ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ผมเคยเป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่โคราช และได้รู้จักกับอภิชาติที่นั่น ใน พ.ศ. 2523 ผมจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว พอดีได้รับหมายให้เข้ารับการคัดเลือกเป็นทหาร ผมก็เดินทางไปคัดเลือกที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบิดาตามระเบียบของกระทรวงกลาโหม ญาติบางคนมาถามผมว่าจะไปวิ่งเต้นผัดผ่อนไม่ให้เป็นทหารจะเอาไหม ผมคิดด้วยตัวเองว่าเมื่อเราก่อกรรมอะไรไว้ก็ควรจะรับกรรมนั้น เพราะเหตุที่เราไม่ได้เรียนรักษาดินแดน ก็ควรที่จะเข้ารับการคัดเลือกตามกฎหมายต่อไป ทั้งที่ใจจริงก็ “หวาดหวั่น” ถึงความทุกข์ทรมานที่หลายๆ คนที่เคยเป็นทหารเกณฑ์มาเล่าให้ฟัง แต่มานึกอีกทีว่า “คงไม่ถึงตาย” และควรเข้าไปรับการคัดเลือกเสียให้เสร็จๆ ในวันคัดเลือกก็มีเหตุให้ผมเปลี่ยนใจอีก เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านประวัติผมแล้วก็บอกว่า ถ้าจบปริญญาตรีมานี้ หากจับได้ใบแดง(ความจริงคือตัวหนังสือสีแดงที่พิมพ์ระบุเหล่าทัพที่ต้องเข้าไปอยู่)ซึ่งหมายถึงว่าต้องไปเป็นทหาร ก็จะต้องเป็นอยู่หนึ่งปี แต่ถ้าสมัครเข้าไปเป็นทหารเลยโดยไม่ต้องจับใบดำใบแดง ก็จะเป็นทหารแค่หกเดือน ผมคิดดูว่าความทุกข์ทรมานที่สั้นกว่าน่าจะดีกว่า จึงขอสมัครเป็นทหารโดยไม่ต้องจับใบดำใบแดง โดยเขามีให้เลือกว่าจะเป็นทหารราบที่ขอนแก่น หรือทหารอากาศที่โคราช ผมก็เลือกทหารอากาศในที่สุด เพราะคิดว่าบรรยากาศที่สนามบินน่าจะ “โสภา” กว่าบรรยากาศตามป่าตามเขา เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็เดินทางโดยรถบรรทุกของทหารจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นไปที่กองบิน 1 โคราช บนรถมีหนุ่มๆ รุ่นเดียวกัน 20 กว่าคน ทุกคนที่สีหน้าเรียบๆ แต่เมื่อมองใกล้ๆ หลายคนก็มีแวว “ตระหนก” คือดูหวั่นกลัวกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น ยิ่งบางคนด้วยแล้วเหมือนว่าได้ร้องไห้มาพอสมควร แต่ก็มีบางคนที่แสร้งเฮฮา พยายามจะสร้างความสนุกสนานกลบเกลื่อน ก่อนเที่ยงเราก็มาถึงโคราช ผมมีความรู้สึกว่าโคราช “ใหญ่” กว่าขอนแก่นมาก เพราะกว่าจะนั่งรถฝ่าเมืองไปถึงค่ายทหารที่กองบิน 1 ก็ใช้เวลาพอสมควร พอผ่านพ้นตัวเมืองก็ยังต้องผ่านชุมชนที่มีอาคารบ้านเรือนและคนอยู่อย่างหนาแน่น ทราบภายหลังว่าคือชุมชนหนองไผ่ล้อม ที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งที่กองทัพอเมริกันมาตั้งฐานทัพที่นี่ จากนั้นก็ผ่านประตูค่ายทหารที่สร้างอย่างโอ่อ่า ข้างในเป็นทุ่งหญ้าและป่าไม้กว้างสุดหูสุดตา มีอาคารเล็กบ้างใหญ่บ้างกระจายอยู่เป็นกลุ่มๆ ห่างกัน แต่มองไม่เห็นสนามบิน กว่ายี่สิบนาทีรถบรรทุกจึงมาจอดที่ลานปูนขนาดสัก 40 คูณ 50 เมตร ตรงหน้ามีอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้นสีเทาๆ ขนานไปตามแนวยาวของลานปูนนั้น ตรงมุขหน้าตึกซึ่งมีธงชาติผืนใหญ่โบกสะบัดอยู่บนยอดเสาเขียนว่า “กองร้อยฝึก” นี่คือสถานที่ที่พวกเราเหล่าทหารเกณฑ์จะต้องมาสิงอยู่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นอกจากพวกเราจากจังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังมีทหารที่ถูกเกณฑ์มาอีก 4 จังหวัด คือ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และของโคราชเองอีกด้วย รวมแล้ว 200 กว่าคน ถือว่าเป็น “ผลัด 1 ทอ.” ของกองบิน 1 โคราชในปีนั้น มีทหารมาดูแลเราสิบกว่าคน พวกเราเรียกรวมๆ ว่า “จ่า” หรือ “คุณครู” เพราะทหารพวกนี้จะมาควบคุมดูแลฝึกฝนพวกเราไปโดยตลอด จ่าคนหนึ่งได้ประกาศปากเปล่าด้วยเสียงอันดังให้พวกเราไปรับถาดอาหาร แล้วเดินไปรับอาหารที่โรงครัวด้านหลัง อาหารมื้อแรกนั้นเป็นฟักทองต้มเครื่องแกงใส่หมูเล็กน้อยและมีไข่ต้มให้อีก 1 ฟอง มีเค้กก้อนกลมๆ ขนาดสักกำปั้นเด็กอีกก้อนหนึ่งเป็นของหวาน ข้าวก็เป็นข้าวหุงได้นิ่มนวลสีขาว ไม่ได้เป็นข้าวแข็งๆ สีมอๆ อย่างที่ได้ยินมาก่อนหน้านี้ นับเป็นความประทับใจเบื้องแรกอย่างผิดคาด รับประทานอาหารเสร็จแล้ว จ่าอีกคนให้พวกเราเอาข้าวของที่ติดตัวมาไปฝากเก็บที่ห้องใต้ถุนอาคารฝึกที่เป็นที่พักอยู่ชั้นบน พลทหารรุ่นพี่ที่เป็นทหารเกณฑ์มาก่อนมาช่วยรวบรวมใส่ถุงพลาสติค โดยให้พวกเราเขียนรายการข้าวของใส่กระดาษวางใส่ถุงไปด้วย พวกเราซึ่งได้รับแจ้งมาตั้งแต่วันคัดเลือกแล้วว่า ถ้าหากได้รับคัดเลือกขอให้ไม่ต้องเอาข้าวของอะไรติดตัวไปมาก ของที่พวกเราฝากไว้จึงมีแค่เสื้อผ้าที่แต่งมาในวันเดินทางกับสิ่งของติดตัวอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น ของผมก็จะมีรองเท้าผ้าใบเก่าๆ นาฬิกาข้อมือราคาสักสี่ห้าร้อยเรือนหนึ่ง และเงินอีกร้อยกว่าบาท ซึ่งก็ต้องเก็บไว้ในถุงพลาสติกของแต่ละคนนั้นทั้งหมด (ข้าวของพวกนี้พอตอนฝึกเสร็จในช่วง 3 เดือนแรก ที่เขาให้ลาพักกลับไปบ้านได้ สามารถนำกลับไปได้ ซึ่งพอผมไปเบิกทั้งนาฬิกาและเงินร้อยกว่าบาทก็ได้อันตรธานไปหมดแล้ว โดยไม่สามารถจับมือใครดมได้ ทั้งนี้เพื่อนทหารเกณฑ์อีกหลายคนก็อยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เช่นเดียวกันนี้เหมือนกัน) “ถอดสร้อยที่คอออกด้วย” เสียงตะคอกดังอยู่ใกล้ๆ ผม แต่ผมไม่ได้สวมสร้อย จึงน่าจะเป็นเพื่อนทหารเกณฑ์อีกคนที่อยู่ข้างๆ ซึ่งเขาก็แอบถอดล็อกเกตดำๆ อันหนึ่งกำไว้ในมือ ก่อนที่จะหย่อนสร้อยสเตนเลสดำมอมแมมลงในถุง จากนั้นพวกเราก็เดินไปรับเสื้อผ้าชุดใหม่ ที่ประกอบด้วย ชุดฝึกสีน้ำเงิน 2 ชุด พร้อมหมวกแก๊ปและเข็มขัด เสื้อยืดสีน้ำเงิน 2 ตัว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน 2 ตัว รองเท้า “ไอ้โอ๊บ” 1 คู่ พร้อมถุงเท้า 2 คู่ ผ้าขาวม้า 1 ผืน ขัน 1 ใบ รองเท้าแตะ 1 คู่ กับมุ้งขนาดนอนคนเดียวอีก 1 หลัง ผมเดินออกมาพร้อมกับทหารคนที่ถอดสร้อย เดินขึ้นไปชั้นบนที่จัดเป็นโรงนอน มีเตียงขาเหล็กปูด้วยฟูกบางๆ และผ้าปูที่นอนผ้าฝ้ายสีมอๆ กับหมอนแบบหมอนขิดอีสานมีปลอกหุ้มสีเดียวกัน ปลายเตียงวางผ้าห่มบางๆ สีน้ำเงินพับไว้อย่างเรียบร้อยเรียงรายไปจนเต็มห้องนับร้อยๆ เตียง เราทั้งคู่ถูกจัดให้นอนเตียงใกล้ๆ กัน พอเอาข้าวของวางเก็บใต้เตียงแล้ว เราก็ผลัดเสื้อผ้าเป็นกางเกงชุดฝึกกับเสื้อยืด เรียกว่า “ชุดครี่งท่อน” ลงไปรวมกันที่ห้องประชุมที่อยู่ชั้นใต้ถุน เนื่องจากเราสองคนลงมาเป็นกลุ่มแรกๆ จึงได้นั่งแถวหน้า ผมถามชื่อเพื่อนทหารคนนั้นว่าเขาชื่ออะไร เขาตอบว่า “อภิชาติ” ผมกระซิบถามเขาว่า ล็อกเก็ตที่เขาแอบถอดออกนั้นคืออะไร เขาเอียงหน้ามาพูดที่ใกล้หูผมว่า “รูปของแม่ แม่ผมตายแล้ว แต่แม่กับผมไม่เคยแยกจากกันเลย” อภิชาติสร้าง “วีรกรรม” มากมาย และคือ “เพื่อนตาย” อีกคนหนึ่งของผม