เพราะงานชลประทานคืองานเพื่อแผ่นดิน การจัดงบประมาณปี 2564 จึงเน้นดำเนินโครงการที่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาของประเทศ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งมีเกณฑ์กำหนดให้ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานไม่น้อยกว่า 3 แสนไร่ต่อปี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน หรือนายช่าง 1 ได้อธิบายรายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจขอทราบแผนงานงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของกรมชลประทาน อธิบดี : กรมชลประทานได้ขอตั้งงบประมาณปี 2564 ไว้ 75,583 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบลงทุน 67,937 ล้านบาท(90%) แบ่งเป็นงบภาระกิจของกรมชลประทาน (Function) 21,647 ล้านบาท (29%) งบภายใต้แผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Agenda) 45,565 ล้านบาท (60%) และงบภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค (Area) 8,371 ล้านบาท (11%) เมื่อดำเนินงานปี2564 แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาตรเก็บกักน้ำได้ 98.18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 273,567 ไร่ และสามารถส่งเสริมการใช้ยางพาราจากการซ่อมแซมถนนคันคลองได้ 2,407 ตัน มีครัวเรือนได้ประโยชน์ 2,285,000 ครัวเรือน โครงการที่วางเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-80) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ประเด็น รวมถึงยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สำคัญเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 12 ) ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ 320.70 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ 60.29 ล้านไร่ ผลการดำเนินการของกรมชลฯถึงปัจจุบันปี 2563 มีปริมาตรเก็บกักจำนวน 82,657 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีพื้นที่ชลประทาน 33.971 ล้านไร่ หรือ 22% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 149.25 ล้านไร่ และต้องพัฒนาพื้นที่ชลประทานอีก 26.32 ล้านไร่ ซึ่งกรมชลฯมีแผนดำเนินการในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (61-80) เป้าหมายพื้นที่พื้นที่ชลประทานอีก 17.94 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำจำนวน 13,243 ล้านลบ.ม. ในปี 2564 จะเห็นงานโครงการอะไรบ้างจากกรมชลประทาน อธิบดี : ในงบปีนี้จะเร่งรัดโครงการพระราชดำริ ซึ่งกรมได้ดำเนินการทั้งหมด 3,432 รายการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 3,178 รายการ ยังเหลือ 254 โครงการ ในปีงบ 64 อยู่ระหว่างก่อสร้าง 90 รายการ เตรียมความพร้อม 146 รายการ และเตรียมขับเคลื่อน 18 รายการ ในปี 64 จะมีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม โดยจะมีโครงการเปิดใหม่ คือ โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตัดยอดน้ำก่อนเข้าตัวเมืองลดผลกระทบจากอุทกภัย โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ ระยะที่ 2 โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น ในขณะที่โครงการบรรเทาอุทกภัยในอีกหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้ได้มีการผูกพันงบประมาณไปแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดตรัง โครงการบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรี โครงการคลองผันน้ำคลองบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน ที่จะมีการแก้ไขการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการแล้ว ฯลฯ สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเช่นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเชียงใหม่ ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีโครงการระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 7.2 หมื่นไร่ และโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จะช่วยกักน้ำไว้ก่อนลงแม่น้ำโขง และโครงการสำคัญที่ อยากให้เกิดคือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ขณะนี้เรื่องอยู่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะดึงน้ำแม่น้ำยวมมาเติมน้ำลงเขื่อนได้ 1.8 พันล้านลบ.ม.ต่อปี ในส่วนของลุ่มเจ้าพระยาจะมีการพัฒนาระบบบริหารน้ำฝั่งซ้ายและขวา โดยภาคกลางตอนบนจะขุดลอกแก้มลิง เช่น บึงบอระเพ็ด บึงราชนก บึงสีไฟ ไล่ลงมาตอนล่างจะขยายคลองจระเข้สามพัน คลองท่าสารบางปลาเพื่อส่งน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองที่แต่ละปีจะมีน้ำมากมาช่วยไล่น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับภาคตะวันออกจะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เชื่อมโยงโครงข่ายน้ำในภูมิภาค และโครงการรองรับการขยายตัวของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่ต้องการใช้น้ำทั้งการเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งภาคตะวันออกสามารถเก็บน้ำได้ 2,337 ล้านลบ.ม. หรือประมาณ 9 % ของปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติ ในจำนวนนี้มีน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ประมาณ 1,589 ล้านลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่อีอีซีได้ 427 ล้านลบ.ม. ขณะที่ความต้องการใช้น้ำปัจจุบัน 325 ล้านลบ.ม. และจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลบ.ม. และ1,000 ล้านลบ.ม. ในปี 2570-79 ตามลำดับ ซึ่งกรมได้มีการวางแผนขับเคลื่อนเพิ่มรองรับอีอีซี ใน 10 ปี 5 แผนงาน เป้าหมายเพื่อการเพิ่มน้ำให้อีอีซี รวม 354 ล้านลบ.ม. เพื่อให้สอดรับกับแผนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนด โดยจะดำเนินการ 5 ด้านคือ 1.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 7 แห่งเพิ่มความจุ เช่นอ่างอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างหนองปลาไหล ดอกกราย อ่างบ้านบึง อ่างหนองค้อ อ่างสียัด 2.การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 4 แห่ง 3.การเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4 แห่ง เช่น ผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-อ่างเก็บน้ำบางพระ จะช่วยเพิ่มน้ำได้อีก 80 ล้านลบ.ม. ปรับปรุงคลองพานทอง ผันน้ำไปบางพระ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.การสูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง คือ ระบบสูบกลับหนองปลาไหล ระบบสูบกลับคลองคลองสะพาน-คลองหลวง และ 5.การป้องกันน้ำท่วม ย่างปีที่ 3 กับภารกิจอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดี : ได้สร้างรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ คือ กำหนดพื้นที่ กำหนดคน กำหนดทรัพยากร ซึ่งจะต้องเริ่มจากมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ จะทำให้กำหนดพื้นที่เป้าหมายชัดเจน ซึ่งผลจากการที่กรมมีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รวบรวมข้อมูลประกอบกับการพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆในการสำรวจพื้นที่ของกรมและการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ สามารถกำหนดพื้นที่ได้ตรงเป้าและช่วยเหลือได้รวดเร็ว ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเตรียมความพร้อมทุกสถานการณ์ทั้งเครื่องมือ หรือบุคลากร ทุกคนต้องทำงานรวดเร็วและไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดก่อน แบบที่กรมได้ไปตั้งศูนย์ส่วนหน้า กระชับการทำงานและรวดเร็ว นอกจากนั้นได้ส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในทุกระดับโดยเฉพาะระดับท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำกลุ่มระดับคลอง กลุ่มบริหารเขื่อน (JMC) ที่จะมาช่วยกัน เป็น หู ตา ปาก ให้กรม ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความร่วมมือที่ถึงประชาชนและโดยประชาชนจริงๆ กรมชลฯ จึงผ่านวิกฤติแล้ง ท่วมในสองปีที่ผ่านมาได้อย่างดี ซึ่งพี่น้องในคณะกรรมการจะร่วมรับรู้การบริหารน้ำของกรม เป็นการยืนยันว่าการบริหารน้ำของกรมเป็นไปตามหลักวิชาการชลประทาน หากคนคิดถึง ทองเปลว กองจันทร์ คนกรมชลประทานจะคิดถึงอะไร อธิบดี : RID No.1 คือสิ่งที่คนในกรมต้องคิดถึงผม ซึ่งเป็นการวางรากฐานการบริหารน้ำให้ถูกต้องแม่นยำตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ผมได้ทำแผนปฏิบัติการไว้เพื่อให้กรมมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และในปี 64 จะมุ่งสู่ RID No.1 Express 2020 ที่จะสร้างความร่วมมือ ในภาคีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ