นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายด้านพลังงานภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งว่า นโยบายการบริหารงานด้านพลังงานมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้พลังงานขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างรายได้ และวางรากฐานสู่อนาคต รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะบรรเทาค่าครองชีพประชาชนโดยจะเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรึงราคาพลังงานอาทิ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ที่จะต้องมีการพิจารณารายละเอียดต่อไป ทั้งนี้แนวทางการบริหารส่วนใหญ่ยังเน้นสานงานเดิมโดยเฉพาะเร่งด่วนได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานหาข้อสรุปโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภายใน 30 วัน มีเป้าหมายเปิดรับซื้อภายในปีนี้เพียงแต่ให้มั่นใจว่ารายได้นั้นจะต้องตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริงจึงให้ไปศึกษารายละเอียด อย่างไรก็ตามการเปิดรับซื้อที่เดิมกำหนดไว้ระยะเร่งด่วน(ควิกวิน) 100 เมกะวัตต์นั้นก็อาจจะเป็น 100-200 เมกะวัตต์ก็ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมเรื่องเชื้อเพลิงที่ตอบโจทย์สร้างงานและสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยการขับเคลื่อนไม่จำเป็นต้องรอให้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(พีดีพี 2018 )ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)แต่อย่างใด เพราะสามารถทำเป็นบทแทรกเพื่อขอความเห็นตามขั้นตอนกระทรวงพลังงาน นอกจากนี้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่เปิดรับซื้อไฟส่วนเกิน 1.68 บาทต่อหน่วยมีนโยบายที่ต้องการให้เพิ่มอัตรารับซื้อแต่ต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟจนเกินไปจึงให้ไปศึกษาซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคประชาชนก็ยังคงดำเนินการในส่วนนี้ไม่ได้ยกเลิกอะไร แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนนักยังมีเวลา ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปีงบประมาณ 2564 โดยการบริหารงานขณะนี้ที่มีการกลั่นกรองโครงการแล้วในส่วนของงบปี 2563 จะเดินหน้าต่อไปเพื่อนำไปสู่การพิจารณาอนุมัติ อีกทั้งจากการหารือร่วมกับรัฐและเอกชนด้านพลังงานได้มอบหมายให้ช่วยกันคิดว่าจะช่วยแก้ไขเศรษฐกิจได้อย่างไรโดยเฉพาะรองรับการจ้างงานของนักศึกษาจบใหม่ 4-5 แสนคน และการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้ข้อสรุป 2 สัปดาห์ ส่วนการบริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานนั้นที่สนใจเป็นเรื่องนโยบายเดิมคือการหาความชัดเจนการเจรจาเพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ที่จะมุ่งทำให้ชัดเจนแต่อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ส่วนนโยบายเดิมที่วางไว้ในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ มอบหมายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติศึกษาว่า มีผู้ประกอบการสนใจมากน้อยเพียงใด แปลงใหม่ที่จะเปิดมีความคุ้มค่ามากหน้อยแค่ไหนหากเปิดในตอนนี้ ซึ่งปัจจุบันราคาพลังงานไม่สูงจะมีความจูงใจหรือไม่ ส่วนเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 ที่มีเอกชนหลายรายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะเห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภายในปีนี้ ทั้งนี้พลังงานในอนาคตนั้นจะมุ่งเน้นและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นของคนไทย พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ดังนั้นจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในยามวิกฤติโควิด-19 ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5 ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องมุ่งระยะยาว