ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “ความรุ่มร้อนในใจมนุษย์อุบัติขึ้นได้เสมอ บนทางเลือกแห่งการตัดสินใจที่เร้นลึก... หลายๆขณะที่มันได้กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่แห่งการทำลายล้างจิตวิญญาณอันดีงาม... ให้เหลืออยู่เพียงซากปรักหักพังของความเป็นชีวิต สังคมของการอยู่ร่วมกันมักได้รับผลกระทบอันเจ็บปวดและขมขื่นอันยากจะเข้าใจนี้มาจากการกระทำแห่งพฤติกรรมที่แสนจะคลุมเครือและมืดมน... มันคือหนทางตันของการตัดสินใจที่จะมีหรือจะเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งในฐานะของผู้เผชิญหน้าและประสบชะตากรรมอยู่กับความสับสนที่ยากลำบาก.... จนที่สุดก็บังเกิดเป็นหายนะแห่งความเจ็บปวดด้านในของตัวตน ที่ส่งผลให้สังคมแห่งการดำรงอยู่ต้องพลิกผันเกินกว่าโชคชะตาจะกำหนดหรือกระบวนการแห่งเหตุและผลใดใดจะยอมรับได้... นี่คือบาดแผลอันยากจะเยียวยาที่กัดกินหัวใจของมนุษย์จนไม่เหลือสิ่งใดหรือส่วนใดใดให้น่ายินดี นอกจากความพร่ามัวแห่งจริตมายาภายใต้มิจฉาทิฐิที่จับต้องไม่ได้เพียงเท่านั้น...” เนื่องด้วยเหตุการณ์บ้านเมืองที่ส่งผลต่อศรัทธาที่ดีงามให้ต้องพังพินาศลงไปด้วยน้ำมือและหัวใจที่บ้าคลั่งของผู้คนจำนวนหนึ่งจนกลายเป็นรอยบาดเจ็บของสิ่งที่เลวร้าย ที่สร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้เกิดแก่จิตสำนึกและอารมณ์ความรู้สึกอันบริสุทธิ์ที่ยากจะเยียวยาและสมานแผลให้กลับคืนมาเป็นดั่งเดิมได้... นำพาให้ผมได้นึกถึงเรื่องสั้นระดับคุณภาพของ “ฌอง – ปอล ซาร์ตร์” ในเรื่อง “ชายผู้เผาวิหาร” ที่รู้จักกันในนาม “เอรอสตราตูส” (Erostratus) หรือ “อีโรส์ตราตูส์” ตามสำเนียงดั้งเดิมในภาษาฝรั่งเศส ว่ากันว่า “ซาร์ตร์” พุ่งเป้ากระหน่ำในการโจมตีและล้อเลียนเหล่าบรรดานักคิดแนว “มนุษยนิยม” (Humanism) ทั้งหลายว่า “จะอย่างไรพวกอนาธิปไตย (Anarchist) ก็รักประชาชนของพวกเขา” โดยเน้นย้ำให้เห็นว่าโลกแห่งความเป็นเสรีนิยมนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่ได้มีการโฆษณากันไว้ และโลกแห่งเสรีตามความเป็นจริงกลับเต็มไปด้วยกรอบอันบีบแคบและจำกัดด้วยเงื่อนไขแห่งการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างโดยวิธีคิดแห่งยุคสมัย “หากไม่คิดเช่นนี้ จะไม่ใช่เรา แต่จะต้องเป็นอื่น... ที่ถูกยืนยันถึงความเป็นอื่น” เหตุนี้ซาร์ตร์จึงนำเอาชื่อของ “ฮีโรส์ตราตูส์” (Herostratue) ตำนานอันเก่าแก่ของอารยธรรมตะวันตกเมื่อสองพันปีล่วงมาแล้วมาสร้างเป็นเรื่องราวแห่งการเหยียดเย้ยเสียดแทง (Satire) อย่างไม่ไว้หน้า... เขาผู้นี้มีชื่อจารึกตามตำนานว่าเป็นผู้เผาวิหารแห่ง “เทวีอาร์เทมิส ณ เอฟีซุส” เมื่อราว 365 ปีก่อนคริสตกาล... เทวีองค์นี้คือเทวีที่เป็นตัวแทนสัญญะแห่งป่าเขาและความอุดมสมบูรณ์... เป็นเทวีแห่งพรหมจรรย์และการถือกำเนิดทารก อันหมายถึงภาพแสดงแห่งจุดเริ่มต้นอันเติมเต็มของโลกนี้ พระนางเป็นฝาแฝดกับ “สุริยเทพ... อพอลโล่” อันเป็นเทพผู้ทำให้บังเกิดกลางวันกลางคืนอันเปรียบดั่งด้านมืดและด้านสว่างของชีวิต... วิหารของพระองค์ถือเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมหัศจรรย์ของยุคโบราณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกีทางด้านตะวันตก... ไม่มีใครรู้หรอกว่าตลอดระยะเวลาเป็นพันปีที่ผ่านมาใครคือผู้สร้างวิหารดังกล่าวนี้... แต่สำหรับผู้ทำลาย “ผู้เผาวิหาร นาม ฮีโรส์ตราตูส์” ชื่อของเขากลับถูกจารึกและปรากฏอย่างติดตรึงในความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์มาถึงบัดนี้... สมดั่งความตั้งใจในผลแห่งการกระทำอันสะท้านโลกและสั่นไหวโครงสร้างแห่งศรัทธาที่ตัวเขามุ่งหวังจะเบิกประจานบางสิ่งที่สูงส่งเพื่อการทอดนำตนเองไปสู่เจตจำนงแห่งชัยชนะที่สะใจตนเอง... เหตุนี้ “เอโรส์ตราตูส์” ของ “ซาร์ตร์” จึงมีท่วงทำนองแห่งการประพันธ์ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน... คือเป็นการสร้างสรรค์ดั่งการยั่วล้อ (Parody)ที่ลงรากลึกลงไปถึงแก่นแกนแห่งการเปิดเปลือยตัวตนที่แท้ของความเป็นมนุษย์... “สัตว์ที่เรียกตนเองว่าคน” ที่ยากต่อการทำความเข้าใจ... โดยเฉพาะ “ผู้ที่เผาไหม้คนอื่นเพื่อจุดประกายอันเฉิดฉายงดงามให้เกิดแก่ตนเอง” บทนำของหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทยที่จัดพิมพ์ล่าสุดได้ระบุเอาไว้ถึงเรื่องราวที่ “ชายคนหนึ่งต้องการสร้างชื่อเสียงในพริบตา จึงคิดการณ์ว่าเขาจะเป็นชายผู้เผาวิหารคนใหม่” เหตุผลสำคัญคือการที่เขาเชื่อมั่นและกล้ากระทำถูกระบุถึงภาวะของ “โลกวันนี้ที่อยู่กันด้วยลิ้นไก่อันเปียกน้ำลายของสื่อ... แม้ตัวมันเองจะไร้ซึ่งกระดูก แต่ก็มีพลังในการสร้างความเชื่อได้เหมือนกลไกเพื่อการปฏิวัติ”... ชายผู้เผาวิหารคนใหม่จึงดำเนินบทบาทของเขาด้วยการฆ่าคนอย่างเลือดเย็น “แล้วหนังสือพิมพ์ทั้งหลายก็จะพากันลงข่าวกันอย่างพร้อมเพรียง” และ ณ วันนี้ ในบ้านเมืองของเราก็ต้องรวมสื่อร้อนในนาม “โทรทัศน์”และวิทยุเข้าไปด้วยเป็นการช่วยเร่งเร้าและเติมเชื้อไฟแห่งหายนะให้ลุกโชนได้ง่ายยิ่งขึ้น... “มันเป็นการชี้ให้เห็นถึงความเป็นสังคมใหม่ว่า... ได้ให้ความเชื่อถือและศรัทธาในความสำคัญต่อข่าวสารที่ถูกสร้างขึ้นมากกว่านัยแห่งความเป็นมนุษย์อันแท้จริง... ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเผชิญอยู่อย่างขมขื่นและท้าทาย... ในสังคมไทย... คนซึ่งเผาวิหารและบรรดาสื่อทั้งหลายที่ผู้คนต่างหลงใหลและให้ความสำคัญได้สถาปนาสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นและเป็นที่รู้จักกันอย่างมากมายในแต่ละเวลานาที”... มโนสำนึกอันดีงาม เบ้าหลอมแห่งภูมิปัญญา... ศรัทธาอันสูงส่ง ความรู้อันชอบธรรม... ตลอดจนความบริสุทธิ์ของชีวิตแต่ละชีวิต จึงต้องตกเป็นเหยื่อแห่งการเผาไหม้... ทำลายล้างเหล่านี้... เป็นวิหารของความถูกต้องดีงามที่ต้องถูกคนเผาวิหารคนใหม่... เผาซ้ำเผาซากเพื่อก่อผลประโยชน์อันมากล้นต่อโลภจริตของพวกเขาอยู่อย่างนั้น... “ซาร์ตร์” นำเสนอเรื่องราวของเรื่องสั้นเรื่องนี้ผ่านมิติคิดและบทบาทของชายชื่อ “ปอล ฮิลแบร์ต”... เขาคือตัวละครผู้มีทรรศนะชีวิตในบทเริ่มต้นอย่างอหังการ์และแสนจะแปลกแยก... “เราควรจะมองมนุษย์จากมุมมองด้านบน ผมจะปิดไฟและยืนอยู่ที่หน้าต่าง เราสามารถจ้องจากบนนั้นได้ โดยคนพวกนั้นไม่สงสัย พวกเขาจะระวังแต่ข้างหน้า บางทีก็ระวังข้างหลังบ้าง แต่ก็มีระยะอยู่ประมาณห้าฟุตแปดนิ้ว ใครจะไปนึกถึงว่าต้องสวมหมวก... อำพรางการมองเห็นจากชั้นที่เจ็ด พวกเขาไม่ใส่ใจจะปกป้องศีรษะและไหล่ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าสีสดใสฉูดฉาด พวกเขาไม่รู้วิธีต่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจของมนุษยชาติที่มีมุมมองเรียวไกลลงไปข้างล่าง... ผมจะเอนตัวพิงขอบหน้าต่างแล้วตั้งต้นหัวเราะจากมุมมองที่วิเศษนี้”... สังคมของประเทศเรา... เพิ่งได้รับรสชาติจากมุมมองในลักษณะนี้ของผู้คนในลักษณะเช่นนี้ไปอย่างเจ็บปวดเมื่อไม่กี่ปีและไม่กี่วันที่ผ่านมา... เราส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นคนที่คิดเช่นนั้นที่เร้นกายอยู่เบื้องบน... พวกเขามีวิธีคิดด้วยมุมมองที่กดทับและได้เปรียบในการทำลายล้าง ไม่ว่าจะเป็นในมิติของความเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม... ภาพของคนที่อยู่ ณ เบื้องล่างจะถูกมองว่าเป็นภาพที่น่าขบขันและชวนเหยียบย่ำ...จากมุมมองนี้... อันถือเป็นท่าทีของความอัปยศอย่างยิ่ง “ร่างแบนราบทาบกับทางเท้า... ขายาวๆสองขาจะโผล่ออกจากใต้บ่าของพวกเขา” นั่นคือภาพเปรียบเทียบในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์ที่เฝ้าคิดเฝ้ากระทำต่อกัน... การอยู่บนที่สูงมิได้หมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ใดใด... เพียงแต่พื้นที่ตรงนั้นอาจทำให้บังเกิดการหลงคิดในรูปรอยแห่งการกระทำที่มนุษย์มองไม่เห็นค่าแห่งความเป็นชีวิตของกันและกันอย่างเลือดเย็น “บนมุขระเบียงชั้นเจ็ด... นั่นล่ะคือสถานที่ที่ผมควรจะใช้ชีวิตทั้งหมดอยู่ที่นั่น... เราจะต้องกอปรด้วยความสูงส่งทางจริยธรรมด้วยสัญลักษณ์แห่งวัตถุนิยม มิฉะนั้นมันก็จะล้มครืนลง แต่จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่ผมเหนือกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ก็แค่ตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่น ผมวางตัวเองอยู่เหนือมนุษย์ ศึกษาถึงสิ่งที่อยู่ภายในตัว... นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงชอบหอสูงของวิหารนอเตอร์ดาม ชั้นต่างๆบนหอไอเฟล ฯลฯ... และห้องนอนของผมบนชั้นเจ็ดที่ถนนเดอลอมเบรอ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่วิเศษน่ะสิ” พลังแห่งภาวะของมนุษย์ที่ซาร์ตร์ได้แสดงออกมาผ่านบทบาทความคิดแห่งตัวละครของเขาถือเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า... การกล่าวอ้างถึงว่า “มนุษย์คือเสรีภาพ” ตามรอยทางทฤษฎีเชิงปรัชญาของเขานั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน หากจะเทียบกันระหว่างความคิดและการกระทำของมนุษย์จริงๆ.. จริงหรือไม่ที่... “เสรีภาพของมนุษย์คือสิ่งที่ถูกสาป” บทพิสูจน์แห่งวาทกรรมเหล่านี้ถูกตีความกันอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าในกระบวนการแห่งวิธีคิดตามลัทธิปรัชญา “อัตถภวนิยม” (Existentialism)... ซึ่งมักจะมีคนสรุปเป็นคำตอบกันว่า... การมีชีวิตอยู่ของคนเราแต่ละคนนั่นแหละที่สามารถจะบอกได้ว่าเขาเป็นอะไร? หรือสิ่งใด...? ตลอดจนมีความหมายอย่างไร? ในความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล “บางครั้งผมต้องลงไปข้างล่างบ้าง... ผมถึงกับอึดอัดหายใจไม่ออก... เมื่อเราอยู่บนพื้นระนาบเดียวกับผู้คนทั้งหลาย มันเป็นเรื่องยากมากที่จะมองดูพวกเขาให้เป็นเหมือนพวกมดแมลง พวกเขาทำให้เรารู้สึกใจอ่อน... คราวหนึ่งผมเห็นคนตายนอนคว่ำหน้าอยู่กลางถนน พวกเขาช่วยกันพลิกหงายร่างของเขาขึ้น มีเลือดไหลจากตัวเขา มองเห็นดวงตาซึ่งนัยน์ตาของเขาเบิกโพลงและอาบเลือดแดงฉาน... ผมบอกตัวเองว่า... ไม่เป็นไรไม่มีอะไรน่าหวั่นไหวไปกว่าสีเปียกๆ จมูกของเขาถูกแต้มทาสีแดงก็แค่นั้น... ผมรู้ว่าพวกเขาคือศัตรู แต่พวกเขาคงไม่รู้เรื่องนี้... พวกเขาสามัคคีกันเพื่อจะช่วยเหลือผมเพราะคิดว่าผมก็เหมือนกับพวกตน” “ชายผู้เผาวิหาร” (Erostratus)... แปลเป็นภาษาไทยโดยนักแปลฝีมือดี “วิมล กุณราชา” เป็นเรื่องสั้นหนึ่งในสิบเรื่องของนักเขียนรางวัลโนเบลที่ถูกนำมารวมเล่มแปลร่วมกัน... ไม่ว่าจะเป็น “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ”... “นากิบ มาห์ฟูซ”... “เฮอร์มาน เฮสเส” หรือ “เพิร์ล เอส บัค” ฯลฯ ทุกเรื่องล้วนน่าอ่านเพื่อความรู้สึกนึกคิดอันล้ำลึกทั้งสิ้น... เพียงแต่ด้วยสถานการณ์ของบ้านเมืองอันร้อนร้ายและเป็นโศกนาฏกรรมแห่งหายนะอย่างถึงที่สุดที่เพิ่งจะผ่านไป... ทำให้ผมตัดสินใจเลือกที่จะพูดถึงสาระเบื้องลึกของเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นการเฉพาะผ่านนัยของความเป็นมนุษย์และบทบาทแห่งการกระทำของเขา... “ทำไมตำนานการเผาวิหารจึงเกิดขึ้นและมีผู้จดจำผู้เผาวิหารได้?”... แน่นอนว่าสัญญะแห่งความเป็นวิหารและนัยของผู้เผาวิหารย่อมถูกมองด้วยทรรศนะที่แตกต่างกันด้วยมุมมองเฉพาะตัวของบุคคลแต่ละบุคคล ตลอดจนความเป็นไปแห่งยุคสมัยซึ่งบ้างก็เป็นความดีงามเชื่อมั่น... บ้างก็เป็นบาปเคราะห์ที่เลวร้าย... บ้างก็เป็นศรัทธาที่ถูกทำลาย และบ้างก็เป็นเนื้อหาของชัยชนะอันพร่ามัว... อาจเนื่องด้วยโลกเต็มไปด้วยความหมายของผู้คนและการจัดวางตำแหน่งของกระบวนการแห่งเหตุและผลอันซ่อนเงื่อนซ่อนปมเพิ่มมากยิ่งขึ้นในทุกขณะ เราจึงขาดความเข้าใจร่วมกันในความแตกต่าง... จนกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งและบาดแผลอำมหิตของความเป็นศัตรู... เราต่างหวังจะใช้เปลวไฟเพื่อเผาไหม้ล้างผลาญกัน... เราต่างไม่ยินยอมที่จะให้อภัยแก่กันและต่างถือว่า... สิ่งที่ตนเองกระทำนั้นคือความถูกต้องในความยิ่งใหญ่แห่งเสรีภาพ... ความคิดในภาวะเฉพาะตัวเช่นนี้ไม่ได้ก่อเกิดเป็นความรักและสันติสุขให้แก่ใครหรือสังคมใดได้เลย... มันเปรียบได้ดั่งประเทศชาติของเราที่เพิ่งโดนกระทำย่ำยีจากทรรศนะเชิงอคตินี้มาแล้ว... อย่างอัปยศ... น่าเวทนา... และเต็มไปด้วยความเปล่าดายแห่งสำนึกรับผิดชอบที่ควรจะมีและควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายใดก็ตาม “ผมคิดว่า... คุณคงอยากจะทราบว่าคนที่ไม่รักมนุษย์นั้นจะมีลักษณะอย่างไร? เอาล่ะ ผมคือคนประเภทนั้น... ผมรักพวกมนุษย์น้อยมาก น้อยเสียจนเร็วๆนี้ผมจะออกไปสังหารพวกเขาสักครึ่งโหล... คุณอาจสงสัยว่าทำไมแค่ครึ่งโหลเท่านั้น ก็เพราะปืนลูกโม่ของผมมีรังกระสุนแค่หกนัดน่ะสิ” โดยส่วนตัวผมไม่รู้หรอกว่าผู้ถือ “สไนเปอร์” ยิงเจาะกะโหลกระเบิดสมองเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติจนตายไปคนแล้วคนเล่ามีกระสุนอยู่ในรังเพลิงและหัวใจอันโหดเหี้ยมเย็นชาของตัวเองสักกี่นัด... แต่ถ้าจะสังเกตให้ดี... บรรดา “ชายผู้เผาวิหารทั้งหลาย” ที่ปรากฏกายออกมาให้เห็นต่างกรรมต่างวาระกันล้วนมีอาการแสดงออกที่คล้ายเหมือนกันทั้งสิ้นไม่ว่าใครจะตัดสินใจเลือกข้างอยู่ฝ่ายใดหรือสีใดก็ตาม... “มนุษย์ไม่สามารถทำอะไรได้โดยสีหน้าไม่เปลี่ยนแปลง” “ฌอง – ปอล ซาร์ตร์” เขียนเรื่องสั้นไว้ไม่มากนัก... ชีวิตทั้งชีวิตมีรวมเรื่องสั้นอยู่เพียงเล่มเดียว... โดยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1939 ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 5 เรื่องและใช้ชื่อเล่มในการพิมพ์ครั้งนั้นว่า “La Mur” อันหมายถึง “กำแพง และถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย “วิมล กุณราชา” เช่นกันในชื่อ “กำแพงประหาร” ต่อมาในปี ค.ศ.1953 “ลอยด์ อเล็กซานเดอร์” ได้แปลรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จากฉบับภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ “Intimacy and other stories” ซึ่งประกอบด้วยเรื่อง “La Mur”(กำแพง)... Intimite (เพียงความชิดใกล้)... La Chambre (ห้อง)... L’Enfant d’un chef (วัยเยาว์ของท่านผู้นำ) และ “Erostratus” ชายผู้เผาวิหารเรื่องนี้... นี่คือเรื่องสั้นที่โดดเด่นที่สุดของซาร์ตร์ หนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับการยกย่องอย่างยิ่งเช่นเดียวกับ “La Mur”... “กำแพงประหาร” ที่ถูกกล่าวขวัญถึงจากนักอ่านวรรณกรรมอย่างทรงคุณค่าเช่นเดียวกัน... “ไม่สำคัญหรอกว่าคุณเป็นอะไร แต่สำคัญที่ว่าคุณทำอะไร” ผมอยากให้ทุกคนได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ในยามที่ต้องตกอยู่ในบรรยากาศอันเต็มไปด้วยความขัดแย้งและสลดหดหู่ใจเช่นในเวลานี้... อ่านเพื่อความเข้าใจในทรรศนะต่ออะไรหลายสิ่งที่เราควรรับรู้และต้องใคร่ครวญไว้เป็นบทเรียนแห่งความบอบช้ำทางจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ในทรรศนะของซาร์ตร์ ...ที่อาจถือเป็นสาระหลักของเรื่องสั้นเรื่องนี้ เขาได้ตอกย้ำถึงความเข้าใจอันถ่องแท้ว่า... สถานที่ อดีต สิ่งแวดล้อม เพื่อน และความตายคือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แวดล้อมการมีอยู่ของมนุษย์ในแต่ละคน จนดูเหมือนว่าสถานการณ์ได้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของมวลมนุษย์... ทั้งนี้เพราะเมื่อเราตัดสินใจว่าการกระทำใดมีเสรีภาพหรือไม่ ....ก็ย่อมจะต้องพิจารณาถึงสภาพข้อเท็จจริงแห่งสถานการณ์ของการกระทำนั้นอันประกอบด้วย... “สถานการณ์ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ต้องยอมรับและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้… มันคือสัจจะอันขมขื่นที่เราต้องเผชิญหน้าและไม่อาจเลี่ยงพ้นแม้จะต้องดิ้นรนเพื่อหลีกหนีสักเพียงใดก็ตาม”