พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการ 32 คน ติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 60 นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าขณะนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยองค์ประกอบคณะกรรมการฯ ทั้งหมด 32 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมศุลกากร อาจารย์คณะโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร นักกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ สื่อมวลชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ส่วนรองประธานคือ ปลัด วธ.และปลัด กต.
ขณะที่คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสารนิเทศ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัด วธ. ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) นายกสมาคมสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ศ.ดร.หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ มล.ภัทราธร จิระประวัติ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก รศ.มยุรี วีระประเสริฐ นางอมรา ศรีสุชาติ น.ส.พัชรินทร์ ศุขประมูล นายพิสิฐ เจริญวงศ์ นางณัฏฐภัทร จันทวิช นางเรวดี สกุลพาณิชย์ นายอาวุธ สุวรรณาศรัย นายภุชชงค์ จันทวิช นายอิสรนันท์ อิทธิสารนัย นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นายดำรง สีลานุรักษ์ น.ส.นริศรา คินิมาน นายเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ทั้งนี้มีอธิบดีกรมศิลปากร เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมี 2 คนได้แก่ นายประทีป เพ็งตะโก รองอธิบดีกรมศิลปากร และผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการการดำเนินงานและวางกรอบแนวทางการปฏิบัติ เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยที่สูญหายไปจากประเทศไทย และปรากฏอยู่ ณ ต่างประเทศ สำรวจ ตรวจสอบ และรวบรวมรายละเอียดข้อมูลโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้กลับมาเป็นสมบัติและมรดกวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีโบราณวัตถุของไทยถูกนำออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏพบทั้งจากการจัดแสดงและเก็บรักษาภายในพิพิธภัณฑสถานในต่างประเทศ อยู่ในความครอบครองของเอกชน หรือมูลนิธิเอกชน สถาบันการศึกษา หรือมีการซื้อขายผ่านสถาบันการประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุต่างๆ เป็นเหตุให้สูญเสียมรดกวัฒนธรรมของชาติ ขาดข้อมูลหลักฐาน เพื่อการเรียนรู้สำหรับคนในประเทศ และเกิดภาพลักษณ์เสียหายต่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไว้ภายในประเทศ ดังนั้นจึงดำเนินการตรวจสอบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุไทยที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและติดตามมาเป็นสมบัติและมรดกวัฒนธรรมของชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม การติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับสู่ประเทศไทย วธ.ได้ดำเนินการติดตามเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิและสื่อมวลชนมาประชุมหารือปัญหาถึงแนวทางการติดตามโบราณวัตถุ โดยที่ประชุมครั้งนั้นได้เสนอแนะแนวทางการติดตามโบราณวัตถุประกอบด้วย
1.สำรวจรวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายรวมถึงจัดหมวดหมู่โบราณวัตถุของไทยที่ปรากฏอยู่ในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการติดตาม
2.ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศแจ้งสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ ช่วยดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุด้วย
3.มีข้อเสนอแนะให้ศึกษาวิจัยข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโบราณวัตถุ เพื่อพิสูจน์และใช้เป็นหลักฐานยืนยันแหล่งกำเนิดในประเทศไทย
4.ที่ประชุมเสนอแนะให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ถึงการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายขององค์การ การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ค.ศ. 1970 และอนุสัญญาสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อการทำให้กฎหมายเอกชนมีเอกภาพว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมหรือส่งออกโดยผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องและติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศ โดยเบื้องต้นมอบกรมศิลปากรไปวิเคราะห์ข้อเสนอแนะดังกล่าว รวมถึงพิจารณาเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน พ.ศ.2535 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับ
5.เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการและสื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล กำหนดมาตรการดำเนินการและวางกรอบแนวทางในการปฏิบัติ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและต่างประเทศในการติดตามโบราณวัตถุคืน
6.เสนอแนะให้รวบรวมข้อมูล หรือขอความร่วมมือในการสอบถามรายละเอียดจากภาคเอกชนที่ครอบครองโบราณวัตถุ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลติดตามโบราณวัตถุคืน
7.ให้กรมศิลปากรดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวอย่างเคร่งครัดในการดูแลและอนุญาตการนำออกและนำเข้าโบราณวัตถุ
8.รวบรวมข้อมูลร้านค้าโบราณวัตถุที่อยู่ในไทย เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบราชการ
9.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามโบราณวัตถุ โดยใช้วิธีทางการทูต และกฎหมายต่างๆ
10.เปิดเวทีให้ความรู้แก่ประชาชนและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องโบราณวัตถุทั้งระดับท้องถิ่นและชาติ