‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ เริ่มดำเนินการในปี 2560 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สนับสนุนให้ครัวเรือนที่ยากจนในชนบท สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม มีความไม่ปลอดภัยในที่อยู่อาศัย เช่น พื้นบ้านผุพัง เสาเรือนโยกคลอน ฝาบ้าน หลังคา ห้องน้ำ ฯลฯ ชำรุดทรุดโทรม ได้ซ่อมสร้างบ้านให้มั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัย เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย โดยใช้งบประมาณไม่มาก เพียงไม่เกินหลังละ 19,000 บาท..!! ด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ คนที่ได้ยินอาจหัวเราะเยาะว่าจะเป็นไปได้หรือ ? หรือเป็นเพียง ‘บ้านกงเต็ก’ เอาไว้ทำพิธีเผาให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับได้อยู่อาศัย แต่ด้วยความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่น มีแรงงานจิตอาสามาช่วยกันซ่อมสร้าง มีหน่วยภาครัฐ และเอกชนมาช่วยสนับสนุน จนถึงขณะนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบทซ่อมสร้างบ้านเสร็จไปแล้วกว่า 57,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ แผนแม่บท ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี’ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านที่อยู่อาศัย ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21.32 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 15.45 ล้านครัวเรือน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 5.87 ล้านครัวเรือน (อาศัยอยู่ในที่ดินเช่า ที่ดินบุกรุก บ้านเช่า ห้องเช่า ไร้ที่อยู่อาศัย ฯลฯ) จากปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ขึ้นมา มีวิสัยทัศน์ คือ “ประชาชนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ มีเป้าหมายในการพัฒนาหรือสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง รวม 1,053,702 ครัวเรือน แยกเป็นผู้มีรายได้น้อยในเมือง 701,702 ครัวเรือน (ชุมชนริมคลอง 11,004 ครัวเรือน, บ้านมั่นคง 690,000 ครัวเรือน, คนไร้บ้าน 698 ครัวเรือน) ผู้มีรายได้น้อยในชนบท หรือ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ 352,000 ครัวเรือน การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านเสร็จไปแล้วประมาณ 3,000 หลังใน 35 ชุมชน ส่วนการเคหะแห่งชาติ จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนในลักษณะการเช่า/ซื้อ เช่น โครงการบ้านการเคะฯ บ้านเอื้ออาทร รวมประมาณ 2,271,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ตั้งแต่ปี 2546 โดยสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ชุมชนแออัด เช่าที่ดินสร้างบ้าน บุกรุกที่ดิน ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย หรือถูกไล่ที่ รวมตัวกันแก้ไขปัญหา เปลี่ยนจากเดิมที่ ‘รัฐทำให้’ เป็น ‘ชาวชุมชนผู้เดือดร้อนร่วมกันแก้ไขปัญหาเอง’ เช่น ชาวชุมชนร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนจัดหาที่ดินใหม่ หรือเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่ ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการหรือตัวแทนขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยเอง ส่วน พอช.มีบทบาทในฐานะเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อ จากปี 2546 จนถึงปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว 113,129 ครัวเรือน ในพื้นที่กว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ !! ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ซ่อมสร้างบ้านเพื่อผู้ยากไร้ โครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปีของ พอช.และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 19,000 บาท เพื่อให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ผุพัง ไม่ปลอดภัย หรือได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ได้ซ่อมแซมบ้านให้มีสภาพดีขึ้น เหมาะแก่การอยู่อาศัย โดยชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุน นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึง กระบวนการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทว่า พอช.จะสนับสนุนให้องค์กรชุมชนที่มีการจัดตั้งอยู่ในพื้นที่แล้ว เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการตำบล เป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่มีความเดือดร้อน โดยมีทีมช่างชุมชนช่วยสำรวจ คำนวณวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือน นำข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนมาจัดเวทีประชาคมให้ชาวชุมชนช่วยกันรับรองสิทธิ เพื่อให้ได้ครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนจริง ส่วนการซ่อมสร้างบ้านเรือนนั้น ชุมชนและครัวเรือนที่เดือดร้อนจะช่วยกันซ่อมสร้าง โดยนำงบประมาณที่ได้รับมาจัดซื้อวัสดุพร้อมกันในปริมาณมาก ทำให้ได้ส่วนลด ใช้แรงงานจิตอาสา เช่น ช่างชุมชน ช่างอาสา ช่างจาก อบต. เทศบาล หน่วยทหาร ฯลฯ ทำให้ซ่อมสร้างบ้านได้เร็วและประหยัดงบประมาณ “ในกรณีที่สภาพบ้านทรุดโทรมและผุพังมาก ไม่สามารถรื้อเพื่อซ่อมแซมได้ จำเป็นต้องสร้างบ้านใหม่ ชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งภาคเอกชนจะช่วยกันสนับสนุนงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 7-10 วัน จนได้บ้านหลังใหม่ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน” ผอ.พอช. กล่าว จากการสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบทนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พอช.ได้สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนผู้มีรายได้น้อยแล้ว รวม 57,809 ครัวเรือน ในพื้นที่ 2,391 ตำบลทั่วประเทศ รมว.พม. มอบบ้านพอเพียงชนบททั่วภูมิภาค การสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยของ พอช. ถือเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของรัฐบาล และเป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อย และได้เดินทางไปมอบบ้านพอเพียงชนบทที่มีการซ่อมแซมเสร็จแล้วทั่วประเทศ เช่น ภาคอีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี ภาคตะวันออกที่จังหวัดระยอง ภาคเหนือตอนล่างที่จังหวัดพิษณุโลก และล่าสุด ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รมว.พม.เดินทางเยี่ยมประชาชนที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างการเดินทางไปเยี่ยมเยียนประชาชนกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาสที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฏร์ธานีเมื่อวันที่ 6-8 นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ได้เดินทางไปมอบบ้านพอเพียงชนบทให้แก่ประชาชนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.ในปี 2563 รวมทั้งหมด 721 ครัวเรือน ในพื้นที่ 46 ตำบล โดยแต่ละพื้นที่จะใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนเรื่องบ้านพอเพียงฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวว่า โครงการบ้านพอเพียงจะช่วยขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องที่อยู่อาศัย โดยพอช.ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนเรื่องบ้านพอเพียง ซึ่งปัจจุบันมีสภาองค์กรชุมชนตำบล 7,000 กว่าตำบลทั่วประเทศ ในปีนี้มีเป้าหมายบ้านพอเพียงทั้งหมดจำนวน 11,500 หลัง “บ้านพอเพียงเป็นบ้านที่เกิดขึ้นตามมติของชุมชนในตำบล โดยการผ่านเวทีประชาคมที่เห็นร่วมกันว่าครอบครัวใดสมควรจะได้รับ ไม่ใช่ว่าหน่วยงานต้องเป็นผู้ชี้เป้าหรือชี้นำ สภาองค์กรชุมชนเป็นฐานรากของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะว่าฟังเสียงของชาวบ้านส่วนใหญ่ เป็นการสนองตอบการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในชุมชน เพราะชุมชนเป็นผู้พิจารณากันเอง และจะให้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนเรื่องบ้านพอเพียงต่อไป” รมว.พม.กล่าว ความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐ และพลังทางสังคม นางวันจุรี สุวรรณรัตน์ ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน-ประสานงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โครงการบ้านพอเพียงชนบท จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันซ่อมสร้างบ้านเสร็จแล้ว 1,179ครัวเรือนใน 52 ตำบล ใช้งบประมาณรวม 19.7 ล้านบาท (ไม่เกินครัวเรือนละ 19,000 บาท) และในปี 2563 ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. รวม 721 ครัวเรือน งบประมาณ 13.7 ล้านบาท ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว 227 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 494 ครัวเรือน โดยจะใช้สภาองค์กรชุมชนในแต่ละตำบลสำรวจและคัดเลือกครัวเรือนที่มีความเดือดร้อน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม มีฐานะยากจน และผ่านการรับรองหรือทำประชาคมจากชุมชน เพื่อให้ได้ครอบครัวที่มีความเดือดร้อนจริงๆ จากนั้นจึงทำโครงการขึ้นมาเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก พอช. เพื่อซ่อมแซมบ้าน ไม่เกินครัวเรือนละ 19,000 บาท ชาวสุราษฎร์ธานีร่วมงานมอบบ้านพอเพียงที่สร้างเสร็จแล้ว “บางครัวเรือนซ่อมแซมไม่มาก เช่น ซ่อมประตู หน้าต่าง ถ้าใช้งบประมาณไม่ถึง เราจะนำเงินที่เหลือมาเป็นกองทุนเพื่อนำไปซ่อมแซมบ้านหลังอื่น แต่บางครอบครัวยากจนสุดๆ สภาพบ้านทรุดโทรมมาก บางหลังมีสภาพเป็นเพิง ใช้ป้ายโฆษณามามุงเป็นฝาบ้าน ต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ทั้งหลัง เงิน 19,000 บาท ไม่พอแน่... เราจึงต้องประสานงาน ขอความช่วยเหลือสนับสนุนจาก อบต. และ พมจ. รวมทั้งไปพูดคุยกับร้านค้าวัสดุก่อสร้างเพื่อขอซื้อของในราคาถูก บางทีก็มีบริษัทห้างร้านช่วยบริจาค กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็มาช่วย เอาแรงงานจิตอาสาในหมู่บ้านมาช่วยกันสร้างบ้านใหม่โดยไม่มีค่าแรง บางคนก็หุงข้าว ทำอาหารมาเลี้ยงช่าง” นางวันจุรีบอกและขยายความว่า หากสร้างบ้านใหม่จะต้องใช้เงินซื้อวัสดุอุปกรณ์ไม่ต่ำกว่าหลังละ 40,000 บาท เงินจาก พอช.ไม่พอ จึงต้องใช้การระดมพลังจากทุกภาคส่วนมาช่วยกันสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ ไม่เพียงแต่จะช่วยกันซ่อมสร้างบ้านเท่านั้น เมื่อพบว่าครอบครัวใดประสบปัญหา เช่น ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้ นักเรียนฐานะยากจน ฯลฯ แกนนำสภาองค์กรชุมชนในแต่ละตำบลที่ขับเคลื่อนเรื่องบ้านพอเพียงก็จะประสานงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลหรือช่วยแก้ไขปัญหา...เป็นการซ่อมสร้างบ้าน...ที่ได้มากกว่าบ้าน...!!