รายงาน: เฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” พระอัจฉริยภาพ ฟื้นฟูเครื่องแต่งกายโขน – ส่งเสริมศิลปาชีพ
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2563
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นลำดับมา ในด้านศิลปวัฒนธรรม มีการอนุรักษ์ สืบสาน ภูมิปัญญามรดกวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ในแผ่นดินไทยให้คงอยู่โดยเฉพาะ “โขน” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยและยังเป็นมหรสพหลวงที่รุ่งเรืองมาช้านาน
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล มีพระราชเสาวนีย์ให้ศึกษาค้นคว้าการแสดงโขนตามแบบโบราณราชประเพณี พร้อมฟื้นฟูองค์ความรู้ในการสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้งดงามตามธรรมเนียมเดิม โปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญและศิลปินในสาขาที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายโขน ละครโบราณอย่างละเอียด เพื่อจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนละครขึ้นใหม่ ตลอดจนพัฒนาศิลปะการแสดงหน้าโขน ละครให้มีความร่วมสมัย โขนพระราชทาน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกพรหมาศ เมื่อพุทธศักราช 2552 จึงเป็นปฐมบทแห่งโขนพระราชทานที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความชื่นชมในเรื่องความงดงามของเครื่องแต่งกาย ความวิจิตรตระการตาของฉากและเทคนิคต่างๆ กระบวนการรังสรรค์เครื่องโขนที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและเกือบสูญสลายไปตามกาลเวลาให้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง นำไปสู่การแสดงโขนพระราชทานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์ ในการสนับสนุนส่งเสริมการแสดงโขน ทำให้โขนเป็นที่รู้จักและชื่นชมไปทั่วโลก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโขนไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2561
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างยิ่ง สิ่งใดที่จะทำให้ราษฎรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้วพระองค์ทรงส่งเสริมสนับสนุนทุกวิถีทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการส่งเสริมงานศิลปาชีพ ทรงเป็นผู้นำแบบอย่างการแต่งกายอย่างไทย ทรงพระราชดำริชุดไทย พระราชนิยมสำหรับสตรีไทยใช้ในโอกาสต่างๆ ขึ้นหลายชุด และทรงเป็นผู้นำการใช้ผ้าไทยมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายตามสมัยนิยม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 เพื่อสงวนรักษา สนับสนุน ให้การฝึกฝนอบรมและเผยแพร่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การทอผ้า การจักสาน งานประดิษฐ์ ฯลฯ เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพเสริม ทำให้มีรายได้เพิ่ม มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งปรากฏว่างานด้านศิลปาชีพนี้ได้รับการชื่นชมในด้านความสวยงาม แสดงความเป็นเอกลักษณ์ไทยจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปในหมู่ชาวต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2563 กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดแสดงที่อาคารวธ. สถาบันการศึกษา หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าชมนิทรรศการได้ตลอดเดือนสิงหาคมนี้
ร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัจฉริยภาพศิลปาชีพ