โคราชปลุกตำนานดินเผาด่านเกวียน กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น จัดถนนวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวสัมผัสแหล่งผลิตเครื่องปั้นระดับโลกใกล้ชิด “ด่านเกวียน” ชื่อตำบลแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา ดินแดนแห่งอายรธรรมท้องถิ่นโบราณ ที่ตั้งของ ต.ด่านเกวียน เป็นเมืองหน้าด่านที่เรียกว่า “ด่านกระโทก” เส้นทางการค้าทางบกระหว่างนครราชสีมากับชายแดนประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ค้าขายพืชผลทางการเกษตร ยุคอดีตมีกองคาราวานพ่อค้าเกวียนเดินทางไกลมาหยุดพัก ชุมชนจึงถูกเรียกชื่อใหม่ “ด่านเกวียน” ก่อนที่คนไทยอพยพเข้าไปตั้งรกรากบริเวณชุมชนด่านเกวียน พื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นอาศัยของ “ชาวข่า” คนเชื้อสายมอญ เมื่อมาอยู่รวมกันจึงเกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีการทาเครื่องปั้นดินเผาขึ้น ชาวบ้านใช้เวลาว่างจากเกษตรกรรมมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ โอ่ง กระถาง ไห ครก รอฝนยา ฯลฯ รวมทั้งนำบางส่วนที่ผลิตขนขึ้นเกวียนไปค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศกัมพูชา ช่วงปี พ.ศ. 2485 ผลจากนโยบายชาตินิยมของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มุ่งเน้นการสร้างรายได้จากสินค้าท้องถิ่น จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้แพร่เข้ามาในชุมชนด่านเกวียน มีการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้น จนชุมชนด่านเกวียนกลายเป็นแหล่งค้าเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงในวงกว้างสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ทางการเกษตร ของตกแต่งบ้านและสวน รวมทั้งเครื่องประดับ โดยรูปแบบการผลิตยังคง เอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของด่านเกวียน ทั้งวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิต การปั้น การตกแต่ง ลวดลาย และการเผาให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ปัจจุบันการค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนกว่าร้อยละ 90 เป็นการขายส่งผ่านพ่อค้าคนกลางไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งส่งออกไปต่างประเทศ โดยพ่อค้าคนกลางเดินทางมารับซื้อสินค้าถึงหน้าโรงผลิต ผู้ประกอบการส่วนมากเป็นชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่และใช้ครัวเรือนเป็นแหล่งผลิตสินค้า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบางรายที่เปิดเป็นหน้าร้านจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจตั้งเรียงกันริมฝั่งถนน 226 สายนครราชสีมา-โชคชัย นอกจากนี้ ด่านเกวียนยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพผลิตเครื่องปั้นดินเผาควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรม ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาหายากและมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งจำนวนช่างลดน้อยลงและขาดการพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มีลวดลายที่แปลกใหม่ไปจากของเดิม ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนไม่ถูกพัฒนาไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามกาลเวลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะภูมิปัญญาของท้องถิ่นควรค่าแก่การอนุรักษ์ จึงเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพทางการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่ให้มีโอกาสสร้างมูลค่าทางการค้าได้มากยิ่งขึ้น จังหวัดนครราชสีมา มีแนวคิดมุ่งมั่นร่วมแรงร่วมใจฟื้นคืนชีพแหล่งศิลปวัฒนธรรมของพื้นถิ่นให้คงอยู่ต่อไป ได้จัดงาน “ดูดินด่านเกวียน” รูปแบบถนนคนเดินตลอดเส้นทาง 200 เมตร พร้อมเปิดบ้าน ศิลปินหัตถกรรม ประเภทเครื่องดิน (เครื่องปั้นดินเผา) ให้นักท่องเที่ยวได้ชมการปั้น การลงสี การเผารวมทั้งแวะชิมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวด่านเกวียนรวมทั้งชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและเดินเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ดินเผาราคาพิเศษ อาทิ สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ตุ๊กตาดินเผาประดับบ้าน โอ่ง แจกัน กระถาง ของตกแต่งบ้านนำไปประดับสวนหลากหลายรูปแบบร่วมถึงเวิร์คชอปปั้นดินฟรีและกิจกรรมการแข่งขันประกวดปั้นโคมไฟแกะลายวิจิตรการแข่งขันประกวดเขียนลวดลายบนภาชนะดินเผาด่านเกวียนรวมมูลค่ารางวัล 13,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่ชุมชนส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวภายใต้การท่องเที่ยวในแบบวิถีใหม่ New Normal กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 15 และ 22 สิงหาคม เวลา 16.00-20.00 น. ภายใต้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า พื้นที่ ต.ด่านเกวียน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและครบวงจรทั้งแบบธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งแหล่งประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชนนานกว่า 100 ปี สามารถดึงดูนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยี่ยมชมและจับจ่ายซื้อเครื่องปั้นด่านเกวียนซึ่งเป็นสินค้าท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์การท่องเที่ยว โดยมีความแปลกใหม่ของการออกแบบรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์แข็งแกร่งทนทานและพื้นผิววัตถุมีความสวยงาม ส่งผลให้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนเป็น 1ใน4 ของประเทศที่ได้รับเลือกเป็นหมู่บ้าน โอท็อปต้นแบบของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยและช่วงเกิดภัยวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลได้ล็อคดาวน์ประเทศ ทำให้ประชาชนต้องอยู่บ้าน ส่วนหนึ่งใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้ส่งผลให้ให้กระถางปลูกต้นไม้ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผามียอดขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการนำร่องจัดถนนคนเดินต่อเนื่องต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น