โดย รามวัชรประดิษฐ์
www.arjanram.com
หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อ.เมือง จ.ชุมพร พระเกจิสายสมถวิปัสสนาที่ชาวจังหวัดชุมพรและชาวกรุงเทพฯ ให้ความเคารพอย่างยิ่ง คนกรุงเทพฯ มักเรียกท่านว่า “หลวงปู่สงฆ์” ท่านนับเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ทรงบริสุทธิคุณ เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ทั้งมี ‘วาจาสิทธิ์’ และสร้างอภินิหารมากมายเป็นที่ปรากฏ วัตถุมงคลของท่านจึงล้วนเป็นที่ต้องการและแสวงหาอย่างมากของบรรดาศิษยานุศิษย์และนักสะสมมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับวันจะหายากยิ่งและสนนราคาเล่นหาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
หลวงพ่อสงฆ์ เป็นชาวชุมพรโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ปีขาล ปี พ.ศ.2433 ที่บ้านวินัยเหนือ อ.สวี จ.ชุมพร โยมบิดา-มารดาชื่อ นายแดง-นางนุ้ย ประกอบอาชีพทำนา ท่านใฝ่ใจศึกษาหาความรู้และรักการอ่านเขียนมาตั้งแต่เยาว์วัย พออายุได้ 18 ปี บิดามารดาจึงได้บวชให้เป็นสามเณรที่วัดสวี ศึกษาด้านพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรม และอักษรขอม จนอายุครบบวชจึงได้อุปสมบทที่วัดวิสัยเหนือ โดยมี หลวงพ่อชื่น วัดแหลมปอ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา"จันทสโร"
จำพรรษาอยู่ที่วัดวิสัยเหนือได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางมาจำพรรษาที่วัดควน ต.วิสัยเหนือ เพื่อศึกษาด้านกรรมฐานและวิทยาคมต่างๆ อีก 1 พรรษา จากนั้นออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ จนมาถึงภูเก็ต ได้พบกับ พระอาจารย์รอด วัดโต๊ะแซ หรือ ตอแซ พระเกจิชื่อดังผู้ทรงฌานสมาบัติสูงรูปหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ซึ่งผู้คนให้ความเคารพนับถือมาก ท่านจึงฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาคมต่างๆ จนหมดสิ้นเป็นเวลา 2 พรรษา จากนั้นกราบลาอาจารย์ออกธุดงค์อีก 7 ปี
ในราวปี พ.ศ.2462 วันหนึ่ง นางร่อยพร้อมด้วยลูกชายเดินทางไปทำนา ซึ่งไกลจากบ้านหลายกิโลเมตร ขณะเดินทางพลันได้ยินเสียงของนกร้องว่า "หนักก็วางเสีย หนักก็วางเสีย" เมื่อมองหานกตัวนั้นพบ นกก็บินไปแล้ว สองแม่ลูกจึงตามไป พอตามมาถึงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งก็พบพระสงฆ์รูปหนึ่ง นุ่งห่มจีวรเก่าขาดรุ่งริ่ง ท่าทางสงบนิ่ง เมื่อได้สติจึงเข้าไปกราบสอบถามอย่างละเอียด ด้วยความเลื่อมใสจึงได้นิมนต์ท่านไปจำพรรษา ณ วัดร้างใกล้หมู่บ้าน ซึ่งมีแต่ซากสิ่งก่อสร้างที่ทรุดโทรมมาก กุฏิเก่าๆ โบสถ์เหลือแต่เสาต้นใหญ่ 4 ต้น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ก็ชำรุด มีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นรกรุงรังทั่วบริเวณ แม้จะเป็นเพียงซากปรักหักพังต่างๆ แต่ตามสภาพโดยรวมแล้วสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและถูกทิ้งรกร้างมายาวนาน
หลังจากหลวงพ่อสงฆ์รับนิมนต์จากชาวบ้านมาจำพรรษาที่วัดร้าง ก็ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากชาวบ้านมาช่วยกันหักร้างถางต้นไม้และบูรณะสิ่งก่อสร้างและเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมาใหม่ จนเป็นวัดที่มั่นคง โดยให้ชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า “วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย” เหตุที่มีคำว่า ‘เจ้าฟ้า’ นำหน้านั้น ด้วยหลวงพ่อสงฆ์บอกว่า ... ในอดีตเป็นวัดที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเคยมาบวชเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ... และท่านมักกล่าวเสมอๆ ว่า ... เจ้าวัดที่นี่ไม่ใช่เรา แต่เป็นปู่เจ้าฟ้า ... ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการบวชนาค จะต้องนำเจ้านาคไปฝากตัวกับปู่เจ้าฟ้าก่อน ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีสืบจนปัจจุบัน
หลวงพ่อสงฆ์ เป็นพระเกจิที่เคร่งในวัตรปฏิบัติ มีปฏิปทาและเมตตาธรรมสูงส่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน รวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย เล่ากันว่า ... ครั้งหนึ่งเคยมี ‘กวาง’ ตัวหนึ่งหลงเข้ามาในวัด ท่านก็ได้ให้ผลไม้และอาหารมันกิน มันอยู่ที่วัดได้ปีหนึ่งก็กลับเข้าป่าไป ปรากฏว่ามันสามารถรอดพ้นจากการไล่ล่าได้ทุกครั้ง บางครั้งมันจะกลับมาหาหลวงพ่อที่วัด อยู่ 2-3 วัน ก็กลับเข้าป่าไปอีก กระทั่ง ‘เต่า’ ที่อยู่แถวป่าไผ่ใกล้วัดที่มีบ่อและสระน้ำ เป็นเต่าตัวโตๆ มาจากไหนไม่รู้ บางครั้งก็เห็นมันเดินมาหาหลวงพ่อที่กุฏิ อยู่ที่เชิงบันไดหลายสิบตัว พอถึงวันพระใหญ่หรือวันสำคัญทางศาสนา พวกเต่าก็จะพากันมาอยู่ที่หน้าหอสวดมนต์ จนพระทำวัตรเสร็จ พวกมันได้พบหลวงพ่อสงฆ์แล้ว ก็เข้าไปอยู่ในป่าไผ่ดังเดิม ...
วัตถุมงคลต่างๆ ที่หลวงปู่สงฆ์จัดสร้างนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างเสนาสนะต่างๆ ในวัด และเพื่อประโยชน์แก่พระบวรพุทธศาสนาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พระเครื่อง เครื่องราง ลูกอม ยาฉุนหรือยาเส้น ซึ่งล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์และมีพุทธานุภาพมากมายเป็นที่ปรากฏ ทั้ง เมตตามหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย และมหาอุด นอกจากนี้ยังเป็นที่ร่ำลือกันว่าหลวงพ่อสงฆ์มีวาจาสิทธิ์ยิ่งนัก แม้น้ำล้างก้นบาตรของท่าน หรือน้ำปลา ถ้าท่านบอกว่าเป็น “ยา” ก็จะเป็นยารักษาโรคแก่ผู้เลื่อมใสศรัทธาโดยทั่วหน้า แต่ท่านไม่เคยทำรูปของตนเองเลย จะมีก็แต่ลูกศิษย์ลูกหาที่จัดสร้างแล้วนำไปให้ท่านปลุกเสกเดี่ยว กระนั้น ท่านก็ได้อนุญาตให้ลูกศิษย์จัดสร้างพระเครื่องรูปท่านอยู่หลายรุ่นเหมือนกัน ทั้งพระรูปหล่อและเหรียญรูปเหมือน
วัตถุมงคลเด่นๆ ของ หลวงพ่อสงฆ์ มีอาทิ พระพุทธชินราชยุคแรก ปี 2495, เหรียญกลมรุ่นแรกที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดหาดแก้ว ปี 2502 เพื่อสร้างอุโบสถ, พระหล่อโบราณรุ่นแรก และเหรียญรูปเหมือน ปี 2505 ในพิธีผูกพัทธสีมา, เหรียญหลวงปู่สงฆ์ ปี 2511 สร้างอุโบสถวัดดอกรัก, พระปิดตารุ่นแรก เนื้อนวโลหะ ปี 2519 ฯลฯ แต่ที่ฮือฮาที่สุดน่าจะเป็น “เหรียญกลมหลวงพ่อสงฆ์ ปี 2517” สร้างโดย พ่อหลวงเสี้ยง ปชาโน ผู้เป็นลูกศิษย์ เนื่องจากหลวงพ่อสงฆ์ได้ออกปากชมว่า “ดี” เป็นที่ได้ยินกันในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา รวมทั้ง “พระกริ่งเจ้าฟ้า ปี 2519” พระกริ่งรุ่นแรกและรุ่นเดียวของหลวงพ่อ เป็นเนื้อนวโลหะกลับดำที่มีพุทธลักษณะงดงาม ทั้งยังมีพิมพ์เดียว และสร้างจำนวนน้อยมากอีกด้วย
หลวงพ่อสงฆ์ มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2526 ท่านครองวัดเจ้าฟ้าศาลาลอยอยู่ถึง 64 ปี เผยแผ่สืบสานพระบวรพุทธศาสนา ช่วยเหลือผู้คนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย การจากไปของท่านสร้างความเศร้าโศกแก่ชาวบ้านและศิษยานุศิษย์ แม้กระทั่งสรรพสัตว์ที่ท่านเคยดูแล โดยเล่ากันว่า ... ตอนที่หลวงพ่อสงฆ์มรณภาพ ท่ามกลางสายตาชาวบ้านนับพันที่มาอาบน้ำศพหลวงพ่อ พวกเต่าได้คลานขึ้นศาลาและเข้าไปนอนใต้ที่ตั้งโลงศพของหลวงพ่อ พวกมันร้องไห้ทุกตัว น้ำตาไหลจนเห็นได้ชัด ... แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตาบารมีอย่างสูงส่ง
ปัจจุบัน สรีระของหลวงพ่อสงฆ์ ยังคงประดิษฐาน ณ โลงแก้ว ใน ศาลาธรรมสังเวช เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการบูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาสืบไปตราบนานเท่านานครับผม