เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 เวลา 10.00 น.ที่ รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา หารือถึงปัญหาต่างๆ โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า หนักใจเมื่อทราบข่าว ถึงม็อบประชาชนปลดแอก ที่มีบางพรรคการเมืองเทคโอเวอร์นำมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมเวที โดยนำประชาชนมาจากย่านสายไหม มีนบุรี และบางซื่อ ร่วมชุมนุมพร้อมสนับสนุนรถห้องน้ำติดเครื่องปรับอากาศ 4คัน รถน้ำและเครื่องดื่มแบบบาร์ พร้อมเวทีแสง สี เสียง ขณะที่อีกพรรคการเมืองนำคนจากโรงงาน 2,000คน ร่วมชุมุนม โดยสารด้วยรถบัสมาส่งที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ และเสาชิงช้า รววมทั้งชาวบ้านจากวัดย่านมีนบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานีจำนวน 3,000 คน และพบการทะเลาะกันของการ์ดและชายชุดดำ ซึ่งทางรัฐบาลควรใช้มาตรการกฎหมายดำเนินการผู้ละเมิดดังกล่าว ทั้งนี้ นายสมชาย กล่าวว่า ในส่วนของการจัดเวทีที่รัฐบาลมอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รับฟังความเห็นนักศึกษานั้น ขอให้จัดเวที โดยมีตัวแทนอธิการบดีสถาบันการศึกษา ตัวแทนประธานนิสิต นักศึกษาจำนวน 400 คน มาประชุมที่รัฐสภา จัดประชุมร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และกมธ.สภาฯและวุฒิสภา ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มเยาวชน อย่างเช่น ร่วมแลกเปลี่ยนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การคุกคามสิทธิเสรีภาพ รวมถึงข้อเสนอการยุบสภาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ผู้ใหญ่ควรแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นปัญหากับเด็ก ขณะนี้ครูผู้ปกครอง ปรับตัวไม่ทัน มองว่า การชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติไม่เหมาะสม เพราะการเข้าแถวคือ การสร้างวินัย ส่วนการผูกโบว์สีขาวนั้น ให้ทำได้ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของเยาวชน มีความพยายามทำให้เหมือนกับการชุมนุมที่ฮ่องกง ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวต่อว่า ขอให้กำลังนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้แม้ประเทศไทยมีผลงานที่ทั่วโลกยอมรับในการต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 แต่คนไทยกลับหาเหตุมาชุมนุม ทั้งที่ควรช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่แกนนำและผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้อยู่เบื้องหลัง 10ประเด็นจาบจ้วงสถาบัน และอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของเด็กนักเรียน ข้อเรียกร้อง 3ข้อของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ต้องอาศัยเสียงส.ว. 84คน จาก 250คน ในวาระ 1และ3 แต่ส.ว.กลับไม่มีส่วนร่วม โดยทาง สมาชิกวุฒิสภา ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ขอให้ชัดเจนว่า จะแก้ไขประเด็นใด ส.ว.ไม่ยึดติดตำแหน่ง เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ขอแก้ไขมาตรา291 แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติมาแล้ว ถ้าจะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อยกร่างใหม่ ต้องกลับไปถามประชาชนก่อน ซึ่งในเรื่องนี้จึงเสนอให้รัฐบาลอดทน ฟังความเห็นรอบด้านของทุกภาคส่วน ในการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุยกัน ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาม็อบเด็กนักเรียนที่เห็นว่า ไม่ปกติ พร้อมเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย