สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนและสถานศึกษาที่นักเรียนจะต้องปรับตัวกับการเรียนการสอนในชีวิตปกติใหม่ (New Normal) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับบทบาทของครูอาจารย์ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนโดยใช้สื่อต่างๆ ที่เหมาะสมกับการถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้เรียนในชั้นเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง “สื่อการเรียนรู้” (instructional media) มีบทบาทสำคัญมากในการจัดการการเรียนรู้ คุณสมบัติสำคัญของสื่อเปรียบได้กับการสื่อสาร การเรียนรู้ในชั้นเรียน ผู้สอนจะถ่ายทอดเนื้อหาต่างๆ ไปยังผู้เรียนโดยผ่าน “สื่อการเรียนรู้” ไปยังผู้เรียน ผศ.ดร.พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการใช้สื่อให้เหมาะสมกับเด็กนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในยุค New Normal ว่า ในการออกแบบสื่อเพื่อใช้ในการเรียนการสอนอาศัยหลักการ ASSURE Model หรือการใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบโดยใช้แบบจำลอง ประกอบด้วย การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน การกำหนดวัตถุประสงค์ การเลือก ดัดแปลง หรือออกแบบสื่อใหม่ การใช้สื่อ การกำหนดการตอบสนองของผู้เรียน และการประเมินผล ซึ่งในรายวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้ใช้โมเดลนี้เพื่อช่วยให้ผู้สอนออกแบบวางแผนสื่อการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ผศ.ดร.พรสุข อธิบายเพิ่มเติมถึงองค์ประกอบในการออกแบบสื่อ เริ่มจากการวิเคราะห์ผู้เรียนว่ามีคุณลักษณะอย่างไร มีข้อจำกัดในตัวผู้เรียนหรือตัวเนื้อหาหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถออกแบบบทเรียนได้สอดคล้องกับบุคลิกของผู้เรียนได้มากขึ้น จากนั้นจึงวางแผน กำหนดวัตถุประสงค์ว่าสื่อที่ผลิตขึ้นมานั้นจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้เรื่องอะไร เลือก ดัดแปลงหรือออกแบบใหม่ ในการใช้สื่อต้องคำนึงว่าเราจะนำสื่อมาใช้เพื่ออะไร จากนั้นจึงตรวจสอบว่าจะให้ผู้เรียนตอบสนองอย่างไร บางครั้งการแสดงเนื้อหาอย่างเดียวโดยไม่ได้ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมก็อาจจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายได้ สุดท้ายคือ การประเมินผล (ซ้าย) ผศ.ดร.พรสุข (ขวา) อ.ดร.ปิยานี “สำหรับคุณครูหลายท่านที่อาจจะไม่ถนัดในเรื่องของการผลิตสื่อหรือผลิตองค์ประกอบการเรียนรู้ว่าทำอย่างไร จุฬาฯ เราก็มี Chula Mooc ให้ศึกษาเพิ่มเติม หลายบทเรียนเป็นบทเรียนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอน รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน หรือจะเป็นสื่ออื่นๆ เช่น YouTube ก็สามารถทำให้เป็นองค์ความรู้หรือนำมาประยุกต์ใช้กับห้องเรียนได้ ในเว็บไซต์ต่างๆ ก็มีสอนการผลิตสื่อ มีเพจที่เกี่ยวกันแบ่งปันตั้งแต่แผนการสอน รูปแบบการสอน หรือสื่อการสอน เราก็จะสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมได้ค่ะ” ผศ.ดร.พรสุข กล่าว อ.ดร.ปิยานี จิตร์เจริญ อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) กล่าวถึงความสำคัญของสื่อการเรียนรู้ว่า สื่อที่เราเห็นส่วนใหญ่เป็นสื่อที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หนังสือเรียน รวมถึงสื่อที่เป็นตัวบุคคล เช่น ครู ผู้ปกครอง นอกจากนี้ ยังหมายถึงอาคารต่างๆ รวมไปถึงกิจกรรมซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ การใช้สื่อในโรงเรียนที่สอนเด็กประถมจะมีความสัมพันธ์กับเด็กอย่างมาก นอกจากจะทำให้เด็กมีความสนใจกับบทเรียนแล้ว ยังทำให้เด็กเกิดการรับรู้ ไม่ว่าจะผ่านการสัมผัสของจริงหรือการมองเป็นภาพ เด็กเล็กจะมีช่วงความสนใจที่ต่างไปจากเด็กโต ดังนั้น ครูผู้ใช้สื่อควรนำสื่อมาใช้ให้เหมาะกับวิชาและโอกาส ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน ทำให้สิ่งที่ซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเห็นภาพ ที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติและความเป็นจริงได้มากที่สุด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แก่นักเรียน ซึ่งสื่อที่ใช้มีทั้งประเภทสื่อทำมือ และสื่อออนไลน์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่โพสต์ไว้ในแพลตฟอร์มต่างๆ ของโรงเรียนจะช่วยให้เด็กติดตามบทเรียนได้อย่างไม่ขาดตอน นอกจากนี้ สื่อที่โรงเรียนจัดทำขึ้นต้องทำให้ผู้ปกครองเกิดความเข้าใจด้วย ทั้งนี้ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้นำแพลตฟอร์มในการเรียนออนไลน์ในรูปของแอปพลิเคชัน CUD Smart School มาใช้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ Tablet หรือว่าโทรศัพท์ แอปพลิเคชันนี้จะบรรจุสิ่งต่างๆ ที่คล้ายเป็นห้องเรียนเสมือนจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาที่เด็กๆ จะต้องเข้าไปเรียน ตารางเรียน ไฟล์วีดีโอ แบบฝึกหัดหรือเอกสาร เพื่อให้นักเรียนดาวน์โหลดนำไปใช้งาน ทำให้เด็กๆ มีความต่อเนื่องในการเรียน” ดร.ปิยานี กล่าว ปัจจุบัน โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนเป็นปกติแบบ 100% ในห้องเรียน โดยมีนโยบายการจัดการเกี่ยวกับระยะห่างทางกายภาพให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อาทิ มีการจัดห้องเรียนรูปแบบใหม่ การคัดกรองด้วยเครื่อง thermal scan ก่อนเข้าสู่โรงเรียน รวมถึงขอความร่วมมือจากเด็กๆ ในการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันให้มีระยะห่างมากขึ้น