รองผู้ว่าราชบุรี สำนักศิลปากรที่ 1 ส.ส.ราชบุรีตรวจดูการบูรณะพระปรางค์วัดอรัญญิกกาวาส อายุหลายร้อยปี และอุโบสถเก่าวัดคุ้งกระถิน สร้างประมาณปี พ.ศ. 2469 รวม 2 วัด งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท วันนี้( 1 ส.ค. 63 ) ผู้สื่อข่าวรางนาว่า นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยนางศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และนางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.เขต 1 ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ตรวจดูการบูรณะซ่อมแซมพระปรางค์และระเบียงคด วัดอรัญญิกาวาส ต.เจดีย์หัก อ.เมือง สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2030 - 2035 มีอายุกว่า 500 ปี หลังได้รับงบประมาณอุดหนุนการบูรณะ จำนวน 19 .4 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่15 กรกฎาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ซึ่งได้เริ่มนำเหล็กเส้นมาผูกต่อขึ้นไปบริเวณรอบพระปรางค์ที่เก่าแก่ในสมัยอยุธยา ภาในพระปรางค์มีพระพุทธรูปสร้างในสมัยเดียวกันประดิษฐานอยู่โดยรอบ ช่วงกลางของพระปรางค์มีพระพุทธรูปองค์ประธานที่เก่าแก่หันหน้าไปทางทิศตะวัดออก หน้าพร้อมทยอยปรับปรุงรื้อระเบียงคดซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างไปแล้วบางส่วน นายณัฐพล ระดาฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถานได้เปิดเผยแนวทางขอบเขตบูรณะจะมีพระปรางค์ประธานและพระปรางค์บริวารซึ่งเหลือเพียงองค์เดียว ตามหลักแล้วจะต้องมีอยู่จำนวน 4 องค์ หรือ 4 ทิศ จะบูรณะทั้ง 2 องค์ เสริมความมั่นคงลวดลายปูนปั้น ส่วนไหนที่หลุดหายไปก็จะเสริมเข้าไป จุดไหนที่อิฐชำรุดก็จะทำการซ่อมเปลี่ยนอิฐใหม่เป็นอิฐเผาโบราณแบบดั้งเดิม มีการเคลือบน้ำยาป้องกันเชื้อรา บางส่วนที่โดนฟ้าผ่าไปพอมีหลักฐานเดิมจะปั้นขึ้นมา โดยรักษารูปทรงเดิมไว้ ส่วนกระเบื้องซีเมนต์เดิมที่เคยขุดเจอนั้นพบว่ามีการปูด้วยอิฐโบราณเผา ซึ่งจะรื้อฟื้นกลับมาเป็นแบบเดิมตามหลักฐานที่ขุดพบทางโบราณคดี โดยการปูด้วยดินเผาและกระเบื้องดินเผา เป็นวัสดุที่ระบายความชื้นได้ดีกว่าซีเมนต์ทำให้ตัวพระปรางค์และระเบียงคดมีอายุการใช้งานคงทน สามารถระบายผ่านวัสดุนี้ได้ ส่วนระเบียงคดมีหลักฐานที่ขุดเจอเป็นกระเบื้องดินเผาและกระเบื้องกาบกล้วยสมัยโบราณใช้มุงหลังคา กรมศิลป์จะยึดหลักฐานที่ค้นพบแบบเดิม สำหรับบริเวณระเบียงคดมีการขุดค้นพบประมาณ 3 ยุค ยุคที่เห็นเป็นยุคที่ 3 เหลืออีก 2 ยุคที่ซ่อนอยู่ มีหลักฐานไม่สมบูรณ์ จึงคงยึดในยุคปัจจุบันไว้ ส่วนหลังคาจากเดิมเป็นสังกะสี จะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผากาบกล้วย และมีจุดที่สำคัญต้องดำเนินการซ่อมแซมอีกหลายจุด นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรีพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เมื่อครั้งมี ครม.สัญจรของนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2562 จังหวัดได้นำเสนอโครงการเกี่ยวกับบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่ มีโบราณสถานของราชบุรี ได้แก่ วัดอรัญญิกาวาส วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดคุ้งกระถิน ในปี 63 ได้รับงบประมาณผ่านทางกรมศิลปากรได้แก่ วัดอรัญญิกาวาสและวัดคุ้งกระถิน ขณะที่มีประเด็นสำคัญโบราณสถานบอมเบย์เบอร์ม่าที่ จ.แพร่ ได้รับติดตามข่าววัดหมื่นล้านที่ จ.เชียงใหม่ มีความกังวลใจจึงประสานรองผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 มาร่วมรับฟังกับชาวบ้านในพื้นที่ถึงแนวทางของกรมศิลป์ ที่บูรณะพื้นที่อย่างไรบ้าง เพื่อความสบายใจกับโบราณสถานเก่าแก่ที่สำคัญไม่ถูกทำลายไป อนาคตอยากให้วัดอรัญญิกาวาส กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่เชื่อมต่อเส้นทางของเมืองราชบุรีในอนาคตด้วย จากนั้นคณะได้ไปที่วัดคุ้งกระถิน ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง บริเวณประตูอุโบสถระบุก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 หรือในสมัยรัชกาลที่ 3 เริ่มสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 งบประมาณ 4.3 ล้านบาท มีพระอธิการเสกสรร พันธมุตโต เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน โดยได้เริ่มทำการบูรณะทั้งด้านในและด้านนอกบางจุดแล้ว อุโบสถหลังนี้เป็นอุโบสถที่คงความงดงามในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าบันปูนปั้น ตรงกลางจะเป็นแจกัน ข้างๆจะมีสิงโต 2 ตัวหางเป็นหงส์ ด้านข้างยังมีหงส์อีก 2 ตัว ด้านบนเป็นดอกไม้สวยงาม เป็นรูปแบบที่ค้ำอยู่ชายคารอบๆเหมือนกับวัดเทพธิดาราม และยังมีศิลปะการปั้นมะกรซึ่งเป็นสัตว์ผสมระหว่างตัวมังกรกับตัวนาคเป็นสัตว์มงคลในสมัยโบราณที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนา บริเวณด้านหน้าอุโบสถยังมีรูปปั้นคล้ายหมาจู แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก นางศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เปิดเผยว่า ส่วนวัดคุ้งกระถินงบประมาณเต็มจำนวน 5 ล้านบาท แต่เปิดซองมาเป็น 4 ล้านบาทเศษ ที่วัดนี้มีการบูรณะชั้นหลังคา ตัวรอบพระอุโบสถ พื้นลาน ตัวกำแพงแก้ว ตัวกำแพงแก้วจะมีปัญหาเรื่องต้นไม้ จึงได้สอบถามทางวัดจนได้ข้อสรุปให้นำออกและให้คงเหลือไว้เพียงบางต้น สันนิษฐานคาดว่าก่อสร้างระหว่างปลายอยุธยาต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนวัดอรัญญิกาวาส เป็นงบอุดหนุนจำนวน 19 ล้านเศษ โดยวัดจะออก 25 เปอร์เซ็นต์ ทางกรมศิลป์ออกให้ 75 เปอร์เซ็นต์ จะปรับปรุงองค์พระปรางค์ เจดีย์ประจำทิศ กำแพงแก้ว มีการใส่ตัวหลังคาใหม่ การปรับพื้นลาย ส่วนพระนอนยังไม่ได้อยู่ในการบูรณะเพราะเคยได้รับการบูรณะแล้วเมื่อปี 2547 โดยกรมการทหารช่าง ซึ่งรับแบบจากกรมศิลป์ไปดำเนินการเนื่องจากพื้นที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ ส่วนการดำเนินการบูรณะวัดอรัญญิกาวาสจะใช้เวลาประมาณ 300 วัน โดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ดูแลพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ จะดูแต่ละพื้นที่ไหนเข้าขั้นวิกฤตมีความเสียหายเยอะจะได้เร่งบูรณะก่อน ส่วนจุดไหนที่ยังพออยู่ได้ก็จะเข้าไปจัดทำรูปแบบไว้เพื่อเตรียมของบประมาณปีถัดไป