ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี หรือ ‘SICT’ บริษัทชั้นนำของไทยในด้านออกแบบ พัฒนา และจำหน่ายไมโครชิพ นำหุ้น Deep Tech เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตอกย้ำศักยภาพของธุรกิจ ไมโครชิพและแผนการขยายธุรกิจเติบโต 2 เท่าตัว ภายใน 4 ปีข้างหน้า นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี เปิดเผยว่า บริษัทได้นำหุ้น SICT เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 หลังจากประสบความสำเร็จในการขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.38 บาท ให้แก่นักลงทุนในประเทศ เมื่อวันที่ 21-23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และสามารถระดมทุนได้ 138 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยหุ้น SICT ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก สามารถจัดจำหน่ายหุ้นได้เต็มจำนวนก่อนครบกำหนดปิดการจอง และมีผู้ที่สนใจสอบถามเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในอนาคตและเทคโนโลยีของบริษัทที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ New S-Curve” “SICT เป็นบริษัทไทยในธุรกิจไมโครชิพที่ยืนหยัดแข่งขันในเวทีโลก ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้นำในตลาดไมโครชิพสำหรับ RFID Animal Identification ในอันดับต้นๆ ของโลก เรามีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจไมโครชิพ 2 เท่าตัว ในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี” นายมานพ กล่าว ปัจจุบัน SICT มีรายได้จาก 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (Car Immobilizer) คิดเป็นประมาณ 25-38% ของรายได้ทั้งหมด ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Identification) ประมาณ ช33-42% ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ และระบบการอ่านข้อมูล (Access Control & Interrogator) ประมาณ 27-32% และไมโครชิพอื่นๆ (Others) ประมาณ 1-2% ดร. นัยวุฒิ วงษ์โคเมท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า SICT มีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจอย่างเห็นได้ชัดในอนาคต อาทิเช่น ธุรกิจ ด้านสุขภาพ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ New S-Curve บริษัทฯ มีโมเดลธุรกิจที่เป็นผู้ออกแบบไมโครชิพและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จากนั้นจะว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นให้ผลิตไมโครชิพ ซึ่งข้อดีของโมเดลแบบนี้ คือบริษัทจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบริหารโรงงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า โดย SICT จะเน้นถือครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้านนางสาวอรุณี พูนทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดมทุน IPO จะถูกนำไปใช้ในการต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลัก(Core Technology) โดยลงทุนในเครื่องมืออุปกรณ์ ลงทุนหรือร่วมลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจของบริษัท และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2560-2562 มีรายได้รวม เท่ากับ 310.71 ล้านบาท 377.04 ล้านบาท และ 308.80 ล้านบาท ตามลำดับ และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่า 40% โดยไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้ที่ 95.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 72.85 ล้านบาท ของงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นร้อยละ 30.7 และกำไรสุทธิ 15.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 552.7 “อัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิที่สูงในไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น SICT จะเดินหน้าต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลัก(Core Technology)อย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในตลาด RFID สำหรับปศุสัตว์ ในอีก 4 ปี ข้างหน้า” นางสาวอรุณี กล่าว