รายงาน: องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา เดินทางไปยังห้องประชุม 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ โอกาสนี้ได้รับฟังรายงานสรุปผลการติดตามและขับเคลื่อนโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 46 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. จำนวน 23 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 14 โครงการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 9 โครงการ โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. ในปี 2564 จำนวน 12 โครงการ และอยู่ระหว่างการสำรวจ ออกแบบ ศึกษาสิ่งแวดล้อม และขออนุญาตใช้พื้นที่ อีกจำนวน 11 โครงการ ทั้งหมดคาดว่าจะสามารถดำเนินการจากความร่วมมือประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนองพระราชดำริในการสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรในการอุปโภค บริโภค การเกษตร และรักษาทรัพยากร ให้บังเกิดความสมดุลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ อีกจำนวน 29 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกปร. จำนวน 11 โครงการ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย 3 โครงการ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพะเยา ส่วนอีก 6 โครงการ จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 และอีก 18 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณมจากกปร. ในปี 2564 ในการนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวง รัชกาลที่ 9) มีพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อกักเก็บน้ำให้กับราษฎรในช่วงฤดูแล้ง และบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับราษฎร การนี้สำนักงาน กปร. จังหวัดลพบุรี และกรมชลประทาน ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก โดยการก่อสร้างโครงการขนาดกลางไปแล้วจำนวน 7 โครงการ และโครงการขนาดเล็กจำนวน 93 โดยมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดำเนินการ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น การนี้ องคมนตรีได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ เร่งดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการเพื่อประโยชน์สุขของประเทศ จากนั้น องคมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังโครงการเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ภาคเหนือ โดยเขื่อนแม่กวง เป็นโครงการหนึ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2538 หมายถึง เขื่อนที่อุดมไปด้วยน้ำ ก่อสร้างเสร็จทั้งระบบในปี 2536 เป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำ ปิดกั้นลำน้ำแม่กวง สูง 63.00 เมตร ยาว 620 เมตร มีขนาดความจุ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี แต่ในปัจจุบัน เริ่มประสบปัญหาน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตรงข้ามกับความต้องการการใช้น้ำของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งพื้นที่บางส่วนยังคงใช้ระบบเหมืองฝายเดิมจึงไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำของประชาชน ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้จัดทำโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงขึ้น โดยวางแผนก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนแม่แตง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ไปยังเขื่อนแม่กวง ระยะทางรวม 50 กิโลเมตร ในลักษณะเดียวกับอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง และเป็นการบริหารจัดการน้ำในลักษณะอ่างพวง ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินงานไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มน้ำให้เขื่อนแม่กวงได้ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรซึ่งมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 175,000 ไร่ และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ชลประทาน จากเดิม 17,060 ไร่ เพิ่มเป็น 76,129 ไร่ อีกด้วย