เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ได้มีการสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด: ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน” ซึ่งจัดโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา และมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พ.ศ.2563 กล่าวว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 ก้อน ก้อนที่ 1 วงเงิน 45,000 ล้านบาท ใช้ด้านสาธารณสุขและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีมีการระบาดของโรค ก้อนที่ 2 ประมาณ 550,000 ล้านบาท สำหรับการเยียวยา โดยเป็นการจ่ายตรงไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ และก้อนที่ 3 ประมาณ 400,000 ล้านบาทใช้ในด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก้อนนี้แบ่งการใช้เป็น 4 ส่วน คือ 1.การเพิ่มศักยภาพประเทศ อาทิ การใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยเกษตรกร 2.เศรษฐกิจฐานราก เน้นเรื่องการจ้างงาน และสร้างความเข้มแข็งชุมชน 3.การกระตุ้นการบริโภค และ 4.โครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องเกิดประโยชน์ในแง่เกิดการหมุนเวียนและตอบโจทย์ของพื้นที่ นายดนุชา กล่าวอีกว่า ตอนนี้ส่วนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว มีวงเงินประมาณ 37,000 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติมีทั้งด้านการเกษตร การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การจ้างงานนักศึกษาที่ว่างงานไปเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ล่าสุด คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ให้ความเห็นชอบอีก 160 โครงการเล็กๆ วงเงินงบประมาณราว 800 ล้านบาท กระจาย 58 จังหวัด โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า ส่วนโครงการที่ไม่ผ่านความเห็นชอบ เป็นสิ่งที่เราพิจารณาแล้วว่าไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ การจัดอีเวนต์งาน การจัดอบรมที่มีเนื้อหาและรูปแบบซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆแก่ประชาชนจริง รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ส่วนเรื่องโครงการแบบที่เรียกว่า “คุณขอมา”นั้น ไม่มีผ่านเข้ามาในคณะอนุกรรมการของตน และไม่มีการกดดันใดๆ เรานำผู้ทรงคุณวุฒิมาทำงานกับเราในการช่วยพิจารณาคัดเลือก ขณะเดียวกัน ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนได้ทราบและมีส่วนร่วมมาตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต เราจึงมีการเปิดเว็บไซต์ THAIme สำหรับการเปิดเผยข้อมูลโครงการและการเบิกจ่ายของโครงการของเงินกู้ตามพ.ร.ก.ในส่วนของ 400,000 ล้านบาท ขอยืนยันว่าการกลั่นกรองเรามีเกณฑ์ของเรา และดูรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เพื่อเลือกโครงการที่มีประโยชน์จริงๆ ส่วนเรื่องการจ้างงาน เรากำหนดว่าต้องใช้การจ่ายเงินแบบอี-แบงกิ้ง โอนตรง รวมถึงตนกำลังหารือกับกระทรวงแรงงานและสำนักงานรัฐบาลอีเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ทำสิ่งที่เรียกว่า “เลเบอร์ แพลตฟอร์ม” เพื่อช่วยเสริมเรื่องการจ้างงาน นอกจากนี้ เราได้เสนอเงื่อนไขให้ครม.อนุมัติเพื่อใช้แก้ปัญหาการทุจริตด้วย พยายามปิดจุดรั่วหรือเกิดสิ่งที่ไม่ดี ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ตอนที่มีการเสนอพ.ร.ก. เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาเรามีความกังวลเรื่องการใช้เงินกู้ให้เหมาะกับประเทศไทย โดยเราต้องการให้การใช้เงินนี้เกิดประโยชน์ตรงเป้าจริงๆ ทั่วถึง และคุ้มค่า แม้มีสศช.และคณะกรรมการกลั่นกรอง แต่ยังขาดคณะที่มีภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมตรวจสอบ และป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ทั้งนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่งบางแห่งมีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์ เช่น โครงการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ในหลายพื้นที่ ที่เงินมักจะหายไปกับการทุจริต ไม่ได้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง "หากใช้เงินเข้าเป้า จะช่วยฟื้นฟูเยียวยาความเหี่ยวเฉาให้อยู่รอด แต่หากเทน้ำผิดที่ ให้ปุ๋ยผิดอย่าง ต้นไม้ก็ตาย ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษขึ้นมา 30 คน จะติดตามการใช้เงินกู้จากนี้ไปจนจบปี 2564 โดยจะติดตามการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองเสนออนุมัติ ครม.อะไรบ้าง ติดตาม ครม.อนุมัติอะไร ซึ่ง ส.ว.เรามีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล จะกัดไม่ปล่อยจนกระทั่งจบงบ" นายสมชายกล่าว ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และกมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด กล่าวว่า ต้องมีการบริหารจัดการการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินให้ตรงวัตถุประสงค์ เพราะหากใช้ไม่ตรงจะเป็นการกู้เงินโดยเปล่าประมาณ อีกทั้งเป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ตนขอเสนอมาตรการทางเลือกในการใช้งบประมาณที่เหลืออย่างตรงจุด คือ 1.การเยียวยาประชาชนรอบที่ 2 สำหรับบุคคลที่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ ที่คาดว่ามีประมาณ 28 ล้านคน คนละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงิน 250,000 ล้านบาท 2.การช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงิน 200,000 ล้านบาท ใช้ในการพยุงการจ้างงานไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ไม่เกิน 9,000 บาท ด้วยการสนับสนุนผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 3.การใช้อุดหนุนการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะเปิดบางจังหวัดที่มีความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว 4.การนำไปใช้ด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางและมีฐานะยากจนให้ได้เรียนต่อ 5.การปลดล็อคสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการให้ได้เข้าถึงจริง ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อมีเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท หลายคนคาดหวังว่าจะมาช่วยอะไรๆให้ดีขึ้น แต่ทุกครั้งที่ประเทศเรามีการอัดฉีดเงิน มักมีการโกงทุกครั้ง อยู่ที่โกงมากหรือน้อย มีการโกงกันเป็นเรื่องราว ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เก็บข้อมูลสถิติการรับเรื่องร้องเรียนที่ถูกส่งเข้ามา ช่วงวันที่ 3 เม.ย.-30 พ.ค.2563 มีจำนวน 1,300 ข้อมูล พบว่ามีเรื่องที่เสี่ยงเป็นการทุจริต 974 ข้อมูล ซึ่งแบ่งเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ในการทุจริตสูงมาก 129 ข้อมูล การทุจริตสูง 337 ข้อมูล ทุจริตปานกลาง 465 ข้อมูล ทุจริตไม่ชัดเจน 43 ข้อมูล และยังน่ากังวลว่าในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น อาจจะมีการดึงงบประมาณไปใช้เพื่อผลประโยชน์ด้านการเมือง เราจึงต้องตรวจสอบทุกเรื่องที่อยู่ในแผนวงเงินกู้ และเราคาดหวังว่าต้องมีการโกงน้อยที่สุด บรรดาข้อเสนอต่างๆในการป้องกันการรั่วไหลหรือให้การใช้เงินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงควรมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระ รวมถึงประชาชนและสื่อมวลชนต้องช่วยกันส่งเสียงเมื่อพบเรื่องที่ส่อว่าอาจมีการทุจริต ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการอย่างเดียว ต้องให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเห็นข้อมูลการใช้งบประมาณได้อย่างเปิดเผย /และมีสิทธิ์ในการชี้เป้าหากพบข้อสงสัยว่ามีการทุจริต