วันที่ 23 มิถุนายน ปี 2020 เวลา 09.43 น. ดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-3 ซึ่งเป็นเครือข่ายดาวเทียมที่ครอบคลุมทั่วโลก ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีซังของจีน หลังจากนั้น 30 นาที ดาวเทียมดวงนี้เข้าสู่วงโคจรตามกำหนด ภารกิจปล่อยดาวเทียมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นอันว่า “โครงการเป๋ยโต่ว”ของจีนได้เสร็จสิ้นกระบวนการพัฒนาที่แบ่งเป็นสามขั้น โดยมีดาวเทียมนำทาง 55 ดวง ที่เป็นเสมือน “กระดานหมากรุกขนาดใหญ่”อยู่ท่ามกลางห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ไพศาล จาก “เติงถ่า-1 ” สู่ “เป๋ยโต่ว-3” การพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางของจีนมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1969 เวลานั้นสหรัฐฯ ได้ค้นคว้าวิจัยระบบดาวเทียมนำทางทรานซิส (TRANSIT) ตามทฤษฎีด็อพเพลอร์ (Doppler Principle) สามารถหาพิกัดตำแหน่งเรือด้วยความแม่นยำระดับร้อยเมตร เวลานั้นจีนก็ได้เริ่มดำเนินการค้นคว้าวิจัยระบบดาวเทียมนำทางเช่นกัน โดยตั้งชื่อโครงการว่า “เติงถ่า-1” (เติงถ่าแปลเป็นไทยว่า ประภาคาร) ถึงปลายทศวรรษ 1970 แห่งศตวรรษที่ 20 จีนสามารถขจัดอุปสรรคทางเทคนิคและเสร็จสิ้นการทดสอบภาคพื้นดินของระบบดาวเทียมในขั้นต้น เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยในขณะนั้น ต่างประเทศได้เริ่มการค้นคว้าวิจัยระบบดาวเทียมนำทาง GPS ซึ่งมีความก้าวหน้าทันสมัยยิ่งกว่า ทีมผู้นำจีนจึงตัดสินใจยุติการค้นคว้าวิจัย “เติงถ่า -1 ” โดยนายฟ่าง เปิ่งหยอ หัวหน้านักออกแบบระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-1 สมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศจีนกล่าวว่า “ถึงแม้งานวิจัยจะยุติลง แต่โครงการเติงถ่า-1 ทำให้เรามีประสบการณ์และยังได้อมรมบ่มเพาะเจ้าหน้าที่วิจัยที่มีคุณภาพสูง ถือเป็นการปูพื้นฐานให้กับโครงการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วในภายหลัง ” ปี 1983 นายเฉิน ฟางหยุน สมาชิกสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ผู้ปูพื้นฐานเทคโนโลยีควบคุมและตรวจวัดสัญญาณดาวเทียมของจีนได้เสนอทฤษฎี “การหาพิกัดตำแหน่งด้วยระบบดาวเทียม 2 ดวง” เป็นครั้งแรก ในช่วงก่อนและหลังปี 1990 ภายใต้การนำของนายเฉิน ฟางหยุน จีนประสบความสำเร็จในการทดสอบทฤษฎีดังกล่าว โดยใช้ดาวเทียมสื่อสารตงฟางหง 2-A จำนวนสองดวงซึ่งอยู่ในวงโคจรแล้ว ต่อจากนั้นภายใต้การอำนวยการของนายถง ไข สมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศจีนจากกลุ่มบริษัทวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินอวกาศของจีน จีนได้ดำเนินการจำลองทดสอบระบบดาวเทียมนำทางทั้งระบบในภาคพื้นดิน เป็นการพิสูจน์ความเป็นไปได้ของโครงการ ในขณะเดียวกัน นายฟ่าง เปิ่งหยอ ยังได้นำทีมงานวิจัยแก้ไขอุปสรรคทางเทคนิคในการพัฒนาแพลตฟอร์มดาวเทียมนําทางแบบ two spin บนพื้นฐานของผลสำเร็จที่ได้รับในช่วงเวลาเตรียมการดังกล่าวข้างต้น เดือนกุมภาพันธ์ 1994 จีนได้วางโครงการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วอย่างเป็นทางการ ปี 1995 เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนด้านการบริการหาพิกัดตำแหน่งและนำทางให้ผู้ใช้บริการ นายฟ่าง เปิ่งหยอ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้านักออกแบบดาวเทียมสื่อสารตงฟางหง-3 เสนอว่า ระบบดาวเทียมนำทางสามารถใช้ประโยชน์แพลตฟอร์มดาวเทียมสื่อสารตงฟางหง-3 ได้ ทั้งนี้ด้านหนึ่งสามารถเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของดาวเทียมได้ถึง 1 เท่าตัว ขยายอายุการใช้งานได้ 1 ใน 3 และยังสามารถย่นเวลาวิจัยและผลิตระบบดาวเทียมนำทางได้ด้วย นายฟ่าง เปิ่งหยอ กล่าวย้อนอดีตในช่วงนั้นว่า “เนื่องจากจีนประสบความล้มเหลวในการส่งดาวเทียมตงฟางหงดวงแรกเข้าสู่วงโคจรตามกำหนด มีสหายบางคนได้แสดงความสงสัยและกังวลต่อข้อเสนอของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ล้มเหลวในคราวนั้นและชี้ว่าไม่ได้เป็นเพราะปัญหาของแผนงานระบบดาวเทียมและระบบย่อยอื่นๆ หากเป็นปัญหาคุณภาพเฉพาะจุดเท่านั้น ขอเพียงควบคุมคุณภาพให้ดีย่อมจะสำเร็จได้แน่นอน” สิ่งที่โชคดีคือ ข้อเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนใช้แพลตฟอร์มดาวเทียมตงฟางหง- 3 นั้น ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานบังคับบัญชาในที่สุด แต่ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันขณะวางโครงการคือ เรื่องการจัดวางโครงข่ายดาวเทียมในระดับภูมิภาคหรือระดับทั่วโลก นายฟ่าง เปิ่งหยอ ซึ่งเข้าร่วมการหารือประเด็นเกี่ยวกับแนวทางเทคโนโลยีวิเคราะห์ว่า “ถ้าระบบดาวเทียมนำทางวางโครงข่ายใหญ่ระดับโลกในทันที ต้องใช้เวลาและเงินทุนมาก ประเทศจีนเราเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน ผู้ใช้บริการของเราส่วนใหญ่อยู่ภายในประเทศและประเทศรอบข้าง ดังนั้นการพัฒนาจากระดับภูมิภาคสู่ระดับโลกจึงเป็นแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับสภาพของประเทศจีน” หลังจากนั้น การพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเดือนตุลาคมและธันวาคม ปี 2000 จีนปล่อยดาวเทียมตระกูลเป๋ยโต่วสองดวงติดต่อกันด้วยความสำเร็จ ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วรุ่นแรกจึงถือกำเนิดขึ้น จีนกลายเป็นประเทศลำดับที่สามของโลกที่มีระบบดาวเทียมนำทาง ปี 2003 ดาวเทียมวงโคจรสถิตดวงที่ 3 ถูกปล่อยสู่ห้วงอวกาศ เสริมระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-1 ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ปี 2004 การสร้างสรรค์โครงการระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-2 เริ่มขึ้น จนถึงสิ้นปี 2012 ได้ปล่อยดาวเทียมเข้าโครงข่ายหลายดวง ประกอบด้วยดาวเทียมในวงโคจรสถิต(GEO)จำนวน 5 ดวง ดาวเทียมในวงโคจรประจำที่ตามแนวเฉียง(IGSO)จำนวน 5 ดวง และดาวเทียมในวงโคจรระดับกลาง(MEO)จำนวน 4 ดวง บนพื้นฐานของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 การพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-3 จึงทำให้จีนมีความมั่นใจและมั่นคง ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-3 วางโครงการเมื่อปี 2009 จากนั้นจีนได้เร่งการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2018 ได้ปล่อยดาวเทียมรวม 19 ดวงโดยใช้จรวดปล่อยดาวเทียม 10 ลำ สร้างสถิติใหม่ให้กับวงการการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางของโลก เดือนมิถุนายน ปี 2020 ดาวเทียมดวงที่ 55 ในระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรด้วยความสำเร็จ ทำให้การจัดวางดาวเทียมของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-3 ของจีนเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ สาเหตุที่ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วของจีนกลายเป็นระบบที่ล้ำสมัย ตามการแนะนำของนายฟ่าง เปิ่งหยอ ความทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์ของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วที่สำคัญสะท้อนออกมาในหลายด้านดังต่อไปนี้ 1. นับเป็นครั้งแรกในโลกที่ระบบเป๋ยโต่วใช้ระบบดาวเทียมผสมในวงโคจรที่หลากหลาย ซึ่ง “ ประกอบด้วย ดาวเทียมในวงโคจรสถิต(GEO)จำนวน 3 ดวง ดาวเทียมในวงโคจรประจำที่ตามแนวเฉียง(IGSO)จำนวน 3 ดวง และดาวเทียมในวงโคจรระดับกลาง(MEO)จำนวน 24 ดวง ” ระบบนี้ได้ยกระดับความแม่นยำในการหาพิกัดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่รอบ ๆ ของจีน ซึ่งมีความเหนือกว่าระบบ GPS ของสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มความแข็งแกร่งและขีดความสามารถด้านการดำรงอยู่ของกลุ่มดาวเทียมอีกด้วย 2. นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ระบบเป๋ยโต่วประสบความสำเร็จในการใช้ระบบนำทาง RDSS และ RNSS สองแบบ ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถสำรองข้อมูลของระบบได้เท่านั้น หากยังสามารถสื่อสารข้อความได้อีกด้วย    3. ระบบเป๋ยโต่วประสบความสำเร็จในการใช้ระบบลิงค์ระหว่างดาวเทียม(inter-satellite link)คลื่นความถี่ Ka-band และมีดาวเทียมส่วนหนึ่งได้ใช้ระบบลิงค์ระหว่างดาวเทียมด้วยแสงเลเซอร์เป็นครั้งแรก กลายเป็นระบบการสื่อสารระหว่างกลุ่มดาวเทียมตามวงโคจรทั้งระดับสูง กลางและต่ำ ตลอดจนสถานีฐานภาคพื้นดิน ซึ่งไม่เพียงแต่ยกระดับความแม่นยำในการหาพิกัดตำแหน่งเท่านั้น หากยังสามารถแก้ปัญหาในการไม่มีสถานีฐานในต่างประเทศอีกด้วย    4. จีนสามารถทำลายการปิดกั้นทางเทคโนโลยีของต่างประเทศ สามารถค้นคว้าวิจัยและผลิตส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของระบบดาวเทียมนำทางด้วยตนเองเป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะคือนาฬิกาอะตอมที่ติดตั้งบนดาวเทียมและมีความแม่นยําสูง หลังผ่านการใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการค้นคว้าวิจัย จีนสามารถผลิตส่วนประกอบดาวเทียมด้วยตัวเองทั้งหมด เปลี่ยนแปลงสภาพเดิมที่ต้องพึ่งพาต่างประเทศที่ต้องนำเข้าส่วนประกอบสำคัญของระบบดาวเทียมมาเป็นเวลานาน นางหวัง ลี่ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานบริหารระบบดาวเทียมนำทางของประเทศจีนเห็นว่า นวัตกรรมของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำของจีนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาอีกด้วย โดยกล่าวว่า “เมื่อพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วได้ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนา - จากระบบหาพิกัดตำแหน่งแบบแอคทีฟสู่ระบบหาพิกัดตำแหน่งแบบพาสซีพ จากการให้บริการในระดับภูมิภาคสู่ทั่วโลก สำหรับระบบการหาพิกัดตำแหน่งแบบแอคทีฟนั้นหมายถึงเวลาผู้ใช้บริการต้องการทราบพิกัดตำแหน่งจะส่งสัญญาณขอใช้บริการก่อน ทางศูนย์ภาคพื้นดินของระบบจะคำนวณและกำหนดพิกัดตำแหน่งแล้วค่อยส่งกลับไปยังผู้ใช้บริการ ส่วนระบบหาพิกัดตำแหน่งแบบพาสซีพนั้นหมายถึงผู้ใช้บริการสามารถรับสัญญาณนำทางโดยตรงเหมือนใช้เครื่องรับวิทยุ เทอร์มินัลของผู้ใช้บริการสามารถตรวจวัดระยะทางถึงดาวเทียม และคำนวณหาพิกัดตำแหน่งด้วยตัวเองได้” เมื่อต้นทศวรรษ 1990 แห่งศตวรรษที่ 20 เมื่อคำนึงถึงพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น จีนได้ใช้ระบบ “การหาพิกัดตำแหน่งด้วยระบบดาวเทียมสองดวงแบบพาสซีพ ” ประเดิมด้วยการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-1 ซึ่งใช้เงินทุนไม่มาก แต่สามารถให้บริการหาพิกัดตำแหน่งและส่งข้อความสั้นๆ ภายในพื้นที่ในประเทศและรอบ ๆ ของจีนได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ว่าจีนก็มีระบบดาวเทียมนำทางเป็นของตัวเองแล้ว บนพื้นฐานที่สามารถรองรับเทคโนโลยีของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-1 ระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว-2 ได้เพิ่มระบบหาพิกัดตำแหน่งแบบพาสซีพเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทางด้านการหาพิกัดตำแหน่ง การวัดความเร็ว บริการแจ้งเวลา และส่งข้อความสั้นๆ จีนกลายเป็น1 ใน 4 ประเทศที่สามรถให้บริการด้วยระบบดาวเทียมนำทางระหว่างประเทศได้ ระบบเชื่อมโยงระหว่างดาวเทียม ระบบบริการข้อมูล การค้นหาและกู้ภัยทั่วโลก นาฬิกาอะตอมรุ่นใหม่ พร้อม ๆกับ“อุปกรณ์วิเศษ” ดังกล่าวได้ถูกพัฒนาให้ปรากฏเป็นจริงขึ้น ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-3 ได้มีการยกระดับสูงขึ้นอย่างมาก สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วโลก ระบบดาวเทียวนำทางเป๋ยโต่วเป็นของทั้งจีนและทั่วโลก ตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้และวางโครงการระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว ความร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ปี 2016 รัฐบาลจีนประกาศสมุดปกขาวเกี่ยวกับ “ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วของจีน” ซึ่งได้อธิบายถึงความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างชัดเจนว่า จีนจะผลักดันการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังและเข้มแข็ง ให้บริการในการสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ส่งเสริมการพัฒนาภารกิจระบบดาวเทียมนำทางของทั่วโลก ให้ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วรับใช้ทั่วโลกเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ สมุดปกขาวชี้ว่าระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วจะเสริมสร้างการรองรับซึ่งกันและกันและการร่วมกันใช้กับระบบดาวเทียมนำทางอื่นๆ ใช้ทรัพยากรตำแหน่งวงโคจรและคลื่นความถี่อย่างชอบธรรมตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ ผลักดันระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วเข้ากับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง เข้าร่วมภารกิจพหุภาคีในด้านระบบดาวเทียมนำทางระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็ง และจะทุ่มเทผลักดันการใช้ประโยชน์ระบบดาวเทียมนำทางอย่างกว้างขวางในทั่วโลก ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา การพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลก เช่น ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วของจีน ระบบดาวเทียมนำทางกาลิเลโอ(Galileo)ของยุโรป ตลอดจนระบบดาวเทียมนำทางระดับภูมิภาค ทำให้ระบบดาวเทียมนำทางของโลกกำลังพัฒนาจากยุคที่มี GPS เพียงระบบเดียวมาสู่ยุคที่มีระบบดาวเทียมนำทางหลายระบบ ในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านระบบดาวเทียมนำทางนั้น ได้เริ่มส่งเสริม “การรองรับซึ่งกันและกัน และการทำงานร่วมกัน” สำหรับ “การรองรับซึ่งกันและกัน”นั้น หมายถึงระบบดาวเทียมนำทางสองระบบหรือมากกว่าสองระบบสามารถให้บริการอย่างเป็นเอกเทศ สัญญาณนำทางของระบบจะไม่ก่อกวนซึ่งกันและกัน ส่วน“การทํางานร่วมกัน”นั้น หมายถึงผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการของระบบดาวเทียมนำทางหลายระบบในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถได้รับบริการที่ดีกว่าการใช้บริการเพียงระบบเดียว นางหวัง ลี่ แนะนำว่า “จีนได้สร้างกลไกความร่วมมือแบบทวิภาคีกับรัสเซีย สหรัฐฯ และยุโรป ที่ถือการผลักดันการรองรับระบบซึ่งกันและกัน การทำงานร่วมกัน และการให้บริการลูกค้าร่วมกัน เป็นสาระสำคัญ เช่น จีนกับสหรัฐฯ เคยจัดการเจรจาอย่างเป็นทางการรวม 3 ครั้ง เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านระบบดาวเทียมนำทาง เมื่อปี 2017 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการรองรับสัญญาณซึ่งกันและกัน และการทำงานร่วมกันระหว่างระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วกับระบบ GPS เพื่อให้ทั้งสองระบบดำเนินความร่วมมือในด้านการรองรับซึ่งกันและกัน การทำงานร่วมกัน การเพิ่มคุณภาพการบริการ และการให้บริการแก่ประชาชน เป็นต้น” ตามสถิติจากสำนักงานบริหารระบบดาวเทียมนำทางแห่งประเทศจีน ถึงปลายปี 2019 ข้อมูลนำทางพื้นฐานของเป๋ยโต่วได้ส่งออกไปยังกว่าร้อยประเทศและเขตแคว้น การบริการที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วได้ประยุกต์ใช้ด้วยความสำเร็จในอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันตก ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา เช่น การรังวัดที่ดิน (Land rights)การทำเกษตรอัจฉริยะ(precision agriculture)การก่อสร้างแบบดิจิทัล(Digital construction)การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (The Intelligence of Port) เป็นต้น ในปี 2013 จีนกับไทยได้ลงนาม“ข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยระบบเฝ้าระวัง ประเมินและคาดการณ์ภัยพิบัติทางภูมิศาสตร์และอากาศของไทย” ที่กรุงเทพ ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว เป็นโครงการแรกของไทยที่ฐานอุตสาหกรรมสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และอวกาศระดับชาติของจีนดำเนินความร่วมมือและส่งออกด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการได้แก่ ระบบเฝ้าระวัง ประเมินและคาดการณ์ภัยพิบัติทางภูมิศาสตร์และอากาศของไทย การใช้ประโยชน์ของระบบดาวเทียมเป๋ยโต่วในนิคมอุตสาหกรรมความร่วมมือแห่งอาเซียน และความร่วมมือปล่อยดาวเทียมสังเกตการณ์พื้นโลกในเชิงพาณิชย์ หลังจากจีนปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว-3 สำเร็จไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2020 ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยกล่าวว่า ไทยกับจีนจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบินอวกาศต่อไป ไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วอย่างแพร่หลายมากขึ้นในชีวิตประจำวัน “เราสามารถรับข้อมูลที่แม่นยำจากอวกาศผ่านดาวเทียมคุณภาพสูงของจีน ระบบเป๋ยโต่วได้เสนอทางเลือกที่มากขึ้นแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ได้ขยายบทบาทสำคัญในด้านการเฝ้าระวังภัยพิบัติและการเกษตรที่ทันสมัย ฯลฯ และเชื่อว่าการขยายขอบเขตการใช้ระดับนี้ ย่อมจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการพัฒนาประเทศและการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจของไทย” การร่วมแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาระบบเป๋ยโต่วให้กับนานาประเทศ ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ การบริการนำทางที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วนั้น ได้ถูกโรงงานหรือบริษัทในวงการต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ การผลิตสถานีอัจฉริยะเคลื่อนที่ และการให้บริการหาพิกัดตำแหน่ง เป็นต้น จึงได้เข้าสู่การใช้บริการของประชาชน เศรษฐกิจแบ่งปัน(sharing economy)และการดำรงชีวิตของบุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลาย หลังจากการจัดวางโครงข่ายดาวเทียมในขอบเขตทั่วโลกแล้ว รูปแบบใหม่ ธุรกิจใหม่และเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ได้จากการประยุกต์ใช้ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วนั้นจะเกิดขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและการดำรงชีวิตของผู้คนแล้ว ยังจะนำมาซึ่งตลาดที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจระบบดาวเทียมนำทางชี้ว่า การที่ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วได้พัฒนาจากระดับภูมิภาคสู่ระดับโลกจะมีส่วนช่วยให้ห่วงโซ่ธุรกิจระบบดาวเทียมนำทางทั้งหมดได้ประโยชน์ โดยเฉพาะธุรกิจแผ่นชิปและเทอร์มินัล ชิปนับป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สุดในการใช้ประโยชน์ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว ซึ่งจะสามารถแสดงถึงประสิทธิภาพของข้อมูลการนำทางโดยตรง ตามรายงาน“การสร้างสรรค์และพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว”(ปี 2019)ยอดจำหน่ายชิปโมดูล(Chip module)ที่ใช้ในการบริการนำทางในระบบเป๋ยโต่วนั้นเกินกว่า 80 ล้านแผ่น ปริมาณการจำหน่ายแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ความแม่นยำสูงและเสาอากาศนั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% และ 90% ของตลาดในประเทศตามลำดับ และยังได้ส่งออกไปยังกว่าร้อยประเทศและเขตแคว้น ในขณะที่ดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบเป๋ยโต่ว-3 ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรด้วยความสำเร็จ จีนได้สร้างระบบดาวเทียมนำทางที่ครอบคลุมทั่วโลก จากนี้ไปโครงการระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วจะพัฒนาจากขั้นตอนการสร้างระบบ สู่ขั้นตอนการประยุกต์ใช้ระบบ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาอีกขึ้น แต่หลังจากระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว-3 สร้างเสร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว นอกจากการให้บริการขั้นพื้นฐานเช่น บริการหาพิกัดตำแหน่ง บริการวัดความเร็ว บริการแจ้งเวลาแล้ว คำถามคือระบบเป๋ยโต่วยังจะสามารถให้บริการแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์อะไรบ้าง นางหวัง ลี่แนะนำว่า “ระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว-2 ก็มีฟังก์ชั่นส่งข้อความสั้นแล้ว ซึ่งที่สำคัญให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในจีนและพื้นที่โดยรอบ สามารถสื่อสารได้ 120 ตัวอักษรจีน/ 1 ครั้ง หลังจากระบบเป๋ยโต่ว-3 สร้างเสร็จแล้ว ความสามารถในการส่งข้อความสั้นในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นโดยสามารถส่งข้อความสั้น 1,000 ตัวอักษรจีน /1 ครั้ง นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ เช่น การบริการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ เพิ่มความแม่นยำของข้อมูล บริการระบุพิกัดตำแหน่งอย่างแม่นยำ เป็นต้น ในการบริการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศนั้นยังสามารถให้บริการระบบลิงค์ย้อนกลับ(Reverse link)ยกตัวอย่างเช่นเมื่อศูนย์กู้ภัยได้รับข้อมูลขอความช่วยเหลือแล้ว สามารถแจ้งผู้ใช้บริการที่ประสบภัยให้ทราบว่าทางศูนย์ฯ ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือแล้วผ่านระบบลิงค์ย้อนกลับ ทั้งนี้สามารถเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ประสบภัยได้ว่า ตัวเองจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลืออย่างแน่นอน หลังจากมีระบบเพิ่มความแม่นยำของการให้บริการ(SBAS -Satellite-Based Augmentation System)และในขณะเดียวกันสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ระบบเป๋ยโต่วก็จะสามารถให้บริการที่แม่นยำและสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คุ้มครองการขึ้นลงของเครื่องบินได้อย่างแม่นยำ มีบริการหาพิกัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ(Point Positioning) สามารถให้บริการหาพิกัดตำแหน่งที่ถูกต้องในระดับเดซิเมตรขณะเคลื่อนไหว และความถูกต้องระดับเซนติเมตรในภายหลัง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่การรังวัดที่ดิน การทำการเกษตรที่แม่นยำและการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นต้น” นางหวัง ลี่ชี้ว่ารายการบริการใหม่ดังกล่าวของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การรอคอย ปัจจุบัน ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วกำลังพัฒนาควบคู่ไปกับเทคโนโลยีใหม่ทางด้านอินเตอร์เน็ต Big Data และปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ และกำลังสร้างห่วงโซ่ธุรกิจใหม่ที่ถือข้อมูลด้านเวลาและพื้นที่ของระบบเป๋ยโต่วเป็นสำคัญ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนผลักดันการพัฒนานวัตกรรมของรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เขียนโดย จาง เล๋ย แปลโดย ลู่ หย่งเจียง ตรวจแก้โดย ศิวัตรา สินพสุธาดล