"นายกฯ" นำครม.ใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ด้าน"นฤมล"เผย"ในหลวง" ทรงรับสั่งให้กำลังใจรมต.ชุดใหม่ทำงานให้ปชช.มีความสุข เปิดหน้า105 อาจารย์ หนุน"ม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน" อ้าง 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ส่วน"กมธ."ชงนิรโทษกรรมปลดล็อกขัดแย้ง บี้รัฐบาลเร่งแก้รธน.ยุติสืบทอดอำนาจ ให้กองทัพปฏิญาณตนไม่ทำรัฐประหาร
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.30น. วันที่ 12 ส.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมนำคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประ เทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังเดินทางมารวมตัว เพื่อถ่ายรูปทำบัตรครม.เมื่อช่วงเช้า
ต่อมา เมื่อเวลา 11.50 น. นางนฤมล เปิดเผยภายหลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้กำลังใจ และให้มีพลังทำสิ่งที่ถูกต้องให้ประชาชนมีความสุข เราทุกคนต่างซาบ ซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้เตรียมนโนบายอะไรไว้บ้าง นางนฤมล กล่าวว่า ขอรอรับนโยบายจากนายกฯ และรมว.แรงงานก่อน และขึ้นอยู่กับนายกฯ และรมว.แรงงาน ที่จะมอบหมายงานให้รับผิดชอบ
ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รมว.มหาดไทย ระบุยังไม่พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากต้องรอ กกต. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ขณะที่ กกต. ยืนยันว่าพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รมว.มหาดไทย มักบอกว่ายังไม่พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น โดยอ้างว่า กกต. ยังไม่พร้อม แต่เมื่อวานนี้ กกต. ยืนยันว่า พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งยังย้ำว่า มีความพร้อมมาตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 รัฐบาล และ รมว.มหาดไทย จึงไม่ควรมีข้ออ้างอะไรอีกที่จะเหนี่ยวรั้งเตะถ่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปแบบไม่มีกำหนด กฎหมายกำหนดไว้แล้วว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 4 แบบ คือ อบจ. อบต. เทศบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา เป็นอำนาจของครม.ตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 142 ว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งแรกเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนด เมื่อกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแบบนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยกับ กกต. ควรจับเข่าคุยกัน กำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ชัดเจนได้แล้ว
"ขอเรียกร้องให้ รมว. มหาดไทย จัดการปัญหาทั้งหมดให้ลุล่วงไปโดยเร็ว ไม่ควรเอาปัญหาอะไรมาอ้างเพื่อเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปอีก และรีบประสานส่งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลใช้อำนาจประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป"
ส่วน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่มีข้อเรียกร้องที่ล่อแหลมว่า เป็นความไม่สบายใจ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะทหาร แต่เชื่อว่าประชาชนทั่วไปก็ไม่สบายใจเช่นกัน โดยเฉพาะการมีเยาวชนมาทะเลาะกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควร และจากที่เคยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยต่างๆ ได้ให้โอวาทเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ว่า อย่าคิดว่าเขาเป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องคิดว่าเขาเป็นครอบครัว ซึ่งความคิดอาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็ต้องให้เหตุ ผลและชี้แจงกันไป เมื่อเข้าใจก็ร่มเย็นเอง เช่นเดียวกับเยาวชนที่มีความรุนแรงและมีความเห็นที่แตกต่างถือเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกับการมีลูกหลายคน ก็อาจจะมีที่แตกแถวบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็เป็นครอบครัว อาจมีคนนอกลู่นอกทางและต่างความคิดบ้าง แต่เมื่อเข้าใจและพูดจารู้เรื่องก็ทำเพื่อประเทศชาติของเรา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภา วันที่13 ส.ค.นี้ มีวาระสำคัญการประชุมคือ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง "แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ"ตามที่คณะกรรมา ธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้พิจาร ณาเสร็จแล้ว โดยมีการเสนอแนวทางสร้างความปรองดองและสมานฉันท์คนในชาติ เพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคม โดยมีการเสนอแนวทางการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดอง มีเงื่อนไขคือ การนิรโทษกรรมเหตุ การณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 48-ปัจจุบัน โดยเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้นคือ การกระทำต่างๆของประชาชนที่ทำไปเพื่อแสดงออกถึงความคิดทางการเมือง หรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการทำผิดคดีอาญา ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเสนอให้ตราเป็นกฎหมายพิเศษ เช่น การออกพ.ร.ก. หรือการออกพ.ร.บ.
ขณะเดียวกันกมธ.ยังเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ถูกออกแบบวางกติกาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ โดยเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้นายกฯระบุรายละเอียดเรื่องกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน เมื่อแก้ไขเสร็จ ควรยุบสภาทัน ที แล้วจัดเลือกตั้งใหม่ นอกจากนี้ยังเสนอถึงทำหน้าที่ของกองทัพควรทำภารกิจของกองทัพ งดเว้นการทำรัฐประ หารหรือแทรกแซงทางการเมือง เช่น การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายรัฐบาล การข่มขู่ใช้กำลังหรือยึดอำนาจ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องปลูกฝังจิตสำนึกทหารให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในการถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพควรกำหนดว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร รวมถึงยังมีข้อเสนอไปยังผู้นำการชุมนุมว่า แม้เสรีภาพการชุมชุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้สิทธิเสรีภาพใช่ว่าจะทำได้ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีคณาจารย์จำนวน 105 คน จากหลายมหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ กรณีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า สืบเนื่องจากการจัดเวทีชุมนุม และปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค.63 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การปราศรัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยอย่างเปิดเผย โดยเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ (ดังรายชื่อข้างท้ายแถลงการณ์นี้105คน) มีความเห็นว่าการแสดงออกครั้งนี้ เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และข้อเสนอทั้งสิบประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้คือข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ว่าอาจจะมีความเห็นมากมายที่เราไม่ได้ถูกใจ แต่ตราบใดที่ความเห็นนั้นไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม การยอมรับความเห็นต่างและการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยต้องเป็นทางออกที่สังคมอารยะเลือกใช้ การประณามความคิดเห็นแตกต่างว่าเป็นการก้าวล่วงหรือจาบจ้วงนั้นไม่ได้ทำให้สังคมของเราเติบโตทางปัญญา การถกเถียงพูดคุยทั้งหมดจะถูกลดทอนคุณค่าว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ก้าวร้าว คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเชื่อว่าข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ข้อเสนอเหล่านี้เรียกร้องความกล้าหาญในการพูดถึงประเด็นที่มีความอ่อนไหวในสังคมไทย แทนที่จะเบียดขับข้อเสนอเหล่านี้ออกไป สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยกระดับเพดานความอดทนอดกลั้นและพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตยต่อไปในสังคม(รายชื่ออ่านได้ที่ https://siamrath.co.th/n/174173 )