ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล การเป็นทหารก็เหมือนการบวชเรียน คือหน้าที่ของลูกผู้ชาย อภิชาติเคยบวชมาแล้ว เขาบวชเมื่อปีกลายก่อนการเกณฑ์ทหาร ที่จริงเขาต้องเกณฑ์ทหารเมื่อปีที่แล้ว แต่แม่ของเขามาเสียชีวิตพอดี เขาจึงได้รับการผ่อนผันแล้วมาถูกเกณฑ์ในปีนี้ แม่ของเขาป่วยอยู่นาน โดยเป็นโรคยอดฮิตของคนแถวภาคอีสาน อันเนื่องมาจากความกันดารและแห้งแล้ง นั่นก็คือโรคนิ่ว ที่คนอีสานต้องหาน้ำกินอย่างยากลำบาก ส่วนใหญ่ต้องขุดน้ำกินน้ำจากบ่อ แม่ของเขาบ่นปวดท้องปวดหลังอยู่เป็นปี ก่อนที่จะทรุดลงเจ็บปวดจนเดินไม่ได้ เมื่อหามกันไปหาหมอในเมืองโคราช จึงพบว่ามีก้อนหินขนาดต่างๆ จำนวนมากอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ หมอให้ผ่าตัด หลังผ่าตัดแผลยังไม่หายดีแต่ต้องมารักษาตัวเองต่อที่บ้าน เพราะต้องทำให้เตียงว่างเพื่อจะรับผู้ป่วยที่ป่วยหนักกว่าให้มานอนแทน กลับมาที่บ้านทุกวันต้องทำแผล โดยหามกันไปทำที่อนามัยตำบล บางวันก็ไม่ได้ทำเพราะเจ้าหน้าที่อนามัยต้องไปเกี่ยวข้าว ต่อมาก็ฝึกทำกันเองจากการสอนของเจ้าหน้าที่คนนั้น หลายวันต่อมาแผลก็ติดเชื้อขึ้นมาอีก แม่มีไข้สูงไม่รู้สึกตัวต้องหามไปที่โรงพยาบาลในเมือง และเสียชีวิตก่อนที่จะเดินทางไปถึงมือหมอ ในตอนที่บวช อภิชาติคิดแต่ว่าเขาได้สร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ คือบวชทดแทนบุญคุณให้แก่บุพการี รวมถึงเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่แม่ที่ล่วงลับ จะได้เป็นปัจจัยนำให้แม่ไปสู่ภพใหม่เพื่อมีชีวิตที่ดีกว่าในชาติหน้า แต่พอได้เห็นชาวบ้านและญาติพี่น้องมากราบไหว้ ก็รู้สึกเหมือนว่าพระนี่ต้องเป็นผู้วิเศษจริงๆ ซึ่งหลวงพ่อที่เป็นพระอุปัชฌาย์บอกว่าเขาไม่ได้กราบตัวเราหรอก เขากราบในศีลในธรรมที่ครองตัวเราอยู่ โดยมีผ้าเหลืองที่หุ้มตัวเราอยู่นี้เป็นสัญลักษณ์ พอเขามาเป็นทหารได้มองคนที่แต่งเครื่องแบบทหาร แล้วก็บอกกับตัวเองว่า อ๋อ ที่เขาเคยเกรงกลัวทหารก็เพราะไอ้เครื่องแบบทหารนี่เอง ไม่ได้กลัวคนที่เป็นทหารแต่อย่างใดไม่ เพราะทหารก็แค่คนๆ หนึ่ง พอใส่เครื่องแบบแล้วก็เตะคนได้ ซ้อมคนได้ อย่างที่ทำกับทหารเกณฑ์อย่างพวกเรานี้ ในบ่ายวันแรกที่กองร้อยฝึก เมื่อพวกเรา 200 กว่าคนมานั่งอยู่ในห้องใต้ถุนอาคารที่พักที่ใช้เป็นห้องประชุมด้วยนี้ บรรยากาศทั่วไปดูอึดอัด แม้จะร้อนอบอ้าวแต่ผมก็รู้สึก “หนาว” มากๆ ที่อาจจะเป็นเพราะได้มานั่งอยู่ในที่นั่งแถวหน้า ครูฝึกคนหนึ่งเดินเข้ามาหยุดอยู่หน้าห้องแล้วพูดด้วยเสียงดังมากๆ ว่า “ทำความเคารพผู้บังคับบัญชา ทั้งหมด..ตรง” พวกเรายืนขึ้นอย่างเก้ๆ กัง ยังไม่ค่อยเป็นระเบียบมากนัก พอได้ยินเสียงว่านั่งลง ก็ได้ยินเสียงครูฝึกคนนั้นพูดอะไรต่อไปอีกมากมาย บางช่วงที่จับความได้คือกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องทำเมื่อมาอยู่ในกองร้อยฝึกนี้ ทหารเกณฑ์บางคนเผลอหลับด้วยความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องออกเดินทางมาแต่เช้า ก็ถูกครูฝึกที่ยืนคุมอยู่รอบๆ เข้าไปตบหลังแล้วขู่ด้วยเสียงอันดัง บรรยากาศก็เลยยิ่งดู “หนาว” มากขึ้นไปอีก เมื่อครูฝึกคนที่พูดอยู่หน้าห้องพูดจบแล้ว ก็ชี้ไปที่ทหารใหม่ที่นั่งอยู่แถวหน้าซ้ายสุด ก่อนที่จะพูดว่า “ลุกขึ้น ไหนลองพูดดังๆ ซิ ทำความเคารพผู้บังคับบัญชา ทั้งหมด..ตรง” ทหารใหม่คนนั้นคงตื่นเต้น พูดตะกุกตะกักไม่เป็นคำ จึงถูกบอกให้นั่งลง “อ้าว คนไหนคิดว่าตัวเองเสียงดังกว่านี้ ออกมาทดลองดูซิ” ช่วงนั้นผมรู้สึกคันที่หู กำลังจะเอามือไปเกา ก็ต้องสะดุ้งเพราะครูฝึกที่อยู่ตรงหน้าผมบอกว่า “อ้าว ยืนขึ้นมาเลย ไหนพูดให้ดังที่สุดซิ” ผมนึกถึงตอนที่ซ้อมเชียร์ในมหาวิทยาลัย จึงตะโกนออกไปเต็มเสียง ก่อนที่จะมีเสียงปรบมือจากครูฝึกคนนั้น แล้วบอกว่า “เออ ใช้ได้ว่ะ ไหนบอกชื่อมาซิ มาจากไหน ที่บ้านทำอะไร” ผมบอกชื่อและจังหวัดที่มา แล้วก็บอกว่าเพิ่งจบมาจากมหาวิทยาลัย สมัครเข้ามาเป็นทหารเองโดยไม่ได้จับใบดำใบแดง “เอ็งอยากเป็นทหารมากล่ะซี เอ้า เป็นหัวหน้าตอนไปเลย” “หัวหน้าตอน” ก็คล้ายๆ กับ “หัวหน้าห้อง” คือเป็นหัวหน้าในหมู่ทหารใหม่ทั้ง 200 กว่าคนนั้น มีหน้าที่ช่วยเหลือครูฝึกในการ “รายงานและดูแล” ปัญหาของบรรดาทหารใหม่ทั้งหลาย โดยพวกเราที่เป็นทหารใหม่เข้ามาผลัดแรกนี้นับเป็น 1 ตอน หรือ 1 กองร้อย จากนั้นพวกเราถูกแบ่งเป็นหมวด รวม 4 หมวด แต่ละหมวดจะถูกแบ่งเป็นหมู่ๆ หมวดละ 4 หมู่ มีหัวหน้าหมวดๆ ละ 1 คน จากนั้นก็แบ่งแต่ละหมวดเป็นหมู่ มีทหารหมู่ละ 14-15 คน แต่ละหมู่มีหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ๆ ละ 1 คน ส่วนผมเป็นทั้งหัวหน้าหมู่ 1 และหัวหน้าหมวด 1 กับเป็นหัวหน้าตอน ที่ครูฝึกและเพื่อนๆ เรียกว่า “ไอ้ตอน” ประมาณบ่ายสี่โมงก็ประชุมเสร็จ พวกเราได้พักประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็ถูกเรียกแถวที่ลานปูนหน้าเสาธง หลังจาก “นับยอด” คือจำนวนของทหารในแต่ละหมวดหมู่เรียบร้อยแล้ว พวกเราก็เดินเป็นแถวไปที่โรงอาหารที่อยู่หลังตึกนอน ซึ่งเป็นอาคารเสาปูนโล่งๆ มุงกระเบื้องเก่าๆ มีโต๊ะและม้านั่งยาวๆ ประมาณ 30 กว่าชุด นั่งได้ชุดละ 8 คน ที่ปลายด้านในสุดของอาคารเป็นมุมทำครัวและที่ตักแจกอาหาร มีทหารเกณฑ์รุ่นก่อนดูแลอยู่ประมาณ 20 กว่าคน แบ่งเป็น 2 ผลัด ๆ ละ 10 กว่าคน สลับกันหุงข้าวและทำกับข้าวในแต่ละวัน ซึ่งทหารเกณฑ์ส่วนหนึ่งชอบที่จะลงมาทำงานนี้กันมาก คือภายหลังจากที่ฝึกภาคสนามครบ 3 เดือนแล้ว ก็จะมีการคัดเลือกทหารไปลงประจำกองร้อยต่างๆ โดยให้ทหารเกณฑ์แสดงความจำนงเลือกไว้ก่อน จากนั้นผู้บังคับบัญชาก็จะพิจารณาจัดให้ไปลงตามหน่วยต่างๆ เช่น หน่วยรบที่จะต้องไปประจำตามสนามบินและสถานีควบคุมเรดาร์ หรือหน่วยบริการ เช่น เสนารักษ์คือดูแลทหารเจ็บป่วยตามโรงพยาบาล และสูทกรรมคือดูแลด้านอาหารแก่ทหารตามกองร้อยและกองพันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งงานสูทกรรมนี้ถือกันว่าเป็น “งานเบา” คืออยู่แต่ในครัว ไม่ต้องตากแดดแผดร้อน เพราะไม่ต้องไปเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันภัยหรือสู้รบกับอะไร เพียงแต่ต้องตื่นเช้ามาเตรียมข้าวปลาอาหารวันละ ๓ มื้อเท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือได้กินของอร่อยๆ ก่อนเพื่อน ทั้งหมูและไก่ที่เป็นชิ้นเป็นตัว (ไม่ได้เป็นแค่ “วิญญาณ” อย่างที่ทหารเกณฑ์ได้กินกัน) รวมถึงขนมนมเนยหรือผลไม้ที่เป็นของหวานในมื้ออาหาร ก็จะได้กินในปริมาณมากกว่าใครๆ โดยอ้างว่าเก็บแบ่งเอาไว้ “ให้นาย” ชีวิตทหารเกณฑ์ทำให้รู้ว่า “นาย” นั้น “ยิ่งใหญ่และน่าเกรงกลัว” ยิ่งนัก