฆะ” ให้ความเคารพซึ่งกันและกันตามอายุพรรษา เป็นระบบเคารพในเรื่องอาวุโส ส่วนการปกครองทางโลก จำเป็นต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ คำว่า “สังฆทาน” เป็นการสะท้อนรูปแบบการปกครองของพระพุทธเจ้าได้อย่างดี เป็นการเห็นความสำคัญของสงฆ์(สังฆะ) ยิ่งกว่าเห็นแก่ส่วนบุคคล(แม้แต่พระพุทธเจ้า) พุทธศาสนาจึงไม่เอากาลเวลาเป็นอายุของพระธรรมวินัยและของโลก(โลกธาตุ) ไม่มีการพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับอายุกาลของโลกและพระศาสนา แม้แต่คำว่า “พรหมจรรย์” พระพุทธเจ้าก็บอกชัดว่า หมายถึงการปฏิบัติในมรรคมีองค์ 8 (อัฏรังคิกมัคค์) ไม่ใช่ “พรต” หรือการถือปฏิบัติเคร่งอย่างในศาสนาอื่น อันแสดงว่า “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้าเป็นรูปแบบการปกครองสงฆ์โดยเฉพาะ ไม่ควรและคงไม่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้เป็นการปกครองทางโลกได้ เพราะวัตถุประสงค์ต่างกัน และแม้ว่าพระราชาในสมัยพุทธกาลจะเห็นว่า ระบอบ “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้าจะมีส่วนดีมากมาย ก็ไม่ปรากฏมีแคว้นใดนำระบอบการปกครองแบบ “สังฆะ” ไปใช้ เพราะคงรู้ดีว่าเป็นระบอบการปกครองของนักบวชโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม อยากให้พระสงฆ์ในพุทธศาสนาอยู่อย่างเข้าใจ ในระบอบการปกครองแบบ “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้า คือ อยู่อย่างเคารพรักใคร่กันในหมู่สงฆ์ อย่าเป็นแบบการปกครองของระบอบ “ราชาธิปไตย” และแม้แต่ระบอบ “ประชาธิปไตย” ของทางโลก ซึ่งมีธรรมชาติอย่างหนึ่งเสมอ คือความขัดแย้งวุ่นวาย ไม่รู้จบสิ้น คงยากที่จะให้การปกครองทางโลก ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดๆเป็นอย่างระบอบ “สังฆะ” ได้