ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดด้วยกัน 4 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความเป็นเลิศด้านบุคลากร ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยสามารถให้บริการดูแลและรักษาสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพ ตามนโยบายการส่งเสริมองค์กรสร้างสุข  แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่5 กล่าวถึงรายละเอียดว่า “ องค์กรสร้างสุขที่เกิดขึ้นภายในกระทรวงสาธารณสุขนั้นก็ย่อมจะเป็นไปตามความมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนสุขภาพดีเช่นเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความสุขเพื่อให้ระบบสุขภาพนั้นยั่งยืน โดยเริ่มจากการสร้างให้บุคคลากรมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน เขตสุขภาพที่ 5 คลอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดคือ นครปฐม,สมุทรสาคร,ราชบุรี,กาญจนบุรี,สมุทรสงคราม, สุพรรณบุรี,เพชรบุรี,ประจวบคีรีขันธ์ พันธกิจของเราก็คือการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนให้ดีที่สุดเรามีหน้าที่ในการรักษาทุกชีวิตให้เขามีความพร้อมทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจ ในส่วนของการรักษา เรามีโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดคือที่โรงพยาบาลราชบุรี และมีโรงงพยาบาลชุมชน แต่ละโรงพยาบาลชุมชนนั้นก็จะมีพี่เลี้ยงเป็นโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป สำหรับการดูแลสุขภาพแบบปฐมภูมิ เรามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในระดับตำบลที่เราเรียกกันย่อๆว่ารพ. สตและรพ. สต จะมีหน้าที่ ดูแลและส่งเสริมสุขภาพประชาทั้งกายและใจ ,การป้องกันโรค,การรักษาเบื้องต้น รวมถึงการรับผู้ป่วยกลับมาฟื้นฟูในชุมชนด้วย สิงเหล่านี้เป็นนโยบายหลักที่สัมพันธ์สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานเพื่อสุขภาพเพราะฉะนั้นคำว่าสุขจึงมีความหมายถึงความสุขกายคือหมายการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง การป้องกัน โรคการส่งเสริมสุขภาพ การออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ถูกส่วน และการมีสภาพจิตใจและอารมณ์ที่ดี ทั้งสองส่วนเป็นส่วนสำคัญขององค์กรสร้างสุขซึ่งสร้างความสุขให้สมาชิกขององค์กรคือบุคลากรเจ้าหน้าที่ และสร้างต่อให้กับประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่มีความสุข เราต้องเป็นต้นแบบของประชาชนเป็นต้นแบบของคนอื่นด้วย การดูแลความสุขกายสุขใจของบุคลากรจึงเป็นปัจจัยต้นๆที่เราจะต้องขับเคลื่อน”  นายแพทย์ สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สินชัย ตันติรัตนานนท์ ผู้อำนวยการเขตสำนักงานเขตที่ 5 กล่าวถึงการทำงานว่า “ในฐานะ ผอ. สำนักสุขภาพเขตที่ 5 เรามองภาพองค์กรในกระทรวงสาธารณสุขคล้ายๆกัน สอบถามบุคคลากรว่าที่ผ่านมาว่าเขาประทับใจอะไรบ้างก็ได้รับคำตอบว่า ประทับใจผู้นำ ประทับใจเพื่อนร่วมงาน ความประทับใจในบรรยากาศองค์กรที่มีความสุข จะส่งผลให้บุคคลากรเหล่านี้เผื่อแผ่ความสุขที่ได้รับสู่ประชาชน สร้างความประทับใจให้กับประชาชนผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ความประทับใจเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาคืนองค์กรทำให้องค์การนั้นมีความสุขในการทำงานยิ่งขึ้น อุปสรรคในการสร้างความสุขในการทำงานของบุคลากรคือความไม่สำเร็จในการทำงาน ประชาชนไม่ประทับในการมาใช้บริการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขจัดอุปสรรคเหล่านี้คือผู้นำที่ดี เป็นตัวอย่างให้กับบุคลากร จิตสำนึกที่ดีต่อการทำงาน การสร้างความสุขในการทำงานสิ่งเหล่านี้จะทำให้อุปสรรคต่างที่จะมาบั่นทอนความสุขนั้นลดน้อย ถอยลงไปได้ ในเขตสุขภาพที่ 5 โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยถือเป็นต้นแบบขององค์กรสร้างสุขที่สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 จะนำไปขยายผลสู่องค์กรอื่น โมเดลในการดำเนินการทุกโรงพยาบาลมีรูปแบบของตัวเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วนำปรับไปใช้จะทำให้เกิดความยั่งยืน องค์การที่มีความสามัคคี ความผูกพันและก็มีความสนุกสนานในการทำงานจะเป็นองค์กรที่ยั่งยืน” นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย กล่าวถึงการเป็นโรงพยาบาลต้นแบบว่า “ เริ่มจากปรับการบริการของโรงพยาบาล เช่นในเรื่องพฤติกรรมการให้บริการ สถานที่ที่ไม่สะดวก และบุคลากรที่ไม่เคยมีความสุขในการทำงาน จึงมีความคิดว่าจะทำให้โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยเป็นโรงพยาบาลในฝัน เป็นเสมือนบ้าน และยกระดับเป็น Digital Hospital รูปแบบของการจัดเก็บข้อมูลคนไข้ ห้องแลป ห้องยา ทุกอย่างเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ทำให้ ผู้ให้บริการทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้น สามารถลดระยะเวลาการรอคอย สำหรับการเข้ามาใช้บริการประชาชนใช้เพียงบัตรประชาชาชนใบเดียว ก็สามารถเช็คสิทธิ์การรักษาได้ หรือสามารถเช็คสิทธิ์ผ่านเครื่องอัตโนมัติ โรงพยาบาลให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเพราะการจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนนั้น สิ่งแวดล้อมต้องเปลี่ยนก่อน สิ่งแวดล้อมที่ดีส่งผลให้ผู้ให้บริการมีความสุขและผู้รับบริการมีพอใจ สำหรับขั้นตอนในการเข้ามารับบริการนั้นจะเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ผู้รับบริการสามารถดูคิวการเข้ารับบริการได้จากโทรศัพท์มือถือหรือจอมอนิเตอร์ที่ติดไว้รอบๆโรงพยาบาล โดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรอ สำหรับขั้นตอนในการรักษา ได้ลดความผิดพลาดในการรักษาโดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยเก็บข้อมูล ใช้การพิมพ์แทนการเขียนด้วยลายมือทำให้ สามารถเก็บข้อมูลและนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาได้ การพัฒนาการบริการและความพร้อมในเรื่องเครื่องมือทางการแพทย์ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกสบายและเชื่อมั่นที่จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้ง่าย และในส่วนบุคลาการของโรงพยาบาล โรงพยาบาลเปรียบเสมือนบ้าน เราอยากให้บ้านเราดี คนอยู่มีความสุขอย่างไรเราก็ทำแบบนั้น เมื่อบุคคลากรมีความสุขก็จะส่งผลต่อการให้บริการ การบริการแบบเดิมจะไม่มีอีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนเป็นการให้การบริการที่ดี สะดวกรวดเร็ว แบบโรงพยาบาลเอกชน ” “สำหรับขั้นตอนในการสร้างความสุขให้กับบุคคลากรจะเริ่มจากบุคคลากรระดับต่ำสุดไล่ขึ้นมาจนถึงแพทย์เป็นลำดับสุดท้าย การให้สวัสดิการต่างๆจะเริ่มจากระดับต่ำก่อน ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในองค์กร ทำให้บรรยากาศการทำงานในองค์กรดีขึ้น ลดความเลื่อมล้ำในองค์การ ทำให้เกิดทีมเวิร์ค ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน เมื่อทุกคนมีความสุขในการทำงาน จะส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รางวัลคือแรงจูงใจให้เกิดปรับเปลี่ยนการทำงาน ในปีแรกจะไม่ตำหนิ ไม่มีบทลงโทษทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็น Positive เราใช้เวลา ปีครึ่งในการปรับเปลี่ยน ชุมชนด่านมะขามเตี้ย เป็นชุมชนติดชายแดน การเพิ่มศักยภาพในการบริการและการรักษาทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไกล ชักชวนให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในโรงพยาบาล โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำฟาร์มบริเวณพื้นที่หลังโรงพยาบาล เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลากรของโรงพยาบาลและชุมชน การบริหารงานเน้นการบริหารที่เป็นระบบในอนาคตหากมรการเปลี่ยนผู้บริหารระบบต่างๆที่สร้างไว้จะยังคงอยู่ต่อไป เป็นโรงพยาบาลที่สร้างความสุขให้กับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการตลอดไป” โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยอย่างนี้ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบองค์กรสร้างความสุขของเขตสุขภาพที่ 5 เป็นโรงพยาบาลต้นแบบ ให้โรงพยาบาลภาครัฐอื่นๆรวมทั้งหน่วยงานเครือข่ายภาคีต่างๆเข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้เพื่อขยายผลในการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงสาธารณ ให้มีความสุขใน การทำงานและสร้างคุณค่าให้สังคมต่อไป ความสุขของประชาชนนอกจากการมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังมีความสุขที่เกิดจากการประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่สันดอนปากแม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งที่มีหอยมากมายโดยเฉพาะหอยหลอดที่พบมากที่สุดซึ่งเป็นที่มาของชื่อดอนหอยหลอด ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบลในอำเภอเมือง คือตำบลบางจะเกร็ง ตำบลแหลมใหญ่และตำบลบางแก้ว ในอดีตหอยหลอดเคยอุดมสมบูรณ์มากแต่มาระยะหลังๆทะเลดอนหอยหลอดได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อจำนวนหอยหลอดในพื้นที่ พบปัญหาหอยหลอดตายมากผิดปกติ บางครั้งก็มีจำนวนที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปชาวประมงพื้นบ้านในตำบลบางจะเกร็ง จึงได้มีการรวมตัวกันและพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่ได้รับผลกระทบกับการประกอบอาชีพของพวกเขาผ่านเวทีสานเสวนาในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ร.อ.ฉลองรัตน์ ทัศนจำรูม  ร.อ.ฉลองรัตน์ ทัศนจำรูม หัวหน้าชุดมวลชนสัมพันธ์ (ขุนด่าน) กล่าวถึงกิจกรรมเวทีสานเสวนาในครั้งนี้ว่า “การทำหอยหลอดมีวิธีทำหลายขั้นตอน กอ.รมน.เขามาช่วยสนับสนุนในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นหอยแห้ง หอยหรอบ หอยหวาน เปการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทางกอ.รมน.เข้ามาสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ในการแปรรูป และทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อผลิตสินค้า ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในกลุ่ม เกิดการต่อยอดสู่ความยั่งยืน ปกติพื้นที่นี้ประชาชนต่างคนต่างทำอาชีพของตนเอง ทางกอ.รมน.เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม สร้างร้านค้าชุมชน สนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าสู่ตลาด ” นางสุภาพ คงรักษา นางสุภาพ คงรักษา ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงการประกอบอาชีพของคนในชุมชนว่า “ชาวบ้านประกอบอาชีพการทำหอยหลอดและส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง ถ้าถูกกดราคาก็จะกลับมาทำเป็นหอยแห้งโดยต่างคนต่างทำและหาที่จำหน่ายเอง การหาหอยหลอดทำได้ทั้งปี แต่จำนวนของหอยจะต่างกันในแต่ละช่วงฤดู ทางกอ.รมน.เข้ามาสนับสนุนทำให้เกิดผลดี เกิดการรวมกลุ่ม สร้างความเข็มแข็งให้กับชาวบ้าน สร้างการรับรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์ให้คนภายนอกได้ทราบว่ากลุ่มมีผลิตภัณฑ์หอยสดและหอยแปรรูปจำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสะอาด อร่อย มีคุณภาพและมีจำหน่ายทั้งปี นอกจากนั้นการรวมกลุ่มทำให้สมาชิกมีรายได้จากขายหอยสดและการแปรรูป รายได้เกิดจากการจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชนทั่วไป ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน และยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับกลุ่มอื่นๆที่สนใจ การจำหน่ายสินค้าได้โดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางทำให้จำหน่ายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น นอกจากผลิตภัณฑ์จากหอยหลอดแล้วทางกลุ่มยังมีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและขนมอีกหลายชนิด การรวมกลุ่มทำให้เกิดความเข็มแข็งสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ” กิจกรรมโครงการปฏิรูปสังคมแบบมีส่วนร่วมสานเสวนาในครั้งนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสมุทรสงคราม จัดเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นเพื่อต้องการให้กลุ่มอาชีพแหย่หอยหลอดมีความเข้มแข็ง ช่วยกันสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและพร้อมกันช่วยแก้ไขปัญหา สร้างความสุขให้คนในชุมชน จังหวัดชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีทั้งชายฝั่งอ่าวไทยเช่น จ .สมุทรสงครามและชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะในฝั่งทะเลอันดามันที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตขับเคลื่อนด้วยงานบริการและการค้าขายเป็นหลัก แต่ก็ยังมีการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีการนำแนวคิดในการทำการเกษตรแบบผสมผสานมาใช้ เพื่อ ลดรายจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูง และในช่วงที่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ covid-19 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกรที่สามารถมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตในชุมชน โดยมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่าคลอก เป็นแหล่งสร้างความรู้และรายได้ให้กับกลุ่มสมาชิก นายชะลอ การะเกดผู้ก่อตั้งและเป็นประธานศูนย์การเรียนรู้ก็ได้เล่าถึงความเป็นมาว่า “การเป็นชุมชนเมืองเป็นสังคมที่มีปัญหามากมาย จ. ภูเก็ตในอดีตเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ เป็นสังคมที่เรียบง่ายตามวิถีชนบท ในปัจจุบัน จ.ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีปัญหาเรื่องสังคม ปัญหาเรืองขยะ สิ่งแวดล้อม และมลพิษต่างๆ เรารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเริ่มจากการจัดการปัญหาขยะ นำสิ่งของเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นของใช้และถ่ายทอดสู่ผู้อื่นให้นำมาไปใช้ประโยชน์ ในอดีต จ.ภูเก็ต ประชาชนประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก ในช่วงการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 มีคนที่ได้รับผลกระทบตกงานคนเหล่านี้ได้เข้ามาปรึกษา เรียนรู้ในเรื่องการทำการเกษตรที่ศูนย์การเรียนรู้ โดยเริ่มแนะนำจากการให้รู้จักการมองปัญหาของตนเอง ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ตระหนักถึงปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักที่เราบริโภคซึ่ง เป็นบ่อก่อให้เกิดความเจ็บป่วย นำไปสู่การเสียเงินในการรักษาตัว สอนวิธีการบริโภคที่ประหยัดและก่อประโยชน์สูงสุด ในกลุ่มมีสมาชิก 200 ครัวเรือน มีกิจกรรมหลายอย่างเริ่มจากกิจกรรมการออมทรัพย์ กลุ่มปลูกผักในภาชนะเหลือใช้ กลุ่มธนาคารต้นไม้ กลุ่มเพาะกล้าผักสวนครัว กลุ่มดินผสมพร้อมปลูก เป้าหมายของกลุ่มในการทำการเกษตรคือการทำเกษตรปลอดภัย เป้าหมายอีกประการของการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่าคลอก คือเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสมาชิก เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ และจำหน่ายพืชผักปลอดภัยสร้างรายได้กลับมาสู่กลุ่ม” “ สมาชิกในกลุ่มบางครัวเรือนไม่มีที่ดินจำนวนมาก แต่มีความต้องการที่จะเป็นเกษตรกร ได้แนะนำให้ใช้วิธีปักกิ่งชำต้นผักหวานเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ การขายกิ่งชำต้นผักหวานสามารถจำหน่ายได้ทั่วประเทศ ในรูปแบบการขายแบบออนไลน์ สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อผักที่ศูนย์การเรียนรู้ ทางศูนย์ฯจะขายแบบผักยกล้อ คือขายทั้งล้อยางรถยนต์ที่ปลูกผัก ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 กลุ่มสมาชิกก็ยังคงมีรายได้ต่อเนื่องจากการขายพืชผักแม้รายได้จะลดลงบ้าง ” การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่าคลอก สามารถช่วยสร้างความสุขให้กลุ่มสมาชิกและกระจายความสุขเหล่านี้สู่สังคม เมื่อใดที่ประชาชนมีความสุขทั้งกายและใจ มีรายได้เลี้ยงตัวเองอย่างพอเหมาะพอดี สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่มีแต่ความรัก ความสามัคคี เป็นสังคมที่มั่นคงแข็งแรงตลอดไป ขอขอบคุณข้อมูลจากรายการเดินหน้าปฏิรูป ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง5 ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 21.00-22.00 น.