"บิ๊กป้อม" ชี้ "ม็อบปลดแอก" ชุมนุมเป็นสิทธิทำได้ แต่อย่าละเมิดสิทธิคนอื่น ลั่นพปชร.เอาแก้รธน. ด้าน"เทพไท" ลุยดันข้อเสนอม็อบปลดแอกเข้าที่ประชุมพรรค พร้อมเสนอร่างแก้ไขรธน. 3 ฉบับ "ฝ่ายค้าน"ได้ฤกษ์ยื่นญัตติแก้รธน.มาตรา256 เปิดช่องตั้งสสร. "ชวน" เด้งรับเร่งส่งตรวจสอบก่อนบรรจุรับแก้รธน. มาตรา 256 ไม่ง่าย "คำนูณ" หวั่น "รัฐประหาร-ปฏิวัติประชาชน"นำไปสู่"สงครามกลางเมือง" เชื่อส.ว.พร้อมลงมติแก้รธน. ตามผลประโยชน์ประชาชน ขณะที่ "ผบช.น."เผย "บิ๊กตู่"ไม่ได้สั่งจับแกนนำ แต่ดำเนินการตามกฎหมาย ระบุ "ม็อบนศ."ชุมนุม ไม่เข้าข่ายความผิด ม.112 และ 116 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 17ส.ค.63นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยส.ส.ของพรรค และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโจรน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และน.ส.นภาพร เพ็ชรจินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ได้เข้ายื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อ นายชวน หลีกภัย ประ ธานสภาผู้แทนราษฎร โดย นายสมพงษ์ ระบุว่า ฝ่ายค้านได้ประชุมร่วมกันและมีฉันทานุมัติว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากที่ผ่านมา การดำเนินงานต่างๆ ภายใต้รัฐธรรนูญ ฉบับนี้ มีข้อบกพร่องจำนวนมาก ฉะนั้นจึงเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ให้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป ขณะที่ นายชวน กล่าวว่า ตามระเบียบข้อบังคับ เมื่อมีการยื่นญัตติจะต้องส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบความถูกต้อง เพราะการแก้มาตรา 256 อยู่ในหมวดพิเศษ และมีเงื่อนไขหลายข้อเช่น จะต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด หรือ 98 คน เป็นต้น เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องบรรจุเป็นระเบียบวาระภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ตนจะรีบตรวจสอบโดยเร็ว อย่างไรก็ตามกระบวนการในการแก้รัฐธรรม นูญมาตรา 256 จะต้องเริ่มตั้งแต่วาระที่ 1-3 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องกลุ่มนักศึกษาให้ยุบสมาชิกส.ว.ภายในเดือนก.ย.นี้ หากไม่ดำเนินการจะมีการยกระดับการชุมนุมว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องไปพิจารณาและหารือกับ ส.ว. คนอื่น อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความเป็นไปได้จำเป็นต้องดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย และคงจะเป็นไปได้ยากในทางนิติบัญญัติที่จะทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนก.ย. เพราะไม่น่าจะทัน จึงต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษา และการคงอยู่ของ ส.ว. รวมทั้งการคงอยู่ของฝ่ายบริหารต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ "ดังนั้นจะบอกให้คนนั้นคนนี้ออก ซึ่งแม้กระทั่งข้าราชการตัวเล็กๆ ที่จะต้องให้ไปจากราชการ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย คงจะไปใช้มาตรการอะไรที่บอกไม่ได้ว่ามาจากอำนาจอะไร ก็คงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับน้องๆ คือ บางครั้งเราก็อาจจะเข้าใจผิดบ้าง เช่น บ้านเรามีครอบครัว มีคนใช้ เราอยากให้เขาไป บางครั้งก็ไล่เขาไปไม่ได้เหมือนกันนะ เขาก็มีสิทธิอะไรบางอย่าง" นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 84 คน ไม่เช่นนั้นก็มีแค่ 2 วิธี คือ การรัฐประหารอีกครั้ง เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่ หรือไม่ก็เกิดการปฏิวัติประชาชนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้ง 2 ทาง มีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นว่าควรให้ใช้เวทีรัฐ สภาเป็นที่แก้ปัญหา ซึ่งสมาชิกส.ว.ทุกคนพร้อมลงมติ ตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน แต่ขณะนี้จะให้แต่ละคนบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่เห็นโจทย์หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาก็พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิด และหากมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทางวุฒิสภาก็พร้อมนำมาศึกษา ในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา หรือสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนก็จะนำมาศึกษา เพื่อตัดสินใจประกอบการลงมติ ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มประชาชนปลดแอก ถือเป็นข้อเสนอที่น่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวในฐานะที่เป็นส.ส.คนหนึ่ง ก็จะทำหน้าที่ตามบทบาทและหน้าที่ของตัวเองที่มีอยู่ โดยจะผลักดันจุดยืนของพรรคในการแก้ไข รัฐธรรมนูญให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ ซึ่งในวันที่ 18 ส.ค. จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค โดยจะนำเสนอให้พรรค พิจารณาเห็นชอบในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยการแยกเสนอร่างออกเป็นแต่ละประเด็น แต่ละร่าง แต่ละฉบับ เช่นร่างแก้ไขมาตรา 256 ร่างตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ร่างแก้ไขระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้ส.ส.ของพรรค ลงชื่อในแต่ละร่าง นอกจากนี้ จะประสานงานไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เห็นด้วยกับร่างแต่ละฉบับของพรรค เพื่อขอเสียงสนับสนุนลงชื่อให้ครบจำนวน 100 คน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ในการนำไปยื่นต่อประธานรัฐสภา ไม่อยากจะให้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดเยื้ออีกต่อไปและปลดล็อคการชุมนุมในตอนนี้ด้วย ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนปลดแอก และจะมีการยกระดับการชุมนุมในเดือนก.ย.นี้หากไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ว่า ความคิดเห็นของผู้ชุมนุมก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้แต่อย่าไปละเมิดสิทธิ คนอื่นก็แล้วกัน ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย แม้ว่าจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำอะ ไรได้ เพราะมีข้อยกเว้นให้สามารถชุมนุมได้ เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะมีการนำประเด็นนี้หารือกันในที่ประชุมพรรค ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ทราบ คงมีสมาชิกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารของพรรค เมื่อถามอีกว่า พรรคพร้อมแก้ไขไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ต้องพร้อมแก้อยู่แล้ว ส่วน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจะเสนอไปยังสภาฯ ว่า นายกฯ ยังไม่ได้มอบหมาย ซึ่งคิดว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่นายกฯ จะมอบหมายให้ใครดู หากมอบหมายให้ตนดู ก็อาจจะช่วยกันดูหลายคน ไม่ใช่แค่ตนคนเดียว แต่ตอนนี้นายกฯ ยังไม่ได้มอบหมายอะไรต้องรอฟังคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประ ธาน ซึ่งจะยื่นให้ต่อประธานสภาฯ ภายในปลายเดือนส.ค.นี้ก่อน เมื่อถามต่อว่า หากมีการตั้งสมาชิกส.ส.ร. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะใช้เวลานานหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอเวลาพูดคุยกันก่อน วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวภายหลังเข้าประชุมภาพรวมม็อบปลดแอกว่า มีการแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ในภาพรวมก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับคำปราศรัยอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนกรณีกลุ่มแกนนำที่มีหมายจับเดินทางไปที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ทำการจับกุม ตนได้รับแจ้งจาก พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 ว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุมมาเพื่อสอบถาม โดยทาง พล.ต.ต.เมธี ระบุว่า เนื่องจากเป็นยามวิกาล และมีบุคคลจำนวนมาก เกรงว่าการดำเนินการตามหมายจับจะไม่เกิดความสงบเรียบร้อย และอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น จึงตัดสินใจยังไม่ดำเนินการ แต่ยืนยันว่าจะทำตามกรอบของกฎหมาย ทั้งนี้มีผู้ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. จำนวน 15 คน จับกุมและแจ้งข้อหาไปแล้ว 3 คน ผู้สื่อข่าวถามว่าพฤติการณ์ของ นายอานนท์ นำภา ผิดเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ ผบช.น. กล่าวว่า ทราบว่าศาลได้นัดไต่สวนแล้ว โดยพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ยื่นคำร้องไป ส่วนกรณีของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ที่มาร่วมชุมนุมเมื่อวานนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าได้ทำผิดเงื่อนไขของศาลหรือไม่ หากเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขของศาลก็จะนำเรียนศาลไต่สวนพิจารณาต่อไป พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า การแสดงออกทางการชุมนุมดำเนินการได้แต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องมาตรการควบคุมโรค และการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวก รักษาความสงบ และรักษาความปลอดภัยกับผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป ส่วนกรณีที่เมื่อวานนี้ขณะชุมนุมมีการพบวัตถุต้องสงสัย ตำรวจได้มีการรักษาความปลอดภัย และความสงบอยู่แล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้จัดกิจกรรมและผู้มาทำกิจกรรมด้วย ส่วนกรณีทวิตเตอร์แชร์ข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องตัดสัญญานนั้น ทาง ผบช.น. กล่าวว่าเมื่อวานนี้มีโดรนบินขึ้น ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตห้ามบิน เรื่องการใช้โดรนได้มีการใช้เครื่องมือบังคับโดรนลงมาและมีการดำเนินคดีไป ผบช.น. กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้กฎหมายคุกคามประชาชน ซึ่งหากทำกิจกรรมในกรอบกฎหมายก็ไม่มีอะไร เวลาแจ้งการชุมนุม ทางเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะจะแจ้งข้อกำหนดต่างๆ ให้ผู้จัดรับทราบ หากผู้ชุมนุมดำเนินการตามประกาศ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่เป็นการคุกคามอะไร เพราะตำรวจไม่สามารถดำเนินการอะไรที่เกินเลยข้อกฎหมายได้ เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุว่า ไม่ได้สั่งให้ตำรวจจับกุมแกนนำ แต่ตำรวจไปจับกุมเอง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ก็ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะนายกฯ จะมาสั่งว่าให้ไปจับกุมใคร คงไม่สั่งแบบนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นดำเนินการตามกฎหมาย ก็ขอให้เข้าใจเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ทั้งนี้การเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อวานส่วนตัวมองว่าไม่เข้าข่าย มาตรา 112 และมาตรา 116 โดยขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดใด ส่วนการนัดชุมนุมในครั้งหน้านั้นทางตำรวจไม่ได้ห้ามการชุมนุม เพราะไม่สามารถห้ามหรืออนุญาตได้ ถือว่าเป็นสิทธิ์แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งผู้จัดกิจกรรมจะต้องแจ้งกับสถานีตำรวจในพื้นที่ว่าจะมีการชุมนุมทุกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอธิบายให้ทราบว่าการชุมนุมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.การควบคุมโรค อีกทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น