กมธ.ชี้รื้อม.256 เป็นกุญแจดอกแรก ถ้าไม่ทำแก้ที่เหลือไม่ได้ เผยชงพ่วงรื้อหมวดเลือกตั้งส.ส.ด้วย ชี้ปมเร่งด่วน พิสูจน์แล้วมีปัญหาจริง รอสสร.ไม่ได้ เชื่อข้อเสนอนี้ส.ว.อุ่นใจ ด้าน “นิกร” ชงทำประชามติ 2 ครั้ง  เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวถึงข้อเสนอแก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ว่า ถือเป็นข้อสรุปที่กมธ.ได้ตกลงร่วมกัน หลังอนุกมธ.ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฏหมายอื่น ที่ตนเป็นเลขานุการ ได้มีความเห็นร่วมกันเสนอต่อกมธ.คณะใหญ่ ก่อนที่จะมีมติให้มีข้อเสนอดังกล่าวออกมา เพราะจากการพิจารณาของกมธ.ทั้งหมดแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ และเกี่ยวพันเกือบทุกหมวดในรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ก่อน เพราะเป็นกุญแจดอกแรก ถ้าไม่เริ่มที่มาตรา 256 เปิดทางให้มีการตั้งสสร. ส่วนอื่นๆที่เป็นปัญหาจะแก้ไขไม่ได้เลย จากนั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของสสร.เข้ามาดูรายละเอียดอื่นๆต่อไป ซึ่งตนคิดว่า ข้อเสนอดังกล่าวน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่ทำให้ ส.ว.ชุดนี้ที่ถือว่า มีส่วนสำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสู่การแก้ไขได้คลายความกังวลใจลง เพราะกมธ.จะไม่ได้ชี้เองว่า จะตัดอำนาจใดของส.ว.ลงหรือไม่ แต่จะยกหน้าที่นี้ให้สสร.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนดังกล่าว อาจจะใช้เวลาอีกเป็นปี และเมื่อถึงเวลานั้น สสร.อาจมีความเห็นให้ส.ว.ชุดนี้อยู่ไปจนครบวาระ 5 ปีตามบทเฉพาะกาลก็ได้  นายนิกร กล่าวว่า นอกจากเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสสร.แล้ว กมธ.ยังเห็นชอบให้มีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งส.ส.ทั้งหมดในรัฐธรรมนูญพ่วงเข้ามาเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขไปพร้อมๆกับมาตรา 256 ด้วย โดยเรื่องดังกล่าวจะไม่รอให้สสร.เข้ามาพิจารณา เพราะที่ผ่านมาระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า มีปัญหาจริง หากรอให้มีการเลือกตั้งใหม่ อาจจะนำไปสู่ระบบการเมืองที่ไม่ลงตัวอีก ดังนั้น การวางเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนก็เพื่อที่ระหว่างทางหลังจากนี้หากมีการยุบสภา ปัญหานี้จะได้คลี่คลายลงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังได้เสนอต่อกมธ.ด้วยว่า ให้มีการทำประชามติทั้งขาไปและขากลับ โดยให้ถามประชาชนตั้งแต่ตอนเริ่มแก้เลยว่า จะเห็นด้วยกับวิธีตั้งสสร.หรือไม่ เพื่อใช้ธงจากความเห็นของประชาชนไปสู่การยกร่างฉบับใหม่ แล้วนำเนื้อหาไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งว่า จะรับหรือไม่ ซึ่งตามข้อเสนอนี้อาจจะเสียงบประมาณมาก แต่ถือว่า เป็นวิธีการสร้างเกราะป้องกันให้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนยอมรับและยังลดความรุนแรงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทางด้วย ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดกมธ.จะทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยจะมีทุกความเห็นโดยละเอียดเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯให้ทันภายในสมัยประชุมนี้