ปัญหารถไฟทางคู่ไม่จบ ชาว ต.บ้านใหม่ โคราช หวั่นเมืองอกแตก ไม่เอาทางลอด-สะพาน ยันรูปแบบทางรถไฟต้องยกระดับ ฮึ่มเตรียมใช้บริการศาลปกครอง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ส.ค.63 ที่ศาลาประชาคม หมู่บ้านกรุงไทย 2 เขตเทศบาลตำบล (ทต.) บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา อ.เมือง เขต 4 พร้อมนายอนันต์ ละอองแก้วสุข ประธานกลุ่มพัฒนาชุมชนบ้านใหม่ 2020 และผู้นำชุมชนได้นัดประชุมหารือกรณีรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ตอนมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงเส้นทางรถไฟผ่านเขต ต.บ้านใหม่ รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับพื้นดินและสร้างรั้วกั้นแนวเขต ส่วนจุดตัดข้ามทางรถไฟ 5 จุด กำหนดเป็นสะพานเกือกม้าความสูง 10 เมตร ความยาว 1 กิโลเมตร ที่ช่วงหลักเสาโทรเลขรถไฟ 255+164.30 เส้นทางระหว่างถนนมิตรภาพ-บ้านยางน้อย หมู่ 11 ต.บ้านใหม่ และช่วง 260+454.38 ตลาดนัดเซฟวัน-ซอยทางมอญ บ้านศีรษะละเลิง หมู่ 7 ต.บ้านใหม่ ส่วนอีก 3 จุดตัดถูกปิดถาวร โดยเริ่มยกระดับทางรถไฟเมื่อลอดผ่านใต้สะพานทางแยกต่างระดับบายพาสนครราชสีมา ทั้งนี้ได้นำตัวอย่างหลายพื้นที่ซึ่งเป็นผลกระทบจากรูปแบบก่อสร้างเช่นน้ำท่วมขังในอุโมงค์ทางลอด การสร้างรั้วกั้นตามแนวเขตรถไฟและปิดจุดตัดข้ามทางรถไฟ แม้นได้สร้างสะพานเป็นทางข้ามทดแทนก็เสมือนการแบ่งแยกชาวบ้านในชุมชนออกจากกัน ส่งผลให้การสัญจรไปมาหาสู่กันยากลำบากรวมทั้งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้รถดับเพลิงจะต้องเสียเวลาในการระงับเหตุร้าย นายประพจน์ ส.อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า กายภาพของ ต.บ้านใหม่ เป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่ มี 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 3 หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรรจำนวน 15 แห่ง สถานศึกษาทุกระดับ 9 แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการขนาดใหญ่ ด้านทิศใต้เป็นทางรถไฟเชื่อมต่อถนนมิตรภาพและเขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา รูปแบบรถไฟทางคู่ไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมในอนาคต ก่อนหน้านี้ชาว ทน.นครราชสีมา ได้รวมตัวเคลื่อนไหว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงปรับรูปแบบรถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองเป็นยกระดับ ซึ่งชาว ต.บ้านใหม่ ก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องเช่นกันแต่ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด “ตนในฐานะตัวแทนชาว ต.บ้านใหม่ ต้องการให้รัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับจากสถานีรถไฟภูเขาลาดถึงใต้สะพานทางแยกต่างระดับบายพาส เชื่อมต่อสะพานโรงแรมสีมาธานีก่อนเข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมาหรือสร้างอุโมงค์ทางลอดใต้ทางรถไฟให้มีขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร เพื่อให้การสัญจรด้สะดวก มิเช่นนั้นพื้นที่ ต.บ้านใหม่ ต้องถูกแบ่งแยกจากเขต ทน.นครราชสีมา กลายเป็นสองเมืองอกแตกในอนาคตและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย หากเพิกเฉย พวกเราเตรียมใช้โมเดล “เมืองพล ขอนแก่น” ออกรวบรวมรายชื่อชาวบ้านยื่นฟ้องศาลปกครองนครราชสีมา เหมือนชาวเมืองพล จ.ขอนแก่น รวมตัวฟ้องศาลปกครอง เรื่องจุดตัดละเมิดสิทธิพื้นฐานในการเดินทาง-กระทบวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นทั้งเสี่ยงตาย-น้ำท่วมเมือง รฟท.จึงยอมปรับรูปแบบ” นายประพจน์ ส.อบจ.นครราชสีมา กล่าว