ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า... ‘ความไม่เสมอภาค’ ในรัฐธรรมนูญปี 60 อาจนำพาประเทศ “ไปสู่รวยกระจุกจนกระจายยิ่งขึ้น หรืออย่างไร ?” . รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีความ “ไม่พอดี” และ “ไม่สมดุล” ทั้งในด้านโครงสร้างอำนาจ กลไก และมาตราการในการจัดสรรแบ่งปัน อำนาจ ผลประโยชน์ ทรัพยากร และความยุติธรรม หลายประการ ทั้งมีที่มาของ รธน. ที่เกิดจากผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร กระบวนการยกร่างจัดทำขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและถูกครอบงำ แม้จะอ้างว่ามีการลงประชามติรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เป็นการประชามติที่ประชาชนรณรงค์ไม่เห็นด้วยถูกจับกุม ขาดเสรีภาพ เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย . ในด้าน “เนื้อหารัฐธรรมนูญ” หลายส่วนขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม มีความไม่พอดี และความไม่สมดุล เพราะคณะรัฐประหารและผู้ร่างไม่ไว้ใจประชาชน จึงมีอคติที่มีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็น รธน. ที่สร้างโครงสร้างอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ วุฒิสภา และโครงสร้างอำนาจรัฐ มีพลังอำนาจสูงสุด ผู้ดำรงตำแหน่งล้วนมีที่มาจากระบบการแต่งตั้งจากระบบราชการ กองทัพ และฝ่ายตุลาการ ที่มีอำนาจมากและปราศจากการตรวจสอบจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย . เมื่อพิจารณาอายุของผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพบว่าเป็น “วัยชรา หรือผู้สูงอายุ” ทั้งสิ้น ผู้อยู่ในวัยทำงาน หนุ่ม สาว เยาวชนคนรุ่นใหม่แทบไม่มีโอกาสเลย แม้จำมองว่าผู้สูงอายุ หรือวัยชราจะผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากที่นับว่ามีประโยชน์ก็ตาม แต่ไม่เสมอไปและมีส่วนด้อยด้านศักยภาพทางร่างกายสุขภาพและจิตใจในหลายประการ ซึ่งกรณีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญนั้นสามารถมีได้ในคนทุกเพศทุกวัยไม่จำกัด ยิ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้มีส่วนร่วมยิ่งแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ไม่ควรละเว้นแม้แต่สตรีหรือผู้พิการหรือเยาวชนหากเรื่องที่ตัดสินใจเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น ในกรณีอายุ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 หากพิจารณาด้านอายุ พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ได้ถึงอายุ 75 ปี กกต. ป.ป.ช. คตง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ได้ถึงอายุ 70 ปี ส.ว. หลายคนอาจมีอายุกว่า 70 ปี นี่ยังไม่รวมถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่มีอายุใกล้ 70 ปี . ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงข้อมูลพบว่ามีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปในสังคมไทยประมาณ 11ล้านคนเศษ หรือประมาณมากกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุทุกคนล้วนมีประสบการณ์ชีวิต มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายทำไหมจึงไม่มีความเสมอภาค หรือเสมอหน้ากันในเข้าสู่ตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ? . รัฐธรรมนูญปี 60 มี ‘บทเฉพาะกาล’ ที่เป็นมรดกของ คสช ซึ่งโดยหลักการ บทเฉพาะกาล เป็นส่วนกฎหมายที่บัญญัติให้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งหรือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับกฎหมายนั้น แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี60 ได้บัญญัติให้ ‘สมาชิกวุฒิสภา’จำนวนเป็น 250 คนมาจากการเลือกของคณะ คสช มีกำหนด 5 ปี(ถึง 10 พฤษภาคม 2567) กำหนดภารกิจพิเศษ คือ ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจในการกำกับการปฏิรูปประเทศ หรือกำหนดชะตากรรมของประเทศ และกรณีกฏหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเสนอหากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าร่างกฏหมายใดเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้เป็นการพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมของ’รัฐสภา’จะมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงเข้าพิจารณาทำให้ คสช สืบทอดมรดกได้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ . ภายหลังรัฐประหารมีรัฐบาล คสช ปกครองประเทศปี 57 เป็นต้นมาและต่อเนื่องมารัฐบาลปัจจุบัน ปรากฏการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของคนไทยได้เพิ่มขึ้นรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ผู้ยากจนของไทยสิ้นปี 56 (ก่อนจะมีรัฐประหารในปี57 ) มีประมาณ 7.3 ล้านคน หลัง คสช ยึดอำนาจและปกครองประเทศข้อมูลในปี 61 ผู้ยากจนมีรายได้น้อยจริงรัฐช่วยเหลือพิเศษผ่านบัตรสวัสดิการมีจำนวนมากถึง 11.4 ล้านคน (บัตรฯ) และในปัจจุบันปี 63 (ต้นปี)เพิ่มเป็นจำนวน 14.6 ล้านคน การที่ความยากจนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ 60 . จึงมีคำถามว่า ‘รัฐธรรมนูญปี 60 ‘ ที่สืบทอดมรดก คสช กำลังจะ “นำพาประเทศสู่การรวยกระจุกจนกระจายยิ่งขึ้น หรืออย่างไร ?”