บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) ลัทธิอำนาจนิยมยังมีอยู่เต็ม มีใครจะเถียงว่าท้องถิ่นได้มีการกระจายอำนาจแล้ว ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า ท้องถิ่นยังไม่มีการกระจายอำนาจ “ที่แท้จริงเลย” เพราะที่ผ่านมาช่วงสองทศวรรษเป็นการ “กระจายอำนาจเทียม” กล่าวคือ เป็นการกระจายอำนาจเพียงเปลือกนอก มิใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริงตามหลักปรัชญาของการปกครองท้องถิ่น เช่น การยกฐานะสภาตำบล “ขึ้นเป็น อบต.แบบยกแผงหมด” หรือ การยกฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล ที่ยึดฐานยอดรายได้ที่จัดเก็บได้เอง เป็นหลักในการยกฐานะเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มีเงื่อนไขความพร้อมอื่นประกอบ เช่น ความยินยอมของประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์จะได้พระราชทานมอบอำนาจในการปกครองบ้านเมืองตามแบบเดิมให้แก่ประชาชนแล้ว แต่อำนาจการปกครองนั้นก็ “ยังไม่ถึงมือประชาชน” แต่อย่างใด ยังคงวนเวียนป้วนเปี้ยนอยู่ในฝ่ายอำนาจ หรือที่เรียกว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” (Authoritarianism) ที่เจือด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่จำกัดกรอบความคิดของประชาชนอันถือเป็นเผด็จการประเภทหนึ่ง การกระจายอำนาจที่แท้จริงคือแบบใด การกระจายอำนาจที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นการกระจายอำนาจที่ให้ประชาชน “คนรากหญ้า” ได้มีอำนาจในการร่วมคิด การร่วมตัดสินใจ การมีส่วนร่วม (Participation) ในทุกรูปแบบให้มากที่สุด การตัดสินของประชาชนในท้องถิ่นเป็น “จุดตาย” จุดสำคัญที่ชี้ถึงแก่นของการกระจายอำนาจที่แท้จริง ไม่มีกั๊กมีเหลี่ยม หรือถูกกักด้วยเงื่อนไขใด ๆ ที่จะเอาไว้ต่อรองทางการเมือง หรือเป็นเงื่อนไขต่อรองใครก็ตาม โครงการต่าง ๆ ภาครัฐต้องถึงมือประชาชนจริง ๆ โดยที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำร่วมเสนอโครงการนั้นๆ ด้วย เป็นประชาธิปไตยแบบที่เรียกว่าจับต้องได้กินได้ มีความเป็นจริงในทางปฏิบัติ มาทวนอดีตที่ผ่านมาสมัยเมื่อสี่สิบปีก่อนมีรูปแบบ “โมเดลเงินผัน” ของนายกฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สมัยนั้นฮือฮาว่าเงินมันถึงมือประชาชน ในสมัยนั้นโครงการจะผ่านไปที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เกิดเติบโตเช่นทุกวันนี้ แต่จำได้ว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น ก็ถือเป็นตัวแทนของประชาชนได้ในระดับที่ดีมาก ที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากกำนันผู้ใหญ่บ้านในสมัยปัจจุบันนี้มาก เพราะยังมิได้ถูกครอบงำด้วยปัจจัยใดๆ ทั้งจากฝ่ายการเมือง และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเช่นปัจจุบัน สมัยนั้นประชาชนชาวบ้านได้เข้ามาร่วมคิดตัดสินใจจริงๆ ในโครงการของตนเอง ที่รัฐบาลในสมัยยุคต่อ ๆ มาก็พยายามลอกเลียนโมเดลนี้ แต่ไปมาเป็นการ “ประชานิยม” ไปเสียฉิบ แม้ปัจจุบันก็ยังจะทำเลียนแบบก็ตาม แต่บอกได้เลยมันไม่มีทางเหมือนเดิมกับสมัยเงินผันได้แน่ เพราะมี “ความไม่จริงใจ” ไม่ไว้วางใจประชาชนของฝ่ายอำนาจเจือแฝงไปในโครงการภาครัฐมาก สะท้อนออกมาในรูปของการแย่งอำนาจ การแสวงอำนาจให้ตนเองและพวกพ้อง นำไปสู่การทุจริตตามช่อง การทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ฯลฯ ที่ห่วงนักห่วงหนาว่ามันเป็น “ต้นตอแห่งการ Corruption” ตัวร้ายก็ยังคงอยู่ จะคอยดูว่ากฎหมายวินัยการเงินการคลังฉบับใหม่ที่หวังปฏิรูปประเทศให้ปลอดพ้นจากความมีส่วนได้เสียในโครงการของฝ่ายการเมืองจะเป็นจริงตามคาดหวังหรือไม่ เพียงใด ไม่ว่าจะพิจารณามองในแง่มุมใด เอาง่าย ๆ แค่จากปัจจัยหลักทางการบริหาร หรือที่เรียกว่า 4 M มันวนเวียนป้วนเปี้ยนอยู่ที่ความไม่หลุดพ้นจากวัฏจักรวงจรเดิม ๆ คือ “การทุจริต” มิปาน ตำนานเล่าขานสามทหารเสือ อบต.สะท้อนอะไร ฝ่ายข้าราชการส่วนท้องถิ่น อบต.รุ่นบุกเบิกยุคแรก ปี 2540 เรียกว่า “สามทหารเสือ” (ปลัด คลัง ช่าง) ที่เรียกบรรจุรวมสามรุ่นเป็นหลักหมื่นอัตรา ตาม พรบ.สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ในพักหลังในรอบสองสามปีที่ผ่านมา เมื่อมีการประชุมสัมมนาทางวิชาการของกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น เช่น งานรำลึก 2 ทศวรรษ 3 ทหารเสือ อบต. ก็มักหยิบมาเป็นประเด็นสัญลักษณ์แห่งอดีตกาลตำนานเล่าขานกัน “เป็นตำนานแห่งความปรีดาและความชอกช้ำระคนกัน” ด้วยมีการเสกสรรข้อเขียนเชิงนิยายเสียดสีเปรียบเปรยชีวิตของสามทหารเสือว่าโชกโชน ผ่านร้อนผ่านหนาวเฉียดตายมามาก ที่ข้อเขียนนี้ได้ปรากฏต่อสายตาของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต. ให้ได้อ่านกันมาแล้ว เรื่องแรก เป็นเรื่องราวชีวิตผกผันของอดีต “หัวหน้าส่วนการคลัง” อบต. ที่ถูกไล่ออกจากราชการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ราชการที่เจ้าตัวงง ๆ ว่าทุจริตได้อย่างไร เรื่องที่สอง เป็นเรื่องราวความปรีดาของอดีตปลัด อบต. รุ่นแรกที่มีโอกาสได้เติบโตก้าวหน้าในหน้าที่ราชการจนถึงปลัดระดับ 9 อย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะเป็นได้ นิยายตำนานเล่าขานนี้มันมาพร้อมกับการกระจายอำนาจฯ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า “ไม่เป็นความจริง” แต่อย่างใด รัฐดองท้องถิ่นกันดีนักพอแล้วหรือยัง “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา ที่หลายคนยังหลงว่าเป็นการกระจายอำนาจ แต่แท้จริงแล้ว ยังไม่ไปถึงไปเลย เพราะ “กฎหมายหลักในการปฏิรูปท้องถิ่น” ที่ฝันว่าจะพัฒนาปฏิรูปท้องถิ่นให้เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในฝัน มีขนาดที่เหมาะสม ที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดบริการสาธารณะ (Public Service) และ จัดกิจกรรมสาธารณะเป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชนรากหญ้าได้อย่างยั่งยืนถาวร ตามหลักปรัชญาแท้จริงของการปกครองท้องถิ่น คือ “ประมวลกฎหมายท้องถิ่น” (ในฝัน) ยังไปไม่ถึงไหนเลย แม้จะผ่านยุค คสช. มาหมด ทั้ง สปช. สปท. สนช. และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีการตรากฎหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีมาบังคับใช้ก็ตาม ถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นกฎหมายที่ค้างท่ออยู่เช่นนานร่วมกว่า 6 ปีเหมือนเดิม นอกจากนี้ กฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ที่เป็นกฎหมายหลักของฝ่ายข้าราชการประจำยังถูกฝ่ายมีอำนาจ “ดองเค็ม” ไว้อย่างยาวนานมาตั้งแต่ช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่น้อยกว่า 12 ปี และนอกเหนือกว่านี้ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่ต้องไปถามถึง “องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม” (ก.พ.ค.) หรือ สิทธิขององค์กรในการรวมกลุ่มโดยชอบด้วย เป็น ชมรม สมาคม สหภาพ ฯลฯ ที่มีกฎหมายรองรับ เพราะยังไม่มีเลย ไหนว่า มาตรฐานของการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นต้องไม่น้อยกว่ามาตรฐานของข้าราชการฝ่ายพลเรือน (ก.พ.) ลืมแล้วหรือไร แล้วมหากาพย์พัฒนาการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เมื่อไหร่จึงเป็นจริง คงตราบเท่าที่ยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น การเก็บดองแช่แข็งท้องถิ่นไว้กว่า 6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมันขลังดี ตราบเท่าที่ผลประโยชน์แห่งอำนาจยังไม่ลงตัว ตราบนั้นท้องถิ่นก็จมปลักอยู่ต่อไป ไม่เห็นใจคนท้องถิ่นกันเลย