เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่มีส.ว.บางส่วนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นความเห็นของแต่ละบุคคล แต่วุฒิสภายังไม่ได้พูดคุยถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ยังอีกไกล และคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือให้ทำในลักษณะใด แต่ส่วนตัวตนเห็นว่าโครงของรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ.2560 มาจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 และฉบับพ.ศ.2540 หากจะแก้ไข ต้องไปดูรายประเด็น ซึ่งจะทำได้ง่าย และรวดเร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่สังคมเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง หรือกฎหมายฉบับใดที่ใช้แล้วเกิดการติดขัด แต่ต้องไม่ลืมว่าก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ดังนั้นประเด็นที่เป็นโครงใหญ่ของรัฐธรรมนูญควรคงอยู่ในหลักการ อีกทั้งประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในขณะนี้ คือเรื่องที่เกี่ยวกับ ส.ส.และส.ว. รวมถึงการทำงานขององค์กรอิสระ ซึ่งถ้ามีประเด็นเพียงเท่านี้ ตนคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. “ต้องดูว่ามีประเด็นไหนที่เสียงส่วนใหญ่ติดใจ จะพูดว่าเป็นเรือทั้งลำหรือเหมาเข่ง อย่างตอนแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บอกว่ามีปัญหา จึงจะร่างใหม่ และเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ก็บอกว่าฉบับปี 2550 ดีกว่า ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 เดินมาไกลแล้ว ถ้าเห็นว่ามีปัญหาที่ประเด็นไหน ก็ควรแก้ตรงนั้น และให้สังคมช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ”นายสมชาย กล่าว เมื่อถามว่าถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ตนไม่ห่วงเรื่องข้อเสนอ หรือวิธีคิดของกลุ่มนิสิตนักศึกษา เพราะเป็นข้อเสนอที่เป็นประชาธิปไตย สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่จะตรงกับความต้องการหรือไม่นั้น ต้องมาพูดคุยกัน ทั้งนี้ ตนไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความวุ่นวาย หากไม่มีปัจจัยอื่นหรือไปกระทบกับสิ่งที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากแกนนำกลุ่มนิสิตนักศึกษาว่าให้ระมัดระวังบุคคลที่เข้าไปแอบอ้าง ทั้งทางสื่อโซเชียลหรือการถือป้ายถ่ายรูปในจุดชุมนุม เพื่อพยายามจะสร้างให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงเหมือนในอดีต ซึ่งตนมองว่าเป็นความคิดที่ล้าหลังมาก เพราะประเทศมาไกลแล้ว อีกทั้งตอนนี้ประเทศเรามีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งภัยโรคโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจ แต่ตนยังเชื่อว่าปัญหาทางความคิดจะสามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ และอยากเห็นเวทีการร่วมกันพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นระหว่างนักศึกษา ตัวแทนของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.