กลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง กับราคาทองในบ้านเราที่พุ่งกระฉูดชนิดที่ยังกู่ไม่กลับ ล่าสุดทำนิวไฮแตะบาทละ 30,000 บาท ไปแล้ว หลังจากที่เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หรือบางคนก็เรียกว่า “ลดค่าเงินบาท” จากเดิมอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทคงที่ 25 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสูงสุด 56 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาทองพุ่งแตะถึงบาทละกว่า 27,000 บาท ในเวลานั้น ทั้งนี้การที่ราคาทอง ซึ่งเปรียบเสมือนกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เดินหน้ามุ่งทำราคานิวไฮแต่ละวันมาจากที่นักลงทุนทั่วโลกมีความกังวนในเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกปรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นมาเป็นทองคำแทน เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า จนเกิดการซื้อขายเพื่อเก็บและเก็งกำไรจำนวนมาก และทำให้ราคาทองคำแท่งทั่วโลกเกิดการปรับสูงขึ้นตามความต้องการในการซื้อของนักลงทุน รวมถึงประชาชนบางกลุ่มโยกเงินที่เก็บไว้ในรูปแบบพันธบัตรและอื่นๆ มาซื้อเก็บเป็นทองคำแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต “จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ทองคำได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ ที่จะเกิดขึ้นจากการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีน เพิ่มความกังวลให้กับตลาดมากขึ้น หลังจากจีนได้แจ้งสหรัฐให้ปิดสถานกงสุลในเมืองเฉิงตู เพื่อเป็นการตอบโต้ที่จำเป็นต่อการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของสหรัฐ ทำให้มีแรงซื้อทองคำเข้ามามากขึ้น เช่นเดียวกับ “เบญจมา มาอินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ราคาทองคําได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลัก ได้แก่ สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์หลังการบรรลขุ้อตกลงกระตุ้นการคลังของผู้นำสหภาพยุโรป(อียู) ทั้งนี้การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรเป็นปัจจยัสําคัญที่กดดันดัชนีดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงจนหนุนราคาทองคํา ประกอบกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนระลอกใหม่ หลังจากรัฐบาลสหรัฐได้สั่งให้จีนปิดสถานกงสุลที่เมืองฮิวสตัน ขณะที่มีการมองกันว่า การตอบโต้ของจีนอาจจะไม่เป็นเพียงการปิดสถานกงสุลของสหรัฐในจีนเท่านั้น แต่อาจเป็นไปในรูปแบบที่สหรัฐฯคาดไม่ถึง ซึ่งจะเป็นเหตุให้สหรัฐได้รับผลกระทบ อย่างแท้จริง โดยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศที่ดูเหมือนจะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ และ “ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาทองคำต่างประเทศ (gold spot) ยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คงมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อราคาทองคำต่อไป นอกจากนี้ การอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสะท้อนเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ลดลง และมูลค่าของเงินที่ลดลง โดยจากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council) พบว่า ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มอยากถือทองคำเพิ่มขึ้นที่ระดับ 20-30% จากปี 2562 ที่ 10% ขณะที่กองทุนทองคำโลก (SPDR) ที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ซื้อขายทองคำผ่านกองทุนดังกล่าว มีการซื้อสุทธิทองคำเพิ่มขึ้น 300 ตัน มาอยู่ที่ 1,200 ตัน จากต้นปีถือทองคำ 900 ตัน ส่วนปัจจัยกดดันราคา อาทิ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาดีขึ้นหลังช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งหากไม่มีการล็อกดาวน์รอบ 2 ก็จะเป็นความเสี่ยงให้ทั่วโลกลดการถือทองคำลง “แนวโน้มราคาทองคำต่างประเทศในช่วง 1 เดือนต่อจากนี้ เรามองไว้ที่ 1,750-1,850 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยคาดว่าทองคำจะยังคงเป็นขาขึ้นมากกว่าขาลง เพราะโควิดคงจะยังไม่จบเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำเป็นจะต้องฉีดให้ถึง 60% ของประชากรทั้งหมดของแต่ละประเทศ จึงจะไม่มีความเสี่ยงที่เชื้อจะกลับมาระบาดได้อีก ซึ่งคาดว่ารัฐบาลต่าง ๆ อาจมีการกู้หนี้เพิ่มเพื่อจัดสรรงบฯฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน และจะส่งผลกดดันต่อเสถียรภาพด้านการเงินของแต่ละประเทศในระยะถัดไป ทั้งนี้ คาดว่าราคาทองมีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์” ขณะที่มุมมองนักวิเคราะห์ต่างประเทศ มีมุมมองที่น่าสนใจ โดย “วิเวค ดาร์” นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จากธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ กล่าวว่า ราคาทองสามารถพุ่งขึ้นทะลุระดับ 2,000 ดอลลาร์ในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจี นอกจากนี้ราคาทองยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น เช่นเดียวกับ “โจชัว รอตบาร์ท” กรรมการผู้จัดการของบริษัทเจ รอตบาร์ท แอนด์ โค คาดการณ์ว่า ราคาทองจะพุ่งทะลุ 2,000 ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากปัจจัยความกลัวของนักลงทุนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุเตือนว่า ไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลกที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่ WHO เคยเผชิญมา หลังจากที่ไวรัสดังกล่าวได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 16 ล้านราย "เมื่อพิจารณาจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง, ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย และอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้น ผมก็คิดว่าเราจะเห็นราคาทองพุ่งขึ้นทะลุ 2,000 ดอลลาร์" ณ ตอนนี้ เชื่อว่าราคาทองยังไม่มีทีท่าจะสงบลงง่าย ๆ ! เพราะว่า... “ราคาทอง” จับมือ “โควิด-19” เดินหน้าทำนิวไฮสร้างสถิติกันต่อไป!