นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เศรษฐกิจ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้เรียกประชุมนัดแรกในช่วงเช้าวันที่ 19 ส.ค.นี้ โดยสถานที่น่าจะเป็นทำเนียบรัฐบาล สำหรับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการนำเสนอต่อคณะกรรมการให้พิจารณาอยู่ระหว่างการรวบรวม เบื้องต้นมีตัวอย่างข้อเสนอเช่น ขอให้พิจารณาให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ออกไปอีก 2 ปี พร้อมกับให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้กับเอสเอ็มอี อีกทั้งจะผลักดันข้อเสนอต่างๆของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาต่อที่ประชุมคณะกรรมการด้วย รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมา กกร.เคยเสนอมาตรการต่างๆทั้งด้านภาษี การเงิน แรงงาน สาธารณูปโภค ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูภาคธุรกิจจากภัยโควิด-19 จำนวน 34 มาตรการ ซึ่งภาครัฐเห็นชอบตามข้อเสนอ กกร.แล้ว 11 มาตรการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 11 มาตรการ สำหรับมาตรการที่เหลือและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ คาดว่าภาคเอกชนจะนำเสนอและผลักดันต่อในที่ประชุม ศบค.เศรษฐกิจ ขณะที่อีกส่วนเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะนำเสนอให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่พิจารณา โดยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจะจัดทำโดยคณะทำงาน กกร.ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นข้อเสนอจากผลการประชุม กกร.เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังจะมีการผลักดันแผน 4 เรื่องเพื่อให้เกิดผลได้จริงได้แก่ 1.การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง Wellness 2.การยกระดับการเกษตรมูลค่าสูง 3.การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในธุรกิจเป้าหมาย 4.การยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค ทาง กกร.ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการภาษีเพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการทางภาษี (ภาษีสรรพากร) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19