นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2563 มีผู้ว่างงานราว 750,000 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 1.95 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงปกติ และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552 สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่สถานประกอบการปิดกิจการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือหมดสัญญาจ้างทั้งนี้ ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานสะสมในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ผู้ว่างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม 400,000 คน ส่วนที่เหลืออีกราว 1.7 ล้านคน แม้จะว่างงาน แต่ยังมีสถานะของการจ้างงานอยู่ เพียงแต่ไม่ได้รับเงินจากนายจ้าง เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกิจการหรือปิดตัวชั่วคราว ซึ่งเมื่อสถานการณ์กลับมาคลี่คลายได้ปกติแล้ว กลุ่มนี้จะมีสถานะการจ้างงานกลับเข้ามาตามเดิม แต่คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะตกงาน หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และธุรกิจต้องปิดกิจการลง
ทั้งนี้เชื่อว่าตัวเลขการว่างงานในปีนี้คงจะไม่ได้สูงถึง 7-8 ล้านคน อย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้แล้วบางส่วน การป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่ยังเป็นห่วงแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระอีก 16 ล้านคน เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วโอกาสเสี่ยงของผู้ว่างงานในอาชีพอิสระจะลดลง
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตลาดแรงงานจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือ แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปียังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องและสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ผลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อการจ้างงาน ซึ่งต้องติดตามว่าผลของการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่