พอช.จับมือหน่วยงานภาคีเดินหน้าพัฒนาคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร เปิดพื้นที่ให้รัฐบาลพัฒนาคลองทั้งระบบ เช่น แก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง โดยการรื้อย้าย-สร้างบ้านใหม่ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวริมคลอง สร้างเขื่อนระบายน้ำ ขุดลอกคลอง เพื่อป้องกันน้ำท่วม สร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เพิ่มพื้นที่สีเขียว เชื่อมโครงข่ายคมนาคม ฯลฯ ขณะนี้ดำเนินการในคลองลาดพร้าวแล้ว โดยการรื้อย้าย-สร้างบ้านใหม่ในพื้นที่ 35 ชุมชน สร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 ครัวเรือน ขณะที่คลองเปรมประชากรเร่งสร้างบ้านเฟสแรก 193 หลัง เสร็จแล้ว 20 หลัง โดยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยเดินทางมามอบทะเบียนบ้านให้ชาวชุมชนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลองลาดพร้าวแก้ปัญหาน้ำท่วม จากวิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554 รัฐบาลจึงมีแผนการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมคลองในคลองสายหลักของกรุงเทพฯ และก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ-ป้องกันน้ำท่วม เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรกในปี 2559 โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวคลองและแนวเขื่อนในพื้นที่ 50 ชุมชน 7 เขต คือ เขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน จตุจักร ห้วยขวาง และวังทองหลาง รวม 7,069 ครัวเรือน ส่วนกรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำ ระยะทางทั้ง 2 ฝั่ง ประมาณ 45 กิโลเมตร (คลองลาดพร้าวมีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตร) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น สำนักงานเขต กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมธนารักษ์ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ สภาพบ้านในคลองลาดพร้าวก่อนการปรับปรุงรื้อย้าย ธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร กล่าวว่า หลักการสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง คือ หากชุมชนใดมีพื้นที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ สามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ เปลี่ยนสถานะจากชุมชนรุกล้ำลำคลองเป็นผู้เช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี โดยกรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน (ตั้งแต่ 50 สตางค์-3 บาท/ตารางวา/เดือน) และชาวชุมชนจะต้องรื้อย้ายบ้านเดิมเพื่อปรับผังชุมชนใหม่ เพื่อให้ทุกคนอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ โดยได้รับสิทธิในที่ดินเท่ากันทุกครอบครัว หากชุมชนใดเหลือพื้นที่ไม่พอ จะต้องจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่ไม่ไกลจากเดิมเพื่อปลูกสร้างบ้าน ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง (บางส่วน) สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านและซื้อที่ดิน (กรณีอยู่อาศัยที่เดิมไม่ได้) รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ชุมชนบริหารจัดการเอง ตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช. โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ เช่น ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน วางผังชุมชน จัดสรรพื้นที่ใช้สอย ร่วมกันออกแบบบ้าน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน ฯลฯ “การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง จะใช้แนวทางการทำงานตามโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งมี 9 ขั้นตอน เช่น การสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการ การทบทวนข้อมูลครัวเรือน การรับรองสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการ การจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์ การรังวัดที่ดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ การออกแบบวางผังการขออนุมัติโครงการและงบประมาณจาก พอช. โดยชุมชนจะต้องรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อสร้างบ้านและบริหารโครงการ” ธนัชแจงกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่วนงบประมาณที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่ แบ่งเป็น 1.การปรับปรุงสาธารณูปโภค อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท 2.งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 400,000 บาท ผ่อนชำระ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% สร้างบ้านใหม่ในคลองลาดพร้าวแล้ว 35 ชุมชน สร้างบ้านเสร็จ 2,931 หลัง โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 นำร่องที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์ (ตรงข้ามตลาดสะพานใหม่) ซอยพหลโยธิน 54 เขตสายไหม ก่อสร้างเสร็จในช่วงต้นปี 2560 รวมทั้งหมด 65 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X6 ตารางเมตร ในจำนวนนี้เป็นบ้านกลางชั้นเดียวที่ชาวชุมชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างบ้าน ให้ผู้ด้อยโอกาสฐานะยากจนอยู่ฟรี 1 หลัง อวยชัย สุขประเสริฐ ผู้นำชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์ กล่าวว่า จากสภาพเดิมเป็นชุมชนแออัด บ้านไม้เก่าๆ ผุพัง เพราะสร้างและอยู่กันมานานกว่า 50-60 ปี สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม มีทางเดินเป็นสะพานไม้โย้เย้ มีขยะอยู่ในคลอง น้ำก็ดำเน่าเหม็น ตอนแรกที่จะทำโครงการชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้ คิดว่ากรรมการคงจะโกงกิน แต่เมื่อมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน มีรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.ในขณะนั้น) มาเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรก ชาวบ้านจึงเริ่มเชื่อถือ เมื่อสร้างเสร็จ 10-20 หลังแรก ชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ติดกันจึงทำตามบ้าง ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญที่สร้างเสร็จแล้ว “โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อลูกหลาน จะได้มีที่ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพ แวดล้อมที่ดี เมื่อสร้างเสร็จทำให้ชุมชนมีสภาพดีขึ้นมาก มีทางเดินเลียบคลอง ปลูกต้นไม้และผักสวนครัวริมคลอง มีลานออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น มีถังบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน เรื่องการจัดการขยะ สร้างอาชีพ ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นกว่าเดิม” อวยชัยบอกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากชุมชนแรกในคลองลาดพร้าวที่ขยับบ้านออกจากแนวคลอง ขณะนี้ พอช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว 35 ชุมชน รวม 3,353 ครัวเรือน โดยสร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 หลัง จากเป้าหมายทั้งหมด 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต คือ เขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน จตุจักร ห้วยขวาง และวังทองหลาง พอช.สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเปรมฯ 6,386 ครัวเรือน ส่วนการพัฒนาและฟื้นฟูคลองเปรมประชากร ซึ่งมีปัญหาน้ำเน่าเสีย การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางลำคลองจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 เห็นชอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร  สภาพการรุกล้ำในคลองเปรมประชากร ธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ชุมชนในคลองเปรมฯ มีทั้งหมด 32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และอีก 6 หมู่บ้านในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน โดย พอช.จะใช้แนวทางดำเนินงานและการสนับสนุนชุมชนเช่นเดียวกับที่ดำเนินนการในคลองลาดพร้าว เริ่มดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักรเป็นชุมชนแรก โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรกเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา “ขณะนี้ชุมชนประชาร่วมใจ 2 สร้างบ้านเสร็จแล้ว เฟสแรกจำนวน 20 ครัวเรือน จากทั้งหมด 193 ครัวเรือน โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เดินทางมามอบทะเบียนบ้านให้แก่ชาวชุมชนที่สร้างบ้านเสร็จ 20 หลังแรก ส่วนที่เหลืออีก 173 หลัง ตามแผนงานจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และจะทยอยสร้างในชุมชนอื่นๆ ต่อไป” ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าว ปัทมา อาทรมนัสชุม ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้าน 20 หลังแรก บอกว่า รู้สึกดีใจมากเพราะพวกเราอยู่กันที่นี่มา 40-50 ปีแล้ว ไม่มีใครอยากย้ายไปที่ไหน ตรงนี้เหมือนเป็นชีวิตและเป็นครอบครัวของเรา การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้บ้านของเราถูกกฎหมายอยู่ได้โดยไม่หวาดระแวงว่าจะโดนไล่รื้ออีกต่อไป “พอได้บ้านใหม่ตรงนี้ สิ่งที่เรารู้สึกได้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จากแต่ก่อนที่เคยอยู่กันแบบไม่มีระเบียบ ใครอยากทำอะไรก็ทำ เพราะเป็นชุมชนแออัด ไม่ค่อยมีความเกรงใจกัน แต่พอเริ่มสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ เราได้มีการวางกฎระเบียบเพื่อรักษาชุมนของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ต่อไปสิ่งที่เราอยากจะพัฒนาก็คือ การสร้างอาชีพให้ชุมชน ทำตลาดชุมชน เมื่อมีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนเราจะได้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง” ปัทมากล่าว บ้านใหม่ที่สร้างเสร็จแล้วที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจุจักร แผนพัฒนาคลองเปรมทั้งระบบ คลองเปรมประชากรมีความยาวทั้งหมด 50 กิโลเมตรเศษ เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพฯ-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา มีการปลูกสร้างบ้านรุกล้ำคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้คลองตื้นเขิน การระบายน้ำไม่คล่องตัว ชุมชนริมคลองส่วนใหญ่มีสภาพแออัด สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม มีปัญหาขยะและน้ำเน่าเสีย แผนพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบจะใช้ระยะเวลา 9 ปี (พ.ศ.2562-2570) เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระยะเร่งด่วน ปี 2562 – 2565 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,448 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมฯ ทั้งระบบ ตั้งแต่กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา โดย กทม. จะก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำจากถนนเทศบาลสงเคราะห์–สุดเขต กทม. ระยะทางทั้ง 2 ฝั่งประมาณ 27.20 กิโลเมตร (ขณะนี้ก่อสร้างเขื่อนฯ ช่วงแรกในเขตดอนเมือง ระยะทาง 580 เมตรเสร็จแล้ว) กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมฯ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จากคลองรังสิต–คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร และขุดลอกคลองในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง เช่น สร้างพื้นที่สีเขียว ตลาดนัดริมคลอง พัฒนาเส้นทางจักรยานเลียบคลอง เชื่อมเส้นทางคมนาคมทั้งทางรถไฟและรถไฟฟ้า และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง ในอนาคตทั้งคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรจะกลับมาสวยใส ให้ประโยชน์ทั้งด้านการป้องกันน้ำท่วม เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางคมนาคมใหม่ ที่สำคัญคือ คุณภาพชีวิตชาวริมคลองจะต้องดีขึ้น...!!