“ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)” เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีอยู่ก่อนแล้ว
มีทั้งการเสริมอุตสาหกรรมเดิม 5 อย่าง และเพิ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอีก 5 อย่างชนิด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมซ่อมอากาศยาน อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น กำลังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาลเกิดขึ้นจากพื้นที่ตรงนี้ โดยเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานพาณิชย์อู่ตะเภา ท่าเรือ ทางด่วน ฯลฯรวมทั้งปัจจัยที่ขาดเสียมิได้คือโครงสร้างด้านน้ำและต้องเป็นน้ำคุณภาพ มีปริมาณที่สร้างความเสถียร เพื่อไม่ให้การผลิตชะงักงัน อุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด มาเผชิญปัญหาใหญ่เมื่อปี 2548 เมื่อเกิดภาวะแล้งจัดขาดแคลนน้ำ จนกลายเป็นชนวนบาดหมางระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม
“ตอนนั้นเฉพาะระยองมีอ่างเก็บน้ำเพียง 2 อ่างเท่านั้น คือ อ่างฯ ดอกกราย กับอ่างฯ หนองปลาไหล พอเผชิญแล้งจัด ปัญหาน้ำก็ปะทุชัดขึ้น” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทานกล่าว
“ปัจจุบันระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ที่เพิ่มขึ้นคืออ่างฯ คลองใหญ่ อ่างฯ คลองระโอก และอ่างฯ ประแสร์ โดยเฉพาะประแสร์จะเป็นชุมทางใหญ่ในการผันน้ำผ่านระบบท่อไปยังอ่างฯ คลองใหญ่ และอ่างฯ หนองปลาไหล ซึ่งจะกระจายน้ำต่อไปยังชลบุรีอีกด้วย ในขณะที่ชลบุรี โดยอ่างฯ บางพระ ได้รับการผันน้ำเจ้าพระยาจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ทำให้คลายปัญหาความเดือดร้อนลงได้มาก”
นายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง กล่าวว่า เฉพาะ จ.ระยอง มีสัดส่วนการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด 53% รองลงมาเป็นภาคเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ ซึ่งสะท้อนสัดส่วนการใช้น้ำของ จ.ชลบุรี และ จ. ฉะเชิงเทรา ในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่การเกษตรใน จ.ระยอง มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากที่เคยมีพื้นที่ทำนา 30,000 ไร่ ก็ลดลงเหลือกว่า 10,000 ไร่ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน บ้านจัดสรร ส่วนใหญ่ของภาคเกษตรจึงเป็นสวนไม้ผล ซึ่งใช้น้ำมากในช่วงฤดูแล้งขณะเริ่มติดผล และกำลังเติบโต ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
สำหรับชลบุรี แหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ประสบปัญหาน้ำ เพราะอ่างเก็บน้ำหลักมีน้อยแห่ง ความจุไม่มากนัก มีอ่างเก็บน้ำบางพระ ความจุ 117 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่ค่อยมีน้ำเต็มอ่าง ส่วนหนึ่งเกิดการขยายชุมชน กีดขวางทางน้ำไหลลงอ่าง อ่างเก็บน้ำหนองค้อ ความจุ 20 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำมาบประชัน 16 ล้าน ลบ.ม. ภูมิประเทศของชลบุรีเองก็ค่อนข้างยากแก่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แม้กระทั่งอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชโลทรที่เพิ่งสร้างเสร็จมีลักษณะแบน ต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างอ่างจำนวนมาก
ฉะเชิงเทรา มีอ่างเก็บน้ำหลักคืออ่างเก็บน้ำคลองระบม ความจุ 55 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองสียัด 420 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอในการดูแลตัวเองที่ผ่านมา ชลบุรีจึงเผชิญปัญหาน้ำมากที่สุด และ ระยองก็เผชิญปัญหาตามมา เมื่ออุตสาหกรรมขยายตัวที่ระยองมากขึ้น แต่ค่อยๆ แก้ไขจนสามารถคลี่คลายปัญหาน้ำลงได้มาก ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาคตะวันออกมีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ความจุรวม 2.337 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 9.5% ของปริมาณน้ำท่า เฉพาะพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดมีน้ำเก็บกัก 1,331 ล้าน ลบ.ม. สภาพความต้องการน้ำใน 3 จังหวัดอีอีซี เพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมปีละ 628 ล้าน ลบ.ม. ได้รับการจัดสรรจากโครงข่าย 325 ล้าน ลบ.ม./ปี ที่เหลือน้ำจากแหล่งอื่นนอกระบบโครงข่าย เช่น
น้ำบาดาล แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้นปริมาณน้ำที่จัดสรรให้ 325 ล้าน ลบ.ม./ปีนั้น แหล่งน้ำฝนระบบโครงข่ายยังรองรับได้อีก 4 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับระยะ 20 ปีภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอีอีซี ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมจะเพิ่มเป็น 1,200 ล้าน ลบ.ม./ปี จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรจากระบบโครงข่ายกรมชลประทานรวม 1,000 ล้าน ลบ.ม. พร้อมๆ กับปัญหาน้ำท่วมที่แถมพ่วงเข้ามาด้วย กรมชลประทานวางแผนแก้ปัญหาน้ำ โดย 1.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 2.พัฒนาแหล่งน้ำใหม่
3.เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4.สูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ 5.ป้องกันน้ำท่วม แผนในระยะ 5 ปีแรกเป็นการจัดหาน้ำภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างฯ หนองปลาไหล อ่างฯ คลองสียัด อ่างฯ หนองค้อ อ่างฯ บ้านบึง และอ่างฯ มาบประชัน ได้ความจุเพิ่ม 84 ล้าน ลบ.ม. การสูบน้ำท้ายอ่างฯ หนองปลาไหลกลับไปเก็บในอ่างฯ ปีละ 5 ล้าน ลบ.ม. และการสูบน้ำท้ายอ่างฯ ประแสร์กลับไปเก็บในอ่างฯ อีกปีละ 10 ล้าน ลบ.ม.การสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำวังโตนด 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ คลองพะวาใหญ่ อ่างฯ คลองหางแมว อ่างฯ คลองวังโตนด โดยมีอ่างฯ คลองประแกดกำลังสร้างใกล้เสร็จแล้ว และเชื่อมโยงแห่งน้ำจากวังโตนด ทำให้ได้ปริมาณน้ำเข้ามาในระบบ 100 ล้าน ลบ.ม.แผนระยะ 10 ปี จะผันน้ำจากเขื่อนสตึงนัม ของกัมพูชามายังอ่างฯ ประแสร์ ได้น้ำเพิ่มในระบบโครงข่ายได้อีก 288 ล้าน ลบ.ม. ไม่รวมน้ำเพื่อการเกษตรตามแนวท่อบริเวณ จ.ตราด จ.จันทบุรี และระยองอีก 455 ล้าน ลบ.ม. และการเชื่อมระบบท่ออ่างฯ ประแสร์ผันน้ำไปยังอ่างฯ หนองค้อ และอ่างฯ บางพระ อีก 40 ล้าน ลบ.ม./ปี
แผนการข้างต้นดังกล่าว จะได้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม 604 ล้าน ลบ.ม. บวกกับของเดิม 325 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงพอที่จะรองรับความต้องการของระเบียงเศรษฐกิจอีอีซี 20 ปี
ส่วนการป้องกันน้ำท่วม จะดำเนินการในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เมืองระยอง จ.ระยอง และ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำ ระบบสูบน้ำ ท่อระบายน้ำหลาก เป็นต้น
โชคดีที่โครงการเหล่านี้ กรมชลประทานวางแผนพัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังติดขัดล่าช้าด้วยปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประกาศนโยบายระเบียงเศรษฐกิจอีอีซี มีส่วนเร่งให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น เกิดประโยชน์คุ้มค่าอย่างที่เห็นจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 1 ใน 5 ของประเทศมาแล้วน้ำไม่สำคัญเฉพาะในเชิงเกษตรกรรมอย่างที่เห็นมาโดยตลอด อีกด้านหนึ่ง น้ำยังสำคัญในเชิงอุตสาหกรรมชัดเจน โดยเฉพาะโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีอยู่แล้ว และโครงการระเบียงเศรษฐกิจอีอีซี
ที่กำลังขับเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย