สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง เป็นพระกรุที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นพระกรุโบราณที่มีอายุการสร้างมาหลายร้อยปี มีความงดงามทางพุทธศิลปะและทรงพุทธคุณเป็นเลิศ จัดเป็นพระยอดนิยมชั้นแนวหน้าของวงการทีเดียว
ผู้สร้าง
เมื่อพิจารณาจากพุทธศิลปะแล้ว บ่งบอกว่าเป็นพระในสมัยอยุธยาตอนกลาง เพราะมีศิลปะที่อ่อนช้อยงดงาม เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งโบราณอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประการ ประการแรก คือ พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง นี้ น่าจะเป็นพระพิมพ์ที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเดินทัพมาที่เมืองสุพรรณเพื่อสู้รบกับกองทัพพม่าซึ่งมีพระมหาอุปราชเป็นแม่ทัพใหญ่ จึงทรงสร้างพระเครื่องไว้ที่วัดบ้านกร่าง เพื่อให้ทหารที่ออกรบนำติดตัวไว้เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัยในการสงคราม เมื่อการสงครามสิ้นสุด เหล่าทหารจึงนำพระทั้งหมดมารวมไว้ที่วัดบ้านกร่างตามเดิม แล้วสร้าง “พระเจดีย์” บรรจุไว้ เนื่องด้วยในสมัยนั้นถือเป็นคติของคนโบราณว่า “พระต้องอยู่ที่วัด”
ข้อสันนิษฐานประการที่สอง คือ เนื่องจากมีพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง พิมพ์หนึ่งซึ่งมีพิมพ์ทรงเดียวกับพระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา อันเป็นที่ทราบกันแน่นอนว่าสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแต่จะผิดกันก็ตรงความประณีตและเนื้อมวลสารโดยกรุวัดบ้านกร่างความประณีตจะด้อยกว่า ซึ่งอาจสืบเนื่องจากเป็นการสร้างในช่วงทำศึกสงครามต้องรีบทำการสร้าง ทำให้วัสดุในการทำและความประณีตหยาบกว่าก็เป็นได้ และถ้าเป็นเช่นนั้น พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่างจะต้องสร้างขึ้นก่อนพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคลอย่างแน่นอน รวมทั้งพระพิมพ์อื่นๆ ที่แตกกรุออกมาพร้อมกันด้วย
การค้นพบ
พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง มีแตกกรุจากเจดีย์หลังพระวิหารเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมในบริเวณวัดบ้านกร่าง เมื่อราวปี พ.ศ.2447 เล่ากันว่า ตอนที่แตกกรุออกมาใหม่ๆ นั้น พระสงฆ์และชาวบ้านได้นำพระทั้งหมดมากมายหลายพิมพ์ มาวางไว้ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ใกล้วิหาร เด็กวัดในสมัยนั้นได้นำพระที่วางไว้มาเล่นร่อนแข่งขันกันในลำนนํ้าสุพรรณบุรีเป็นที่สนุกสนาน เนื่องจากในสมัยนั้น พระวัดบ้านกร่างยังไม่มีมูลค่าและความนิยม จนเมื่อมีการสืบค้นประวัติความเป็นมา และผู้บูชาปรากฏในพุทธคุณเป็นเลิศ จึงกลายเป็นที่นิยมและแสวงหาสืบมา
เนื้อหามวลสาร
พระส่วนใหญ่จะเป็นพระตระกูลขุนแผนพิมพ์ต่างๆ มีจำนวนมากมายนับหมื่นองค์ และเป็นเนื้อเดียวกันหมดคือ เนื้อดินเผาผสมว่านและเกสรดอกไม้นานาชนิด มีทั้งชนิดเนื้อดินหยาบและเนื้อดินละเอียด ที่ดูแล้วว่าเป็นเนื้อดินละเอียดก็ยังหยาบกว่าพระเนื้อดินของกรุอื่นๆ แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเนื้อดินหยาบที่มีส่วนผสมของกรวดทรายมาก และมีโพรงอากาศ สำหรับสีสันวรรณะเป็นเหมือนพระเนื้อดินเผาทั่วไป มีทั้งสีแดง สีพิกุล สีเขียว และสีดำ ตามความอ่อนแก่ของความร้อนในขณะเผาไฟ
พุทธลักษณะพิมพ์ทรง
เมื่อพระแตกกรุขึ้นมาก็ได้มีผู้แยกแบบแยกพิมพ์ต่างๆ ตามความแตกต่างของพุทธลักษณะ ซึ่งมีจำนวนกว่า 30 พิมพ์ขึ้นไป มีทั้งปางสมาธิและปางมารวิชัย ที่นับว่าเป็นพระยอดนิยมในอันดับต้นๆ ของจังหวัดก็คือ “พระขุนแผน พิมพ์ห้าเหลี่ยม อกใหญ่” และ “พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลใหญ่” นอกจากนี้ยังมี พระขุนแผน พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็ก, พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลเล็ก, พระขุนแผน พิมพ์แขนอ่อน, พระพลายเดี่ยว พิมพ์หน้าเทวดา, พระพลายเดี่ยว พิมพ์หน้าฤาษี, พระพลายคู่ พิมพ์อกครุฑ และ พระพลายคู่ พิมพ์หน้ากลม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีพุทธคุณเป็นเลิศ มีความงดงามและเป็นที่นิยมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องลดหลั่นกันไป
พุทธคุณ
มีพุทธคุณสูงส่ง ทางด้าน เมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ แคล้วคลาด และ คงกระพันชาตรี เป็นเลิศครับผม