คอลัมน์ "ตัวไหม .. ไกด์บุ๊คส์" I [email protected] การทำงานในโลกยุคโควิด-19 แบบนี้ หลายๆ บริษัทก็อาจมีนโยบายการ work from home อยู่บ้าง แต่หลายบริษัทก็ยังคงให้ทำงานที่ออฟฟิศอยู่ หรืออาจเริ่มกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันมากขึ้นแล้ว แต่เราก็ยังคงต้องช่วยกันเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing กันอยู่ ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีนโยบายที่แตกต่างกันไปขึ้นกับตัวงานและองค์ประกอบหลายๆ อย่าง และทุกคนก็คงต้องปรับตัวกันมากขึ้น เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง เราต่างก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงกันทั้งนั้น และวันนี้ นานมีบุ๊คส์ ก็มีตัวช่วยที่จะทำให้คุณทำงานอย่างไรก็ work ไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้องก็ตาม โดยเรามาเริ่มจากหัวหน้ากันก่อน หัวหน้าต้องกระตุ้นทีมงาน สอนงาน และติดตามงานด้วยวิธีใหม่ๆ หนังสือ “COACHING เทคนิคกระตุ้นทีมจนสำเร็จ” โดยคุณ Homma Masato ผู้รับผิดชอบการอบรมในหลากหลายหัวข้อ เช่น โค้ชเรื่อง “องค์กรแห่งการเรียนรู้” “วิธีชม” เพราะคุณ Homma Masato เชื่อว่าหัวหน้าที่เก่งต้องชม ดุ และให้กำลังใจ ว่าแต่ชื่อหนังสือก็บอกแล้วว่าเป็นการ coach แล้วคุณสงสัยกันไหมว่าการ coach กับการทำงานเกี่ยวกันอย่างไร คำว่า “coach” ใน coaching แต่เดิมหมายถึงรถม้า จากนั้นจึงถูกนำไปใช้ในความหมายว่า “การนำคนที่เราให้ความสำคัญจากสถานที่ปัจจุบันไปส่งยังที่ที่ต้องการ” ดังนั้น หน้าที่สำคัญของโค้ชก็คือ “การดึงศักยภาพของสมาชิก ออกมาและช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมาย” โดยในหนังสือยังพูดตั้งแต่หน้าที่ของหัวหน้ามีอะไรบ้าง ทำการการโค้ชถึงสำคัญกับหัวหน้า สิ่งที่ต้องคำนึงในการโค้ชเพื่อเพิ่มความเป็นผู้นำ 7 ทักษะการโค้ชที่ควรรู้ 5 ขั้นตอนในการโค้ชที่นำไปใช้ได้ทันที 4 ประเด็นสำคัญที่สร้างทีมให้เป็นหนึ่งเดียว และ 3 ขั้นตอนการติดตามพัฒนาการ และส่วนที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ วิธีรับมือกับ 10 ลูกน้องที่รับมือได้ยาก เช่น สมาชิกที่ไม่มั่นใจในตัวเอง สมาชิกที่ไฟแรง สมาชิกที่ทำผิดพลาดซ้ำๆ งั้นเรามาลองยกตัวอย่างวิธีการรับมือกับลูกน้องในรูปแบบต่างๆ ตามที่คุณ Homma Masato แนะนำไว้ดีกว่า อย่างสมาชิกที่ทำผิดซ้ำ ๆ หากเราเป็นหัวหน้าเมื่อเจอสมาชิกแบบนี้เราอาจหงุดหงิดจนเผลอต่อว่าไป แต่เมื่อถูกต่อว่าบ่อยๆ อีกฝ่ายก็อาจห่อเหี่ยวและหมดไฟในการทำงานได้ จนเกิดความคิดที่ว่า “ฉันนี่ไม่ได้เรื่องเลย” จนสมองเชื่อและทำผิดซ้ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งปัญหาก็คือการสื่อสาร หัวหน้าอาจลองถามสมาชิกดูว่าเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไรหรือเปล่า โดยอย่าไปตัดสินเขาก่อน แต่ถ้ายังไม่ได้ผลอาจลองตั้งคำถามเพื่อให้อีกฝ่ายได้คิด หรือแนะนำสมาชิกอีกทางว่าลองวิธีนี้ดูดีไหม เพราะอีกฝ่ายอาจไม่รู้วิธีปรับตัว และเมื่อสมาชิกปรับตัวได้ดีขึ้น ผิดพลาดน้อยลง อย่าลืมชมให้กำลังใจอีกฝ่ายด้วย เพื่อให้อีกฝ่ายมีกำลังใจมากขึ้น จากตัวอย่างก็คงเห็นแล้วว่า คุณ Homma Masato สอดแทรกแนวความคิดที่ว่า หัวหน้าที่เก่งต้อง ดุ ชม และให้กำลังใจไปในทุกเหตุการณ์ แต่เมื่อพูดถึงการทำงานของหัวหน้าแล้ว จะไม่พูดถึงการทำงานของสมาชิกก็คงไม่ได้ ซึ่งตัวช่วยในวันนี้ของเราก็คือ หนังสือ “เลิกคิดมากถ้าอยากสำเร็จ” โดยคุณ Takashi Torihara ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านวิธีคิดแบบ In Basket (Career Counselor) และผู้เขียนคนเดียวกับหนังสือ “เปลี่ยนวิธีคิดแค่ 5 วิ งานก็สำเร็จไปแล้ว 90%” ในหนังสือเล่มนี้ คุณ Takashi Torihara นำเสนอแนวคิดการ “ทิ้งความคิดที่ไม่จำเป็นเพียง 5 วินาที ก่อนลงมือทำ” ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น และเผยวิธีการพัฒนาทักษะตั้งแต่ขั้นต้นไปจนถึงขั้นสูง 22 ประการ เช่น ทักษะการจัดการความเสี่ยง ทักษะการใช้ตัวช่วย ทักษะการถ่ายทอด ทักษะการร่วมมือ ทักษะการปกป้ององค์กร ทักษะการนำเสนอตนเองและอีกมากมายที่นำไปใช้ทำงานได้จริง เพราะบางครั้งเราก็จำเป็นต้อง “ทิ้ง” สิ่งที่ไม่จำเป็น เพื่อ “เพิ่ม” พื้นที่แก่การทำสิ่งใหม่ มาสลัดชีวิตที่เอาแต่คิดว่า “ทำไมเป็นแบบนี้นะ” ทิ้งไปกันเถอะ โดยคุณ Takashi Torihara ได้แนะนำวิธีการวัดทักษะการตัดสินใจในเสี้ยวด้วยวิธีคิดแบบ In Basket ซึ่งเป็นวิธีฝึกอบรมที่มีสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้เข้าร่วมตัดสินใจและคลี่คลายภายในเวลาที่กำหนด เพราะทักษะการตัดสินใจอย่างถูกต้องภายในเวลาอันจำกัดนั้นไม่ได้จำเป็นในสนามรบเท่านั้น แต่ในธุรกิจก็จำเป็นเช่นกัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ได้ก็คือการคิดเรื่องที่ไม่จำเป็น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบฝึกให้ตัวเองมีวิธีคิดที่ถูกต้องหรือมีทักษะมากขึ้น งั้นเราลองมาดูตัวอย่างที่คุณ Takashi Torihara แนะนำไว้กันหน่อยดีกว่า นั่นก็คือทักษะการคำนึงถึงผู้อื่น สมมติว่าระหว่างที่เรากำลังทำงานก็เกิดปัญหาขึ้น พอจะหันไปปรึกษาหัวหน้าก็พบว่าหัวหน้ากำลังยุ่งอยู่ จะเข้าไปพูดเลยก็ไม่กล้ากลัวรบกวนหัวหน้า จนได้แต่กังวลอยู่แบบนั้นไม่เข้าไปบอกเสียที ทำให้เวลาผ่านเลยไปจากเรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น แทนที่จะใช้ความคิดกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น หาจังหวะ เกรงใจอีกฝ่าย การรีบรายงานอย่างทันท่วงทีนั้นสำคัญกว่า ซึ่งวิธีแก้ก็คือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นและหัวหน้ากำลังยุ่งอยู่ แทนที่เราจะมัวแต่คิดเรื่องที่ไม่จำเป็นอย่างเช่น หัวหน้ายุ่งอยู่อย่าพึ่งเข้าไปเลย หรือเดี๋ยวอีกสักพักค่อยเข้าไปพูดก็ได้ เราอาจเดินเข้าไปบอกหัวหน้าก่อนเลยหรือเขียนโน๊ตบอกไว้ว่า “หัวหน้าค่ะ ตอนนี้งานเกิดปัญหานิดหน่อย หัวหน้าพอจะมีเวลาสักครู่ไหมคะ” เท่านี้หัวหน้าก็รับรู้แล้วว่ามีปัญหา เขาจะหาเวลามาคุยกับคุณได้เอง หรือถ้าด่วนมากควรรีบแจ้งเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างลุล่วงมากยิ่งขึ้น แค่นี้ปัญหาของคุณก็จะคลี่คลายไปได้ เพียงคุณละทิ้งความคิดที่ไม่จำเป็นนี้ออกไปเท่านั้น งานก็ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นแล้ว แต่คุณ Takashi Torihara ก็ไม่ได้บอกให้คุณหยุดความคิดทั้งหมดไป แค่ให้เลือกทิ้งความคิดที่ไม่จำเป็นออกไปเท่านั้น เพราะความคิดแบบนี้มีอยู่ในตัวของทุกคน และเมื่อคุณเลิกคิดมากได้แล้ว ในช่วงเวลาแบบนี้บางคนก็อาจยังทุกข์ใจจากหลายๆ เรื่องรอบตัว ดังนั้น มาฝึกสมองให้สมดุลทั้งซีกซ้ายและขวา ด้วยหนังสือ “ฝึกสมองไม่ให้ทุกข์” โดยคุณหมอ Kato Toshinori แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา ชีวจิตวิทยา และวิทยาศาสตร์พุทธิปัญญา ผู้วิเคราะห์สมองด้วยการตรวจ MRI ชื่อดังของญี่ปุ่น และเป็นนักเขียนผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสมองที่ขายดีในไทยอีกมากมาย เป็นการการันตีว่าสมองของมนุษย์เราเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์และมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย โดยหนังสือเล่มนี้ คุณหมอ Kato Toshinori ได้วิเคราะห์ภาพแสกนสมอง MRI ของคนกว่า 10,000 คน เพื่อสรุปให้เราเห็นว่าอุปนิสัย บุคลิก หรือวิธีคิดแบบใดที่ทำให้เกิดความเครียดหรือความวิตกกังวล และมันสัมพันธ์กับสมองอย่างไร ก่อนจะแนะนำกิจวัตรประจำวันที่เราสามารถปรับให้กลายเป็นวิธีฝึกสมองได้ง่าย ๆ ทำได้ทุกวัน โดยคุณหมอเชื่อว่า ทุกข์ใจหายได้ถ้าเข้าใจสมอง เพราะความทุกข์ใจเกิดจากความคิดของเรา และความคิดเกิดจากสมอง ถ้าเราฝึกสมองให้แข็งแรงได้ เราก็รับมือกับปัญหาหรือความทุกข์ที่เข้ามาได้ดีขึ้นนั่นเอง เพราะการคิดมากและความทุกข์ใจเป็นเรื่องเดียวกัน หากไม่อาจปล่อยวางปัญหาที่ต่อให้คิดมากเท่าไรก็แก้ไม่ได้เรียกว่า ความทุกข์ใจ ซึ่งความทุกข์ใจก็คือความเหนื่อยล้าจากการคิดวกวน โดยคุณหมอเชื่อว่า “ความทุกข์ใจ” เกิดจากปัญหาที่เราแก้ไขไม่ได้และคอยวนเวียนอยู่ในหัว ทำให้ไม่เป็นอันทำอะไรเพราะไม่สบายใจอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าใครก็มีความรู้สึกแย่ๆ กันได้ ถ้าตัดความรู้สึกทิ้งได้ “ความทุุกข์ใจ” ก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะสมองมัวหมกมุ่นกับมันจนเหนื่อยล้า ความทุุกข์ใจไม่ได้เกิดจากลักษณะนิสัยหรือวิธีคิด แต่เกิดจากสมองและสมองของเราปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งคุณหมอ Kato Toshinori ยังแนะนำวิธีฝึกสมองเกี่ยวกับการทำงานไว้เช่นกัน คุณคงเคยรู้สึกว่าทำไมงานไม่คืบหน้าไปอย่างที่คิด ทำไมเราถึงทำงานช้า และมีงานที่ยังไม่ได้ทำกองอยู่เยอะจนต้องทำล่วงเวลาตลอด สาเหตุที่จัดการงานไม่ได้ตามที่คิดก็เกี่ยวข้องกับรหัสสมองด้านการจดจำ เพราะการรับรู้เรื่องเวลาไม่ดี จึงรับงานมาทำโดยที่ปริมาณงานไม่สัมพันธ์กับทักษะของตัวเอง ทั้งที่ตอนรับมาก็คิดว่าทำได้แต่กลับทำไม่ได้ตามที่คิดไว้ทำให้เป็นทุกข์ได้ ซึ่งสาเหตุก็ไม่ใช่เพราะไม่รู้จักตัวเอง แต่เกิดจากการรับรู้เรื่องเวลาไม่ดีต่างหาก เพราะรหัสสมองด้านการจดจำอ่อนแอ ทำให้ประเมินความสามารถกับระยะเวลาไม่ได้ งานจึงสุมมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีแก้ที่คุณหมอ Kato Toshinori แนะนำก็คือ ให้ลองทำความเข้าใจเรื่องเวลาให้มาก เพื่อกระตุ้นฮิปโปแคมปัสของรหัสสมองด้านการจดจำ วิธีฝึกก็คือการจับเวลาแล้วหลับตายืนขาเดียว โดยเริ่มจากเตรียมนาฬิกาจับเวลาไว้ สมมติว่าให้ยืนขาเดียว 1 นาที ลองกะในใจว่า 1 นาทีนานแค่ไหน จากนั้นเปรียบเทียบกับระยะเวลาจริง เพื่อฝึกการรับรู้เรื่องเวลาให้ดีขึ้น เมื่อยืนขาเดียวแบบนี้ เท้าจะไม่มั่นคง แม้ไม่ชอบแต่ก็จะได้เข้าใจตัวเองได้ รู้ว่ากำลังทำอะไรและต้องทรงตัวอย่างไรให้ไม่ล้ม เท่ากับได้ฝึก 2 ทักษะไปพร้อมกัน ซึ่งคุณหมอยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า ที่คนส่วนใหญ่ต้องทรมานเพราะความทุกข์นั้นเป็นเพราะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ไม่ใช่ปัญหาด้านจิตใจ ซึ่งเราแก้ไขได้ และเราก็หวังว่าทุกคนที่ฟังอยู่จะเข้าใจสมองและจัดการกับความทุกข์ได้ดีขึ้น เพราะในชีวิตเรามักจะได้พบการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากเราเรียนรู้และรู้จักปรับตัวไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เราก็จะผ่านเรื่องราวต่างๆ ไปได้ด้วยดี ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องงาน เราหวังว่าตัวช่วยที่เราแนะนำในวันนี้จะทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คุณทำงานอย่างไรก็ work ได้ไม่ยาก สั่งซื้อได้ที่ www.nanmeebooks.com, www.facebook.com/nanmeebooksfan พร้อมติดตามข่าวสารและหนังสือที่น่าสนใจอีกมากมายเพียง ADD LINE @nanmeebooks และ @nmbadult